ประตูการค้าระหว่างประเทศและผู้ริเริ่มการรับวัฒนธรรมระดับทวีป
จังหวัดฟุกุโอกะคือศูนย์รวมการขนส่งสำคัญที่เชื่อมต่อเกาะคิวชูและเกาะฮนชู และเป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างประเทศมาตั้งแต่สมัยนาระ (ค.ศ. 710 – 794) ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนมากมายระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่และคาบสมุทรเกาหลี อิทธิพลต่างชาติแปลกใหม่นี้ได้แผ่ขยายไปถึงวัฒนธรรมอาหารที่เชื่อมโยงกับอาหารยุคใหม่ในปัจจุบันอย่างลึกซึ้ง เช่น อาหารประเภทข้าวและอุด้ง จึงสามารถเรียกได้ว่าที่แห่งนี้คือประตูแห่งการส่งผ่านวัฒนธรรม คราวนี้มาดูกันว่าจังหวัดฟุกุโอกะนั้นมีวัฒนธรรมอาหารท้องถิ่นแบบใดบ้าง
คลิปนี้ได้รับการถ่ายทำด้วยความร่วมมือจากโอเรียวริ มัตสึยามะ
ร่องรอยการทำนาข้าวที่ค้นพบในโบราณสถานยุคโจมง
จังหวัดฟุกุโอกะอยู่ทางปลายสุดทางตะวันตกเฉียงใต้ของหมู่เกาะญี่ปุ่น ล้อมรอบด้วยสามจังหวัด ทางตะวันออกเฉียงใต้ติดจังหวัดโออิตะกั้นด้วยเขาฮิโคซังที่พาดตัวตามแนวตะวันออกสู่ตะวันตก ทางตะวันตกติดจังหวัดซางะกั้นด้วยเขาเซฟุริซังจิ และทางใต้ติดจังหวัดคุมาโมโตะกั้นด้วยภูเขาจิคุฮิซังจิ อีกฟากฝั่งหนึ่งของทะเลเกนไคที่ทอดยาวทางตอนเหนือคือคาบสมุทรเกาหลี
พื้นที่ของจังหวัดฟุกุโอกะมีทั้งหมด 4,987 ตารางเมตร ประกอบด้วยที่ราบสูง 40% และมีแม่น้ำสายหลักสี่สายไหลผ่านจังหวัด แม่น้ำเหล่านี้คือแม่น้ำจิคุโกะ แม่น้ำอนงะ แม่น้ำยาเบะ และแม่น้ำยามาคุนิ ล้วนมีต้นกำเนิดจากภูเขาในพื้นที่
ฟุกุโอกะยังขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองแห่งอาหาร ย่านเทนจินในเมืองฟุกุโอกะคือจุดเด่นที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบและมีชื่อเสียงว่าเป็นแหล่งชอปปิ้งที่คึกคักที่สุดในญี่ปุ่นฝั่งตะวันตก เป็นย่านที่ล้อมรอบด้วยแม่น้ำนากะและฮากาตะ มีแผงอาหารตั้งเรียงรายบริเวณนาคาสุในยามค่ำคืนที่ดึงดูดผู้คนเป็นจำนวนมาก
มีแนวคิดว่าจังหวัดฟุกุโอกะเป็นถิ่นกำเนิดของการปลูกข้าว ร่องรอยการทำนาข้าวเมื่อสมัยโจมงตอนปลายถูกค้นพบที่อิตาซุเกะ อิเซกิ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ถูกกำหนดให้เป็นเขตวัฒนธรรมแห่งชาติที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้ในเมืองฟุกุโอกะ เหตุใดการทำนาข้าวจึงมีมาอย่างเนิ่นนานในฟุกุโอกะ? คุณโยชิมิ มินาริ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์โภชนาการที่มหาวิทยาลัยนาคามุระ กาคุเอน ได้วิเคราะห์คำตอบไว้ดังนี้ว่า เทคโนโลยีอาจนำเข้ามาจากทวีปเอเชียก็เป็นได้ “ไม่ยากเลยที่จะนึกภาพการทะลักเข้ามาอย่างมากมายของวัฒนธรรม เทคโนโลยี และศิลปะการแสดงจากโพ้นทะเลอย่างจีนแผ่นดินใหญ่กับคาบสมุทรเกาหลี”
อีกแนวคิดหนึ่งกล่าวไว้ว่า อุด้งชามแรกถูกนำเข้ามาที่ญี่ปุ่นในเมืองฟุกุโอกะเมื่อตอนที่โชอิจิ โคคุชิ ผู้ก่อตั้งวัดโจเทนจิในเมืองฟุกุโอกะ กลับมาจากการไปศึกษาที่จีนในปี ค.ศ. 1241 เขาได้เผยแพร่เทคนิคการทำเส้นอุด้งและขนมมันจูที่ได้เรียนมาจากประเทศจีนไปทั่วประเทศญี่ปุ่น “เขาเสี่ยงชีวิตในการเดินทางอย่างแน่นอน มีทฤษฎีมากมายเกี่ยวกับต้นกำเนิดของอาหารชนิดนี้ แต่ความคิดที่ว่าคนฟุกุโอกะเป็นกลุ่มแรกที่ได้ลิ้มรสชาติอาหารที่คนญี่ปุ่นทุกคนหลงรัก มันก็ฟังดูโรแมนติกดีค่ะ”
คุณมินาริเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมอาหารของจังหวัดฟุกุโอกะและพื้นที่อื่น ๆ เธอยืนยันว่าอาหารท้องถิ่นเป็นวิทยาศาสตร์ “จังหวัดฟุกุโอกะมีอาหารท้องถิ่นชื่อ อาบุตเตะคาโมะ ทำจากปลาสายพันธุ์สลิดนำไปย่างเกลือ และเป็นธรรมเนียมว่าต้องวางใบเกาลัดรองตัวปลาไว้บนจาน ซึ่งนี่เป็นภูมิปัญญาเพื่อไม่ให้ภาชนะเปื้อน และยังมีการวิจัยที่ค้นพบว่าใบเกาลัดมีผลด้านฆ่าเชื้อโรคด้วย ไม่ทราบเหมือนกันว่าคนสมัยก่อนทราบเรื่องนี้ไหม แต่ก็มีวิธีการที่มีเหตุผลเช่นนี้หลายเรื่องเลยค่ะ”
จังหวัดฟุกุโอกะประกอบด้วยเขตฟุกุโอกะตอนกลาง เขตคิตะคิวชูที่เป็นเขตอุตสาหกรรม เขตจิคุโฮที่ยังมีบรรยากาศของเมืองที่เป็นจุดแวะพัก และเขตจิคุโกะที่ทอดตัวไปตามที่ราบลุ่มแม่น้ำจิคุโกะ ต่อไปนี้คืออาหารท้องถิ่นในแต่ละเขต
< เขตฟุกุโอกะ >
ความกลมกล่อมของรสชาติแบบญี่ปุ่นและตะวันตกที่สืบทอดมาแต่ครั้งเป็นศูนย์กลางการค้าในสมัยนาระ
เขตฟุกุโอกะประกอบด้วยเมืองฟุกุโอกะ เมืองที่มีประชากรมากที่สุดในคิวชู และยังมีเทศบาลเมืองอื่น ๆ เช่น เทศบาลเมืองคาสุงะ และเทศบาลเมืองดาไซฟุ จุดศูนย์กลางของเขตนี้คือเมืองฟุกุโอกะ ที่ซึ่งรุ่งเรืองมาอย่างยาวนานในฐานะพื้นที่การค้าและการแลกเปลี่ยนเพราะมีข้อได้เปรียบด้านระยะห่างทางภูมิศาสตร์ที่ใกล้กับเขตทวีปและคาบสมุทรเกาหลี โคโรคังคือสถานที่โบราณที่ยังหลงเหลืออยู่ในเมือง สร้างขึ้นเพื่อทำการค้ากับต่างประเทศในสมัยเฮอัน เชื่อกันว่ามีการค้าเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนสมัยนาระ โดยมีทูตจากเมืองถังและซิลลามาใช้ที่นี่เป็นฐานในญี่ปุ่น
เมนูอาหารทะเลเป็นที่ชื่นชอบมาอย่างยาวนานเนื่องด้วยพื้นที่มีความใกล้ชิดกับพื้นที่ทำประมงเช่นอ่าวฮากาตะและทะเลเกนไค ตัวอย่างเช่น เมนูโกมะซาบะของฮากาตะ ทำจากปลาซาบะดิบราดด้วยซอสงาเพื่อชูรส แม้ว่าปลาซาบะนั้นจะคงความสดได้ไม่นาน แต่ฟุกุโอกะก็สามารถเสิร์ฟปลาชนิดนี้แบบดิบได้ เอโกะโนริ (สาหร่ายทะเลสีแดง) ที่เก็บเกี่ยวได้บริเวณชายฝั่งจะถูกนำไปเคี่ยวจนละลายในน้ำเพื่อใช้ในโอคิวโตะ (บะหมี่สาหร่าย) มีเนื้อสัมผัสคล้ายโทโคโรเทน (อาหารประเภทเส้นของญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมชนิดหนึ่ง) และทิ้งกลิ่นอายของทะเลไว้ในปาก สมัยก่อนจะมีคนหาบขายตามบ้าน แม้ในปัจจุบันนี้ หลายคนก็ยังชอบทานเป็นอาหารเช้าอยู่
มิซุตากิไก่ คืออาหารประเภทต้มที่มีต้นกำเนิดจากซุปไก่แบบจีนกับซุปใสกงซอเมแบบตะวันตก น้ำซุปสีขาวนวลสะดุดตานี้ทำจากหัวและกระดูกไก่ โดยการตุ๋นไก่พร้อมกระดูก กะหล่ำปลี และผักตามฤดูกาล ผู้คิดค้นสูตรมิซุตากิคือเฮซาบุโร ฮายาชิดะ ชาวจังหวัดนางาซากิ เขาเปิดร้านอาหารที่เน้นขายมิซุตากิในเมืองตั้งแต่ปี ค.ศ. 1905 โดยใช้ประโยชน์จากเทคนิคการทำอาหารตะวันตกที่เขาเรียนมาจากฮ่องกง ทุกวันนี้ เมนูมิซุตากิมีขายในร้านอาหารทั้งในและนอกเขตเมือง และเป็นอาหารในครัวเรือนด้วยเช่นกัน
< เขตคิตะคิวชู >
เมนูที่สร้างสรรค์อย่างลงตัวระหว่างปลาซาบะและซอสรำข้าวหมักเกลือ อาหารจานโปรดของผู้ครองปราสาทโคคุระ
เขตคิตะคิวชูคือที่ตั้งของแหล่งเทคโนโลยีการผลิตมากมาย เช่น เหล็ก ยานยนต์ สารกึ่งตัวนำ และวิทยาการหุ่นยนต์ เมืองคิตะคิวชูคือแรงขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของพื้นที่ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยรุ่งเรืองในฐานะผู้นำการผลิตถ่านหินในญี่ปุ่นด้วย ท่าเรือโมจิโกคือสัญลักษณ์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของเมืองนี้ ใช้เป็นท่าเรือการค้าระหว่างประเทศที่เปิดเพื่อการส่งออกถ่านหินโดยเฉพาะ
ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ร้านอาหารญี่ปุ่นชื่อโอเรียวริ มัตสึยามะ ที่ตั้งอยู่ในเมืองได้เริ่มเพิ่มอาหารท้องถิ่นของฟุกุโอกะลงไปในเมนูอาหารเรียกน้ำย่อย และนี่คือเหตุผลของเจ้าของร้าน คุณโชโซ มัตสึยามะ
“อาหารท้องถิ่นย่อมมีเสน่ห์ของมัน เรามีแขกที่มาจากนอกจังหวัดมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงคิดว่าเราอยากมอบความทรงจำที่น่าประทับใจให้ด้วยการนำเสนอรสชาติของฟุกุโอกะ” คุณมัตสึยามะผูกพันกับนุคามิโซะดากิเป็นพิเศษ มันเป็นอาหารท้องถิ่นของเมืองคิตะคิวชู บ้านเกิดของเขา ทำโดยการนำปลาอิวาจิและปลาซาบะที่มีมันเยอะที่จับจากทะเลเกนไคมาต้มแล้วราดด้วยซอสรำข้าวหมักเกลือ นี่ยังเป็นอาหารจานโปรดของทาดาโอกิ โฮโซคาวะ ผู้ครองปราสาทโคคุระด้วย “เมนูนุคะมิโซะดากิแบบดั้งเดิมจะมีรสเค็มมาก แต่ผมอยากให้ได้รสชาติของซาบะแบบธรรมชาติที่สุด จึงทำให้รสเบาบางลง” กลิ่นเข้มข้นจากการหมักเข้ากันได้ดีกับไขมันชั้นเลิศของปลาซาบะ อร่อยจนผู้ครองปราสาทโคคุระยังต้องประทับใจ
ในเมืองคามิเกะย่านบุเซน นิกุอิคือสิ่งที่จำเป็นสำหรับงานฉลอง นิกุอิคืออาหารท้องถิ่นทำจากไก่ บุกหั่นเต๋า เห็ดชีตาเกะ แครอท และโกโบต้มในน้ำซุป ในบางพื้นที่จะใส่คุซุ (แป้งชนิดหนึ่งทำจากรากพืชตระกูลถั่ว) เพื่อเพิ่มความข้นให้กับซุป หัวใจของการปรุงอาหารจานนี้คือความเป็นน้ำซุปของมัน ซึ่งมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ดาบุ ราบุ (เป็นเสียงซดน้ำในภาษาญี่ปุ่น)” เนื่องด้วยลักษณะอาหารที่ต้องมีการซดนั่นเอง
< เขตจิคุโฮ >
เครื่องเทศแบบดั้งเดิมที่ได้จากการถนอมอาหารของพระธุดงค์ภูเขา
ในสมัยเอโดะ (ค.ศ. 1603 – 1867) ถนนสายนางาซากิ ไคโด ความยาว 228 กิโลเมตร ที่เชื่อมต่อนางาซากิและโคคุระ (เมืองคิตะคิวชู) กลายเป็น “ถนนสายน้ำตาล” ที่ใช้ขนส่งน้ำตาลและเผยแพร่วัฒนธรรมของหวานไปทั่วพื้นที่
โรงเตี๊ยมอุจิโนะสร้างขึ้นในเมืองอีซุกะในเขตจิคุโฮ เป็นโรงเตี๊ยมที่คึกคักกว่าแห่งอื่นในจิคุโฮ เนื่องจากอิโนะ ทาดาตากะ (นักสำรวจและทำแผนที่) โยชิดะ โชอิน (นักคิดคนสำคัญ) และคนอื่น ๆ มากมายต่างมาพักร่างกายที่อ่อนล้ากันที่นี่
ภูเขาฮิโกะที่คร่อมระหว่างเมืองโซเอดะในเขตจิคุโฮและเมืองนาคัตสึในจังหวัดโออิตะคือที่พำนักของพระธุดงค์ภูเขา 3,000 รูปจนกระทั่งช่วงปลายสมัยเอโดะ ยุซุโกโช อาหารที่มีเฉพาะในเมืองโซเอดะ มีต้นกำเนิดมาจากวัฒนธรรมการถนอมอาหารที่คิดโดยพระธุดงค์ภูเขา มันคือเครื่องเทศที่ทำจากพริกเขียวและเมล็ดส้มยุซุ เป็นรสชาติที่เข้ากันได้ดีกับหลายเมนูและโดดเด่นเรื่องกลิ่นเปรี้ยวชื่นใจที่ทำให้จมูกโล่ง นิยมใช้เป็นเครื่องปรุงรสในเมนูปลาดิบ เมนูไก่ เมนูต้ม ของดอง และอีกหลากหลายเมนู ทำให้มันเป็นเครื่องปรุงรสที่ขาดไม่ได้เลยบนโต๊ะอาหารของชาวจังหวัดฟุกุโอกะ
เซนบุกิมาเกะยังเป็นอาหารจานหลักของเทศกาลตุ๊กตาในเขตนี้ เซนบุกิหมายถึงวาเคกิที่เป็นพืชตระกูลหอมชนิดหนึ่งของญี่ปุ่น ในบางครั้งจะใส่ โมดามะ (หางปลาฉลามต้มหั่นเป็นแว่น) และโอบะอิเคะ (ไขมันสีขาวใต้หนังปลาวาฬ) ที่ลวกในน้ำร้อนลงไปด้วย สีเขียวสดและสีขาวนวลของเมนูเซนบุกิทำให้เป็นอาหารที่เหมาะกับฤดูใบไม้ผลิ
< เขตจิคุโกะ >
วัฒนธรรมอาหารจานแป้งจากมันฝรั่งและข้าวสาลีที่อร่อยได้ทุกวัย
เขตจิคุโกะอยู่ทางตอนใต้ของจังหวัด ประกอบด้วยเทศบาลเมือง 12 แห่ง เป็นพื้นที่ที่รุ่มรวยด้วยความสวยงามตามธรรมชาติและอุดมด้วยทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวมากมาย ได้แก่ แม่น้ำจิคุโกะและแม่น้ำยาเบะที่ไหลลงสู่ทะเลอาริอาเกะ นาข้าวขั้นบันไดทสึซุระในเมืองอุคิฮะซึ่งถูกเลือกให้เป็นหนึ่งในนาข้าวขั้นบันได 100 แห่งที่ดีที่สุดในญี่ปุ่น และกิจกรรมล่องแม่น้ำยานางาวะในเมืองยานางาวะ
มันฝรั่งและข้าวสาลีสามารถเก็บเกี่ยวได้อย่างมากมายในเมืองยาเมะและพื้นที่ส่วนอื่น ๆ ของเขตจิคุโกะ ผู้คนจะทานอิโมะ มันจู (ซาลาเปามันฝรั่ง) แทนการทานข้าวสวยเวลาทำงานในไร่ ทำโดยห่อมันฝรั่งนุ่ม ๆ ในแป้งที่นวดแล้ว นำไปนึ่ง จากนั้นก็พร้อมทานได้เลย ใช้ได้ทั้งมันเทศและมันฝรั่งขึ้นอยู่กับว่าเป็นช่วงไหนของปี บางครอบครัวนิยมนำไปต้มแทนที่จะนำไปนึ่ง ฟุนายากิเป็นอาหารประเภทแพนเค้กแผ่นบางทำจากแป้งแล้วทาด้วยน้ำตาลทรายแดง มีลักษณะคล้ายขนมเครปในปัจจุบัน เมื่ออบเสร็จใหม่ ๆ น้ำตาลทรายแดงจะให้รสชาติที่ชุ่มละลายในปากเย้ายวนใจยิ่งนัก ว่ากันว่าฟุนายากิคืออาหารแก้ขัดของชาวประมงบนเรือและลูกเรือที่อาศัยอยู่ในที่ลุ่มแม่น้ำจิคุโกะ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อที่เป็นคำพ้องความหมายกับคำว่า “ปรุงสุกบนเรือ” การได้ทานฟุนายากิบนเรือลำเล็กที่ล่องลอยไปบนแม่น้ำกว้างคงเป็นประสบการณ์ที่พิเศษไม่น้อย
จะทำอย่างไรเพื่อรักษาอาหารท้องถิ่นให้คงอยู่ต่อไปในอนาคต? คุณมินาริกำลังมองหาวิธีใหม่เพื่อโปรโมตและสร้างความตระหนัก “เราพุ่งเป้าไปที่ปัญหาสุขภาพและปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังเป็นประเด็นทางสังคมในตอนนี้ เมื่อลองศึกษาการแพทย์แผนจีนแล้ว สามารถพูดได้ว่าความลับของการมีสุขภาพดีและอายุยืนยาวคือการรับประทานอาหารที่เหมาะกับลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศของท้องถิ่น เมื่อมองลึกเข้าไปจากจุดนี้ก็จะนำไปสู่เรื่องการบำบัดด้วยอาหารแบบจีน และอาหารญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมนั้นคืออาหารสุขภาพที่เป็นแบบอย่างเพื่อชาวญี่ปุ่นอย่างแท้จริง เป็นแนวคิดอาหารแทนยาแบบจีนแต่เป็นสไตล์ญี่ปุ่น นอกจากนั้นแล้ว การผลิตเพื่อการบริโภคในท้องถิ่นยังหมายถึงว่า เราสามารถลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการขนส่ง เป็นการส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย” เธอยังกล่าวอีกว่า “อาหารท้องถิ่นยังคงมีความเป็นไปได้อีกมากมายเลยค่ะ”
อาหารท้องถิ่นของจังหวัดฟุกุโอกะคือการริเริ่มการรับวัฒนธรรมที่แตกต่างจากต่างประเทศ และตอนนี้ ด้วยจิตวิญญาณสมัยใหม่ของผู้สืบทอดอาหารท้องถิ่นของฟุกุโอกะ จะนำพาเราไปสู่เส้นทางสายใหม่ที่ไม่เคยมีใครไปมาก่อน