จังหวัดมิยางิ

วลี 'ดาเตะนะ' หรือ 'สะดุดตา' มีรากศัพท์มาจากการสร้างชาติของมาซามุเนะ ดาเตะ และเป็นคำบรรยายที่เหมาะเจาะกับอาหารของจังหวัดมิยากิ

จังหวัดมิยากิตั้งอยู่ในตอนกลางของภูมิภาคโทโฮคุ มีพื้นที่ 7,282 ตารางกิโลเมตร (2,812 ตารางไมล์) ทางทิศตะวันตกเป็นเทือกเขาโออุที่กินพื้นที่ตลอดความยาวของจังหวัดและลดหลั่นลงเป็นที่ดินเพาะปลูกขนาดใหญ่และมีพื้นที่ราบเซ็นไดอยู่ทางทิศตะวันออก ภูมิภาคนี้มีทั้งท้องทะเลและภูเขา และยังมีพื้นที่ชายฝั่งติดกับมหาสมุทรแปซิฟิกจึงเป็นแหล่งประมงที่ยอดเยี่ยมในญี่ปุ่น ประชากรมากกว่าหนึ่งล้านคนเรียกเมืองหลวงเซ็นไดว่าบ้าน และเป็นนครจัดตั้งเพียงแห่งเดียวในภูมิภาคโทโฮคุ

ที่ราบมีลมทะเลจากแปซิฟิกพัดผ่านทำให้หน้าร้อนไม่ร้อนจนเกินไป หน้าหนาวมีกระแสน้ำที่ช่วยให้พื้นที่มีหิมะตกไม่มากนัก ทำให้สภาพภูมิอากาศของที่นี่อบอุ่นตลอดทั้งปี ในทางกลับกัน บริเวณเชิงเขาของเทือกเขาโออุในทิศตะวันตกต้องเผชิญกับลมประจำฤดูจากเทือกเขาและปริมาณหิมะที่ค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับทั้งจังหวัด

วิดีโอบางส่วนจาก:
เว็บไซต์ข้อมูลวัฒนธรรมอาหารญี่ปุ่น SHUN GATE
สถานที่ที่ปรากฏในภาพ: คฤหาสน์ฮนมารุปราสาทอาโอบะ

ไดเมียวหัวป่าก์ อู่ข้าวอู่น้ำของมาซามุเนะ ดาเตะ

เวลาพูดถึงจังหวัดมิยางิ จะขาดเรื่องของมาซามุเนะ ดาเตะ มูลนายคนแรกไปไม่ได้เลย กระทั่งทุกวันนี้ ดาเตะยังคงเป็นที่เคารพของผู้คนในจังหวัดในฐานะผู้ก่อตั้งปราสาทเซ็นไดและชุมชนรอบปราสาท และบุคคลที่ทะนุบำรุงเซ็นไดจนเจริญรุ่งเรืองเป็นหัวใจที่หล่อเลี้ยงโทโฮคุ กล่าวกันว่ามาซามุเนะ ดาเตะค่อนข้างจะเป็นพ่อครัวหัวป่าก์ และอิทธิพลของท่านยังคงปรากฏให้เห็นในทุกวันนี้ในวัฒนธรรมการประกอบอาหารของจังหวัดมิยากิ

ปัจจุบัน พื้นที่ 82.4% ของจังหวัดมิยากิเป็นนาข้าว คิดเป็นเพียง 54.4% ของทั้งประเทศ ทำให้ที่นี่ได้รับเกียรติเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ซึ่งฉายานี้ถูกตั้งเป็นครั้งแรกในช่วงต้นสมัยเอโดะเนื่องจากนวัตกรรมในนาข้าวและการพัฒนาระบบชลประทานที่ได้รับการสนับสนุนจากไดเมียวมาซามุเนะ ไดเมียวมาซามุเนะเชื่อว่าการเพาะปลูกข้าวควรได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งความมั่งคั่งของตระกูล ดังนั้นสภาพแวดล้อมอย่างดินพรวนโอซากิที่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำและพื้นที่อื่นที่เป็นลุ่มน้ำจึงถูกแปรสภาพให้เป็นทุ่งนา จากนั้นข้าวฮนโคกูที่เพาะปลูกก็ถูกส่งออกจากอิชิโนมากิและกระจายไปตามเมืองต่าง ๆ ทั่วญี่ปุ่นอย่างเมืองเอโดะและโอซาก้า ในตอนนั้น หนึ่งในสามของปริมาณข้าวที่บริโภคในเอโดะผลิตจากอาณาจักรเซ็นได

ไม่เพียงเท่านั้น มิโสะเซ็นไดก็เป็นอาหารไม่เน่าเสียที่มีค่าของอาณาจักรเซ็นได และมีการสร้างโกเอนโซกุระขึ้นมาเพื่อผลิตมิโสะในปริมาณมาก มิโสะเซ็นไดมีสัดส่วนเกลือในปริมาณมากและไม่เน่าเสียง่ายในยามสงครามที่กินเวลานาน จึงกล่าวกันว่ามิโสะของเซ็นไดก็ได้รับคำกล่าวขวัญจากโชกุนของอาณาจักรอื่นเช่นกัน นอกจากนี้ ซุนดะโมจิ (โมจิถั่วกวน) และฮาราโกะเมชิ (ข้าวหน้าไข่ปลาแซลมอน) ที่เป็นสัญลักษณ์ของอาหารพื้นเมืองมิยากิก็มีความเชื่อมโยงกับท่านมาซามุเนะเช่นกัน

คราวนี้เราจะแบ่งจังหวัดออกเป็น 4 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ตอนเหนือและพื้นที่ตอนใต้ และพื้นที่ซันริคุและเซ็นได/มัทสึชิมะเพื่อแนะนำให้คุณรู้จักกับอาหารพื้นเมือง

< พื้นที่ตอนเหนือ >
อาหารที่เกิดจากทักษะการใช้ข้าวสาลีและความรักในขนมโมจิ

พื้นที่ฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดเป็นที่ตั้งของน้ำพุร้อนนารุโกะที่ติดอันดับยอดเยี่ยมในญี่ปุ่น รวมถึงความงามทางธรรมชาติมากมายอย่างภูเขาคุริโคมะที่มีป่าดงดิบขึ้นหนาแน่น สีฤดูใบไม้ร่วงที่มองจากยอดช่องแคบนารุโกะเป็นวิวที่สวยจับใจ นักท่องเที่ยวจากทั่วประเทศจะพากันมาชมวิวที่บริเวณนี้ทุกปีในช่วงเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนพฤศจิกายน

ดินพรวนโอซากิบริเวณลุ่มน้ำนารุเซและเมืองโทเมที่มีแม่น้ำคิตาคามิแม่น้ำที่ใหญ่ที่สุดในโทโฮคุไหลผ่านเป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการปลูกข้าวเพราะดินดีและเป็นแหล่งต้นน้ำ แต่เนื่องด้วยภาษีข้าวที่เรียกเก็บทุกปีในอดีต ประชาชนในภูมิภาคนี้จึงคิดค้นวัฒนธรรมการทำอาหารที่ใช้ข้าวสาลีเป็นวัตถุดิบหลัก ผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของเมืองโทเมคืออาบุระฟุหรือรำข้าวสาลี บ้างก็เรียกเซ็นไดฟุ บางครั้งรับประทานกันในเทศกาลโอบงเป็นอาหารของชาวพุทธ อาบุระฟุดงใช้อาบุระฟุแทนเนื้อสัตว์เสิร์ฟบนข้าวและราดด้วยไข่ เป็นอาหารขึ้นชื่อในตอนเหนือของจังหวัด

การกินขนมโมจิถือเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรม ในอดีตชาวนาจะกินขนมโมจิเมื่อให้มีแรงเมื่อถึงเวลาทำนา ในปัจจุบันขนมโมจิถือเป็นอาหารที่ขาดไม่ได้ในงานเฉลิมฉลอง เช่น งานแต่งและงานปีใหม่ คุรุมิโมจิ (โมจิวอลนัท) และจูเน็นโมจิ (โมจิบักวีต) โอโรชิโมจิ (โมจิราดหัวไชเท้าญี่ปุ่นบด) ขนมโมจินั้นมีอยู่หลายชนิดเนื่องจากวัตถุดิบที่ใช้นั้นแตกต่างกันไปตามฤดูกาล คุณสามารถสัมผัสได้ถึงความฉลาดของผู้คนที่ชื่นชอบการกินขนมโมจิ

< พื้นที่ซันริคุ >
จังหวัดการประมง ขุมทรัพย์จากท้องทะเลของมิยากิ

รูปภาพจาก: เว็บไซต์ข้อมูลวัฒนธรรมอาหารญี่ปุ่น SHUN GATE

พื้นที่ซันริคุที่เป็นมหาสมุทรติดกับท่าเรือใหญ่ ๆ อย่างเคเซนนุมะ อิชิโนมากิ และโอนากาวะ คือแหล่งประมงที่สมบูรณ์และมีปลาชุกชุมทุกฤดูกาล

ในมหาสมุทรรอบเกาะคินคาซันที่กระแสน้ำโอยาชิโอะและคุโรชิโระไหลมาบรรจบกัน คุณจะพบกับฝูงปลาอพยพอย่างปลาทูน่าและปลาซันมะ ส่วนในพื้นที่การประมงชายฝั่งคุณจะพบกับปลาซาร์ดีน แมคเคอเรล หมึก และอีกมากมาย และถึงแม้จะมีคู่แข่งที่เก่งกาจ เคเซนนุมะก็สามารถขึ้นเป็นที่หนึ่งของประเทศได้ในด้านการจับปลากระโทงและการผลิตหูฉลาม (ณ ปี 2019)

อ่าวสลับซับซ้อนที่เกิดจากชายฝั่งเว้าแหว่งเอื้อให้การเพาะเลี้ยงพืชและสัตว์ในน้ำเจริญเติบโตเป็นอย่างดี ที่นี่มีการเพาะเลี้ยงหอยนางรม เพรียงหัวหอม สาหร่ายเคลป์ และอีกมากมาย ฤดูกาลของเพรียงหัวหอมหรือที่เรียกว่า 'สับปะรดทะเล' จะอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม และเพรียงหัวหอมดองคืออาหารหน้าร้อนจานโปรดของคนในพื้นที่ซันริคุ

หากถามว่าปลาชนิดไหนเป็นของโปรดของซันริคุในช่วงฤดูหนาว คำตอบคือปลาไขมันสูงชนิดหนึ่งที่ชื่อว่าปลาเมนุเกะ ซุปเมนุเกะเป็นอาหารหลักประจำบ้านในช่วงฤดูหนาวของพื้นที่แห่งนี้ ไม่เพียงแค่นั้น คนเมืองเคเซนนุมะในฤดูใบไม้ผลินิยมกินเมนูที่เรียกว่าอาซาระ ที่นำปลาเมนุเกะที่กินเหลือมาต้มกับผักกาดดองในซุปสาเกคาสึ (กากเหล้าสาเก) ชื่อเมนูนี้มาจากสูตรที่ 'อาซาระ' คำนี้ในภาษาถิ่นแปลว่าทำแบบลวก ๆ นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งทฤษฎีที่กล่าวว่าชื่อนี้มีที่มาจากพระท่านหนึ่งที่ชื่ออาจาริที่อาศัยอยู่ในพื้นที่และเป็นคนแรกที่คิดค้นเมนูนี้

< พื้นที่เซ็นได/มัทสึชิมะ >
ซุนดะโมจิ ขนมสีเขียวไนติงเกลที่ไดเมียวมาซามุเนะ ดาเตะโปรดปราน

พื้นที่นี้อยู่ในเขตเมืองเซ็นไดที่เป็นศูนย์กลางทางการเมืองและเศรษฐกิจของโทโฮคุ ซุยโฮเด็นที่เป็นสุสานของมาซามุเนะ ดาเตะถูกประดับประดาไปด้วยของตกแต่งระยิบระยับเพื่อแสดงถึงความหรูหรา ('ดาเตะนะ') ของวัฒนธรรมความงาม รูปปั้นของมาซามุเนะที่ตั้งอยู่ท่ามกลางซากปราสาทเซ็นไดในอาโอบายามะยังคงเฝ้ามองเมืองปราสาทมาจนถึงทุกวันนี้ ในทางตรงกันข้าม พื้นที่ชายฝั่งของที่นี่ครั้งหนึ่งเคยมีนักกวีบาโช มัทสึโอะมาเยี่ยมเยียน และเป็นที่ตั้งของอ่าวมัทสึชิมะที่มีเกาะน้อยใหญ่มากกว่า 260 เกาะ คุณสามารถมาลองลิ้มรสหอยนางรมขึ้นชื่อของมัทสึชิมะเมื่อถึงฤดูกาลในช่วงเดือนตุลาคมถึงมีนาคม

อาหารจานโปรดของมาซามุเนะ ดาเตะว่ากันว่าคือซุนดะโมจิ หรือขนมโมจิที่ราดด้วยถั่วหวาน ขนมนี้ไม่ได้เป็นที่รักในเพียงมิยากิเท่านั้น แต่ยังเป็นที่นิยมในพื้นที่อื่นอย่างอาณาจักรเซ็นได รวมถึงฟุกุชิมะ อิวาเตะ และยามากาตะอีกด้วย ทั้งยังมีคำกล่าวกันว่ามาซามุเนะเป็นผู้เผยแพร่อาหารจานโปรดของเขานี้เองด้วย ซุนดะโมจิเป็นส่วนหนึ่งของอาหารพื้นเมืองที่นิยมกินในเทศกาลโอบงในฤดูร้อนที่เป็นฤดูเก็บเกี่ยวถั่วเหลือง ในอดีต อาหารจานนี้ทำโดยใช้ครกตำถั่วเหลืองและมักจะให้เด็ก ๆ มาช่วยกันทำ ระดับความหยาบของถั่ว รวมถึงความข้นและความหวานของถั่วบดนี้กล่าวกันว่าจะแตกต่างกันไปในแต่ละครัวเรือน จากคำบอกเล่าของคุณเคน โออิกาวะ หัวหน้าเชฟคฤหาสน์ฮนมารุปราสาทอาโอบะ

เพื่ออนุรักษ์อาหารบ้านเกิดนี้ให้กับคนรุ่นถัดไป นักเรียนระดับประถมศึกษาจะได้เรียนการทำซุนดะโมจิในภาคปฏิบัติของวิชาคหกรรม นอกจากนี้ ชื่อซุนดะโมจิยังมีต้นกำหนดที่เป็นเอกลักษณ์อีกด้วย บางแห่งบอกว่าเป็นคำแผลงของคำว่า '豆打' หรือ 'ซุดะ' ที่หมายถึงการบดถั่ว บ้างก็กล่าวว่าชื่อนี้เป็นคำแผลงมาจาก 'จินดาชิ' ชื่อดาบของมาซามุเนะที่เชื่อว่าถูกนำมาใช้บดถั่วในบางครั้ง

< พื้นที่ตอนใต้ >
ฮาราโกะเมชิ ที่ถือกำเนิดบนตลิ่งแม่น้ำอาบุคุมะ

พื้นที่ตอนใต้ของที่นี่เป็นศูนย์กลางการขนส่งที่มีลำคลองและถนนที่สร้างขึ้นนานมาแล้วตัดผ่านมากมาย และในปัจจุบันก็ยังเป็นเช่นนั้น ทางน้ำคลองเทซังที่เป็นระบบคลองที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นและเชื่อมต่อห้าเมืองและหนึ่งนครไว้ด้วยกัน รวมถึงเส้นทางรถไฟอย่างเช่นโทโฮคุชิงคันเซ็นและรถด่วนอาบุคุมะที่ตั้งอยู่ในพื้นที่นี้ และเมืองนาโตริที่เป็นที่ตั้งของสนามบินเซ็นได ประตูสู่โทโฮคุทางอากาศ ทิศตะวันตกเป็นเชิงเขาของเทือกเขาซาโอะ เทือกเขาซาโอะคือแหล่งท่องเที่ยวชั้นเลิศของนักท่องเที่ยว ที่นี่มีทั้งสกีรีสอร์ท น้ำพุร้อน และอื่น ๆ อีกมากมาย

อาหารพื้นเมืองของที่นี่คือโอคุซุกาเกะ อาหารชาวพุทธที่กินในเทศกาลโอบง วิธีทำอาหารจานนี้คือ นำแครอท รากโกโบ และผักต่าง ๆ มาสับให้ละเอียดแล้วใส่ลงในบะหมี่ร้อนหรืออูเม็งที่เป็นของดีประจำเมืองชิโรอิชิ จากนั้นราดด้วยซอสแป้งมันฝรั่งละลายน้ำ ชื่อนี้มีที่มาจากคัดสึที่เมื่อก่อนใช้ทำซอสแทนแป้งมันฝรั่ง วัตถุดิบที่ใช้ในเมนูนี้จะแตกต่างกันไปตามแต่ละครัวเรือน เมนูนี้ยังนิยมกินกันตามบ้านจนถึงปัจจุบัน

เมนูฮาราโกะเมชิมีต้นกำเนิดมาจากเมืองวาตาริที่ตั้งอยู่ใกล้ปากแม่น้ำอาบุคุมะ ทำจากปลาแซลมอนฤดูใบไม้ร่วงที่อพยพขึ้นมาจากมหาสมุทรแปซิฟิก กล่าวกันว่าไดเมียวมาซามุเนะ ดาเตะได้เดินทางมาที่เมืองวาตาริในระหว่างการก่อสร้างคลอง และเขาก็ประทับใจกับสิ่งที่ชาวประมงทำและหันมาชื่นชอบอาหารจานนี้ เมนูนี้ทำจากข้าวที่หุงด้วยน้ำซุปที่ใช้ต้มแซลมอนกับซีอิ๊วขาว แล้วราดหน้าด้วยเนื้อแซลมอนและอิคุระหรือไข่ปลาแซลมอน เมนูนี้มีชื่อเรียกว่าฮาราโกะเมชิหรือข้าวฮาราโกะ เป็นอาหารพื้นเมืองที่มีชื่อเสียงที่สุดในจังหวัดและเป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยว

นอกจากฮาราโกะเมชิแล้ว ยามาโมโตะหรือเมืองที่อยู่ถัดจากวาตาริก็มีรสชาติท้องถิ่นเป็นของตนเองสำหรับฤดูหนาวเช่นกัน นั่นคือ ฮกกิเมชิหรือข้าวฮกกิ ที่ทำจากข้าวหุงกับหอยปีกนก คุณมากิโกะ ทากาซาวะ อาจารย์วิทยาลัยหญิงเซ็นไดชิรายูริและชาวเมืองมิยากิ ขณะนี้เธอกำลังทำงานวิจัยเกี่ยวกับอาหารพื้นบ้าน กล่าวว่า "ตอนที่แม่ของฉันยังเด็ก ฮกกิเมชิถือเป็นอาหารมื้อใหญ่ในบ้านเลย" เธอเสริมว่า "เมื่อใดก็ตามที่มีใครได้หอยปีกนกที่ชาวประมงนำมาจำหน่ายไป คนนั้นจะต้องพูดด้วยเสียงที่ตื่นเต้นว่ามื้อเย็นของวันนั้นต้องเป็นฮกกิเมชิ คนในตอนนั้นตื่นเต้นกับอาหารจานนี้จริง ๆ"

อาหารพื้นเมืองของจังหวัดมิยากิไม่เพียงแต่ได้รับอิทธิพลจากสภาพภูมิอากาศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงไดเมียวมาซามุเนะ ดาเตะผู้ก่อตั้งพื้นที่แห่งนี้อีกด้วย เราหวังว่าคุณจะใช้เวลาศึกษาประวัติของมาซามุเนะและตำนานมากมายที่รายล้อมบุคคลท่านนี้ในขณะที่ลิ้มลองความอร่อยของจังหวัดมิยากิไปด้วย

จังหวัดมิยางิ อาหารพื้นเมืองหลัก