จังหวัดชิบะ

อากาศอบอุ่น ดินดี ทะเลสมบูรณ์ ขุมทรัพย์ทางอาหารที่เรียกว่าชิบะ

จังหวัดชิบะตั้งอยู่ในเขตตะวันออกของใจกลางเกาะฮนชู มีลักษณะเป็นคาบสมุทรที่ยื่นออกไปในน่านน้ำของมหาสมุทรแปซิฟิก ทิศตะวันออกและทิศใต้ติดกับมหาสมุทร ทิศตะวันตกติดกับอ่าวโตเกียว จึงเรียกได้ว่าแทบจะมีน้ำอยู่ล้อมรอบ ส่วนฐานของคาบสมุทรมีแม่น้ำเอโดงาวะและแม่น้ำโทเนงาวะไหลผ่าน แม่น้ำระดับเอทั้งสองสายนี้เป็นเส้นกั้นเขตแดนของจังหวัดชิบะกับโตเกียว ไซตามะ และอิบารากิ

ฟุตเทจวิดีโอส่วนหนึ่งจัดทำโดย: SHUN GATE เว็บไซต์ข้อมูลวัฒนธรรมอาหารญี่ปุ่น
ผู้ร่วมรายงาน: Hou no

อากาศเขตอบอุ่นของโบโซ

ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของชิบะสามารถแบ่งได้เป็นเนินเขา ที่ราบสูง และที่ราบ ที่จริงแล้วชิบะเป็นจังหวัดเดียวในประเทศญี่ปุ่นที่ไม่มีพื้นดินระดับความสูงเกินกว่า 500 ม. เลย แม้ตอนใต้ของจังหวัดจะมีลักษณะเป็นเนินเขา แต่จุดสูงสุดอย่างภูเขาอาตาโงะนั้นสูงเพียง 408.2 ม. เท่านั้น นอกจากนี้ พื้นที่ทางตอนเหนือทั้งหมดยังประกอบด้วยที่ราบสูงชิโมสะที่เกิดจากการสะสมของชั้นดินร่วนคันโต ในขณะที่ลุ่มน้ำโทเนงาวะและชายฝั่งคูจูคุริเป็นที่ราบทั้งหมด ด้วยระดับความสูงของพื้นดินที่ต่างกันเพียงเล็กน้อย ทะเลที่ล้อมรอบ และกระแสน้ำคุโรชิโอะทางชายฝั่งตะวันออก จึงทำให้จังหวัดชิบะมีสภาพภูมิอากาศอบอุ่นตลอดทั้งปี เขตมินามิโบโซนั้นแทบจะไม่เกิดน้ำค้างแข็งเลยแม้ว่าจะอยู่ในฤดูหนาวก็ตาม

จังหวัดชิบะยังมีอีกชื่อหนึ่งว่า "โบโซ" ซึ่งมีจุดกำเนิดย้อนกลับไปไกลถึงสมัยโคฟุง ในตอนนั้นทั้งจังหวัดมีชื่อเรียกว่า "ฟุซาโนคูนิ" อักษรคันจิ “総” หมายถึง "กัญชา" ในภาษาโบราณ ชื่อนี้มีที่มาจากผู้คนที่อพยพมาจากอาวะในชิโกกุและแล่นเรือข้ามกระแสน้ำคุโรชิโอะมายังแคว้นโบโซแล้วเริ่มเพาะปลูกกัญชาในพื้นที่

ภายหลังการปฏิวัติไทกะ ฟุซาโนคูนิถูกแบ่งออกเป็นคาซุสะโนคูนิ ในทิศใต้และชิโมสะโนคูนิ ในทิศเหนือ จากนั้นอาวะโนคูนิ ก็แยกเป็นอิสระจากคาซุสะโนคูนิ และเกิดเป็นสามจังหวัดโบโซ เค้าเดิมของทั้งสามจังหวัดนี้ยังคงหลงเหลืออยู่มาถึงทุกวันนี้ผ่านตัวอักษร "房" จาก "อาวะ" และ “総” จาก “คาซุสะ” และ “ชิโมสะ” ที่รวมกันเป็น “โบโซ” ชื่อปัจจุบันของภูมิภาค

ฐานการผลิตอาหารที่หล่อเลี้ยงรัฐบาลโชกุนสมัยเอโดะ

เครดิตรูปภาพ: SHUN GATE เว็บไซต์ข้อมูลวัฒนธรรมอาหารญี่ปุ่น

การประมงมีมาตั้งแต่สมัยโบราณเมื่อท้องทะเลมีความอุดมสมบูรณ์ หลายพื้นที่มีการขุดพบกระดูกปลาจานแดง ปลาทูน่าครีบน้ำเงิน และหมึกจากเนินดินที่เกิดจากการทับถมของเปลือกหอยในยุคโจมง ในบางแห่งยังมีร่องรอยของการล่าสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมอย่างวาฬและแมวน้ำอีกด้วย

การประมงกลายเป็นอุตสาหกรรมเต็มรูปแบบครั้งแรกในสมัยเอโดะ หลังจากที่โทคุงาวะ อิเอยาสุ กำหนดให้เอโดะเป็นศูนย์กลางอำนาจของญี่ปุ่น ความต้องการบริโภคปลาก็พุ่งสูงขึ้น ในฐานะผู้ที่รับผิดชอบเรื่องการจัดหาเสบียง อิเอยาสุได้นำชาวประมงจากคันไซที่มีทักษะการประมงขั้นสูงมายังเอโดะ และชาวประมงเหล่านั้นก็แผ่ขยายมายังโบโซที่เป็นแหล่งประมงชั้นเยี่ยม จนเกิดเป็นอุตสาหกรรมการประมงปลาซาร์ดีนขนาดใหญ่ในโชชิและคูจูคุริ

"ในตอนนั้นพื้นที่บริเวณเมืองฟุนาบาชิมีชื่อเรียกว่า 'โอซาอิอุระ' และมีหน้าที่จัดส่งอาหารทะเลให้กับรัฐบาลโชกุนในสมัยเอโดะ แม่น้ำเอโดงาวะและโทเนงาวะเป็นแม่น้ำสายหลักที่ใช้ในการขนส่งเสบียง อิเอยาสุใช้ความพยายามอย่างมากในการบริหารจัดการแม่น้ำและให้ความสำคัญกับแม่น้ำโทเนงาวะที่ 'ไหลเชี่ยว' เป็นพิเศษ เขาถึงกับขุดคลองชลประทานและสร้างเขื่อนกั้นน้ำเพื่อเบี่ยงทางเดินของแม่น้ำโทเนงาวะที่แต่เดิมต้องไหลออกอ่าวโตเกียว จนเกิดเป็นทางน้ำไหลที่สู่มหาสมุทรแปซิฟิกแทน" นี่คือคำกล่าวของซาจิโกะ ซุงิซากิ ประธานสมาคมนักโภนาการชิบะ นอกจากนี้คุณซุงิซากิยังดำรงตำแหน่งประธานสมาคมวิจัยอาหารพื้นเมืองชิบะและเป็นผู้กระตือรือร้นเผยแพร่ความรู้เรื่องอาหารพื้นเมืองสู่สาธารณะ

เครดิตรูปภาพ: จังหวัดชิบะ

คุณซุงิซากิมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ฟุโตมากิซูชิ (แปลตรงตัวว่า "ซูชิโรลหนา") ที่หน้าตัดมีดีไซน์และสีสันที่สวยงาม ภาพนก ดอกซากุระ แพนด้า และผีเสื้อถูกถ่ายทอดผ่านการใช้วัตถุดิบที่หลากหลาย ทำให้ซูชิชนิดนี้เป็นของโปรดของเด็ก ๆ และนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ "อาหารพื้นเมืองจานนี้มีต้นกำเนิดมาจากเมืองซัมมุ อิซูมิ คาซาราซุ และเมืองอื่น ๆ และยังเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในงานสังสรรค์ของชุมชนหรือครอบครัว" แต่เดิมนั้นหน้าที่ทำซูชิชนิดนี้เป็นของผู้ชาย แต่ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้หญิงเป็นฝ่ายสืบทอดสูตรอาหารนี้จากการบอกเล่า" ในปี 1955 เอโกะ ริวซากิ ผู้เป็นอาจารย์ของคุณซุงิซากิ เริ่มเดินทางไปตามบ้านเรือนต่าง ๆ ในเมืองเกิดของเธอเพื่อสำรวจประวัติศาสตร์ของฟุโตมากิซูชิ วัตถุดิบ ดีไซน์ และวิธีการทำ เธอออกหนังสือตำราอาหารที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับผลการวิจัยของเธอ อีกทั้งยังได้จัดชั้นเรียนทำอาหารและการบรรยายเพื่อถ่ายทอดความน่าสนใจของอาหารจานนี้ "เดี๋ยวนี้เรามีการแข่งขันภายในจังหวัดเพื่อหาว่าใครมีดีไซน์ที่สวยที่สุด ผู้แข่งขันมีอิสระอย่างมากในการเลือกวัตถุดิบ ดังนั้นการเลือกใช้วัตถุดิบที่หาได้จากท้องถิ่นจึงเป็นสิ่งสำคัญ" *ตัว “崎” ในชื่อซุงิซากิคือรูปทัทสึซากิของตัวคันจิ “﨑”

นอกเหนือจากฟุโตมากิซูชิ จังหวัดชิบะยังมีอาหารพื้นเมืองอีกมากมาย ด้านล่างคุณจะได้รู้จักกับอาหารบางส่วนจาก 4 พื้นที่ ได้แก่ อ่าวฮิงาชิคัทสึชิกะ โฮคุโซ คูจูคุริ และมินามิโบโซ

< พื้นที่อ่าวฮิงาชิคัทสึชิกะ >
"โทริเมชิ": เมนูที่ขาดไม่ได้ของโคยาสุโกะและฮาซุมิ

พื้นที่อ่าวฮิงาชิคัทสึชิกะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางความเจริญของจังหวัด ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง การพัฒนาด้านที่อยู่อาศัยเดินหน้าอย่างรวดเร็วและไม่นานประชากรประมาณ 70% ของจังหวัดกระจุกตัวอยู่ที่นี่ มาคุฮาริชินโทชินคือใจกลางเมืองที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่เมืองหลักอย่างเมืองชิะไปจนถึงอ่าวโตเกียว และยังเป็นที่ตั้งของมาคุฮาริเมสเซ ศูนย์การประชุมนานาชาติและการจัดนิทรรศการขนาดใหญ่ เมืองอุรายาซุอัดแน่นไปด้วยโรงแรมและศูนย์การค้าที่ตั้งรายล้อมสวนสนุกขนาดใหญ่จนกลายเป็นพื้นที่รีสอร์ท พื้นที่ชุ่มน้ำเทงะเป็นพื้นที่ที่มีทิวทัศน์งดงาม มีอาณาเขตครอบคลุมเมืองอาบิโกะ คาชิวะ อินไซ และเมืองชิโรอิ ถูกกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานธรรมชาติประจำจังหวัดอินบะเทงะร่วมกับพื้นที่ชุ่มน้ำอินบะในเขตโฮคุโซ พื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้มีลักษณะยาวกระจัดกระจายออกไป มีพื้นที่รวม 6.5 ตร. กม. มีอาณาเขต 38 กม. ขึ้นชื่อเรื่องการเป็นแหล่งดูนก

การผลิตซีอิ๊วขาวเป็นอุตสาหกรรมเก่าแก่ในเมืองโนดะ กล่าวกันว่าเริ่มต้นขึ้นเมื่อชายคนหนึ่งที่ชื่ออิชิโรเบะ อิไดชิ เริ่มทำซีอิ๊วทามาริในสมัยเอโรกุ (1558-1569) ไม่นานนักเขาก็เอาชนะผู้ผลิตซีอิ๊วขาวคันไซที่ครองตลาดส่วนใหญ่ได้และกลายเป็นผู้ผลิตให้กับอุปสงค์ทั้งหมดในเอโดะ ในช่วงกลางศตวรรษที่สิบเก้า ตระกูลของเฮียวซาเอมอน ทาคานาชิ และซาเฮจิ โมงิ ได้รับเลือกให้เป็นผู้ผลิตซีอิ๊วขาวอย่างเป็นทางการของรัฐบาลโชกุน
*ตัว “高” ในชื่อทาคานาชิคือรูปฮาชิโงดากะของตัวคันจิ “髙”

ในอดีต พื้นที่การประมงในเมืองฟุนาบาชิมีความอุดมสมบูรณ์ทางทะเลมากจนสามารถจัดส่งปลาและอาหารทะเลให้กับรัฐบาลโชกุนได้ "ซัมบันเซ" หรือที่ราบน้ำทะเลขึ้นถึงที่ยังหลงเหลืออยู่ในอ่าวโตเกียวนั้นยังคงถูกใช้ในการเพาะปลูกสาหร่ายทะเลโนริและการเลี้ยงสัตว์น้ำจำพวกมีเปลือก เช่น หอยลายและหอยตลับ ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ฝังลึกอยู่ในรสชาติของอาหารพื้นเมืองอย่างฟุกาชิ หรือซุปหอยลายมิโสะ

คุณโยชิฮิเดะ ไคเบ กรรมการผู้จัดการสมาคมเชฟชิบะ ชี้ว่าเมนูที่เป็นตัวแทนของอาหารพื้นเมืองของที่นี่คือทาคาซุ โทริเมชิ เมนูนี้ข้าวผัดไก่นี้ได้รับการสืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนานในย่านทาคาซุของเมืองยาชิโย และนิยมรับประทานกันตามงานสำคัญ ๆ อย่างโคยาสุโกะและฮาซุมิ "เมนูที่เรียบง่ายนี้ทำจากไก่ผัดซีอิ๊วขาวแล้วนำเนื้อไก่และน้ำซอสไปผัดกับข้าว ความเรียบง่ายนี้เปิดโอกาสให้เราได้สัมผัสรสชาติของวัตถุดิบได้อย่างเต็มที่ ผมคิดว่าเมนูนี้เป็นเมนูที่เหมาะสมมากและใช้เวลาเตรียมไม่นาน" คุณไคเบจัดจานโดยเรียงใบหัวไชเท้าบนโทริเมชิ คล้ายกับเมนูที่ชื่อฮิบาโซนิ เขาใช้ซีอิ๊วขาวจากโนดะปรุงอาหารในขั้นตอนสุดท้าย

< พื้นที่โฮคุโซ >
ถั่วลิสงต้ม: เนื้อสัมผัสนุ่มเป็นผงที่ยากจะห้ามใจ

พื้นที่โฮคุโซประกอบด้วยที่ราบตามแนวลุ่มน้ำโทเนงาวะและที่ราบสูงชิโมสะ นอกเหนือจากอุทยานธรรมชาติประจำจังหวัดอินบะเทงะซึ่งประกอบด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำอินบะและพื้นที่ชุ่มน้ำเทงะแล้ว สามารถชมทิวทัศน์ที่งดงามของริมฝั่งได้จากอุทยานแห่งชาติซุยโง-ทสึคุบะและอุทยานธรรมชาติประจำจังหวัดโอโทเนะ พื้นที่นี้โดดเด่นด้วยทิวทัศน์จากวันที่เงียบสงบอย่างชุมชนบนภูเขาใกล้เมืองอินไซหรือเขตซาวาระในเมืองคาโทริที่เจริญรุ่งเรืองในฐานะจุดแวะพักของการขนส่งทางน้ำตามเส้นทางแม่น้ำโทเนงาวะ

เครดิตรูปภาพ: SHUN GATE เว็บไซต์ข้อมูลวัฒนธรรมอาหารญี่ปุ่น

ชายฝั่งถัดจากเมืองโชชิที่ตั้งอยู่ทางท้ายแม่น้ำโทเนงาวะมีไหล่ทวีปขนาดใหญ่ที่มีความลึกถึง 200 ม. เป็นที่ที่กระแสน้ำคุโรชิโอะและโอยาชิโอะและสายน้ำจากแม่น้ำโทเนงาวะไหลมาบรรจบกันจนเกิดเป็นพื้นที่ประมงที่ยอดเยี่ยมที่สุดในญี่ปุ่น ชาวประมงคันไซที่เดินทางมาที่นี่เพื่อหาปลาในสมัยเอโดะได้ก่อตั้งท่าเรือประมงโทคาวะขึ้นมาและมีส่วนสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมการประมง ท่าเรือประมงโชชิคือฐานการประมงที่ใหญ่มากจนสามารถรับเรือประมงจากทั่วประเทศญี่ปุ่นได้ แต่ละปีสามารถจับปลาได้มากถึง 2-3 แสนตัน ที่นี่มีปลามากถึง 200 ชนิด ไม่ว่าจะเป็นปลาที่จับเป็นจำนวนมากอย่างแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีนญี่ปุ่น ปลาซันมะ ปลาทูน่าท้องแถบ และปลาตาเดียว รวมถึงปลาอพยพ
ปลาซาร์ดีนญี่ปุ่นที่จับได้ในฤดูฝนตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคมมีชื่อว่าปลาซาร์ดีนนิวไบ ปลาชนิดนี้จะมีไขมันสูงสุดในช่วงนี้ของปีและเมื่อกินเป็นซาชิมิจะให้รสชาติที่อร่อยแบบละลายในปาก ปลาชนิดนี้มีวิธีทำที่หลากหลาย ไม่ว่าจะทาเกลือแล้วนำไปย่าง ต้มในซีอิ๊วขาว หรือดอง ทั้งหมดนี้ล้วนแสดงให้เห็นว่าปลาชนิดนี้เป็นอาหารที่ขาดไม่ได้ในภูมิภาคนี้
นอกจากนี้โชชิยังเป็นเมืองผู้ผลิตซีอิ๊วขาวที่มีชื่อเสียงไม่แพ้โนดะ ทานากะ เกนบะ ผู้ค้าปลาซาร์ดีนตากแห้งเริ่มทำซีอิ๊วขาวในปี 1616 และนำส่งไปยังเอโดะทางเรือแบน

อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่นี้คือถั่วลิสงจากเมืองยาชิมาตะ การเพาะปลูกถั่วลิสงเริ่มขึ้นในราว ๆ ปี 1907 ที่ดินในยาชิมาตะเหมาะสำหรับการเพาะปลูก อีกทั้งการรถไฟโซบุที่เปิดเดินรถในพื้นที่แปลว่าการขนส่งเอื้ออำนวย พื้นที่นี้จึงได้รับการพัฒนาให้กลายเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ประจำท้องถิ่นในช่วงต้นสมัยไทโช บันทึกจากปี 1949 ระบุว่าประมาณ 80% ของพื้นดินเพาะปลูกได้ทั้งหมดในพื้นที่ถูกจัดสรรเพื่อการเพาะปลูกถั่วลิสงโดยเฉพาะ

วิธีกินถั่วลิสงที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองยาชิมาตะเรียกว่ายูเดรัคคาเซหรือ "ถั่วลิสงต้ม" ถั่วลิสงที่เก็บใหม่ในฤดูใบไม้ร่วงจะถูกนำไปต้มเพื่อให้มีเนื้อนุ่มเป็นผงและออกรสหวานอร่อยกว่าถั่วลิสงอบทั่วไป เมื่อไม่นานมานี้ถั่วต้มนิยมกินกันเฉพาะในท้องถิ่นเท่านั้นและน้อยคนนักที่จะรู้จัก แต่ปัจจุบันวิธีการถนอมอาหารและการจัดจำหน่ายมีการพัฒนามากขึ้น จึงสามารถขนส่งได้ทั่วทั้งภายในเมืองและต่างเมืองและเป็นที่รู้จักในวงกว้าง

< พื้นที่คูจูคุริ >
เมนูปลาซาร์ดีนที่คิดค้นในบ้านเกิดของอวนทับตลิ่ง

พื้นที่คูจูคุริประกอบด้วยเขตชุมชนคูจูคุริ เมืองโทงาเนะ และเมืองซัมมุ สถานที่ที่มีชื่อเสียงของพื้นที่แห่งนี้คือแนวชายฝั่งยาว 60 กม. ของหาดคูจูคุริที่ทอดยาวตลอดแนวมหาสมุทรแปซิฟิกตั้งแต่อิอิโอกะในเมืองอาซาฮิจนถึงหาดไทโตะในเมืองอิซูมิ นับตั้งแต่สมัยเมจิเป็นต้นมา พื้นที่ชายฝั่งอิชิโนมิยะผ่านการก่อสร้างชายหาดและวิลล่ามาแล้วมากมาย ทำให้ที่แห่งนี้มีชื่อเรียกว่า "โออิโซตะวันออก" ที่นี่เป็นสถานที่โปรดปรานของนักเขียนยุคเมจิอย่างริวโนสุเกะ อาคุตางาวะ, ซาชิโอ อิโตะ และโคทาโร ทาคามุระ

เพราะหาดคูจูคุริเป็นชายหาดกว้างที่มีน้ำไม่ลึกและไม่มีหิน ชาวประมงที่นี่จึงใช้เทคนิคการประมงที่เรียกว่า "อวนทับตลิ่ง" ที่อาศัยคนมากกว่า 100 คนในการกางกั้นแล้วลากอวนขนาดใหญ่ที่ยาวได้ถึง 2 กม. วิธีนี้เริ่มขึ้นเมื่อคิวสุเกะ นิชิโนมิยะ นั่งเรือจากคิชูมายังหมู่บ้านโซริงาเนะ (ปัจจุบันคือชิราโกะ) ในปี 1555 เขามองเห็นโอกาสในการจับปลาซาร์ดีนที่มีชุกชุมและเริ่มใช้วิธีการประมงของคิชูนั่นคือการกางอวนทับตลิ่ง นอกจากเป็นแหล่งอาหารแล้ว ปลาซาร์ดีนยังถูกนำไปตากแห้งและใช้ทำปุ๋ยหรือเอาไปแปรรูปเป็นกากน้ำมันแล้วส่งไปทั่วประเทศญี่ปุ่น นับเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของคนในท้องถิ่น

ประวัติศาสตร์ที่ยาวนานนี้ทำให้คูจูคุริเป็นต้นกำเนิดของเมนูปลาซาร์ดีนมากมาย หนึ่งในนั้นคืออิวาชิโนดังโงะจิรุที่ใช้เนื้อปลาซาร์ดีนบด เกี๊ยวปลาจะถูกนำไปต้มในน้ำซุปใสให้มีเนื้อเบาและนุ่มฟูจนละลายในปากและทิ้งรสอร่อยเอาไว้ เมนูชื่อเซงุโรอิวาชิโนะโงมาซุเกะถูกคิดค้นขึ้นเพื่อให้สามารถเก็บปลาซาร์ดีนไว้เป็นเวลานานได้ ส่วนหัวและเครื่องในจะถูกเอาออกจากปลากะตักญี่ปุ่น จากนั้นนำไปคลุกเกลือและหมักไว้ 2-3 วันกับงา ขิง ยูซุ และพริกแดง เมื่อเอาปลากะตักใส่เข้าไปในปาก คุณจะได้รสชาติอูมามิของปลา รวมถึงรสเผ็ดร้อนและกลิ่นหอมที่จะค่อย ๆ ออกมาให้คุณได้ลิ้มรส

< พื้นที่มินามิโบโซ >
ฟาร์มโคนม เกษตรกรรม และขุมทรัพย์จากทะเลที่เกื้อหนุนด้วยสภาพอากาศเขตอบอุ่น

พื้นที่มินามิโบโซในตอนใต้ของจังหวัดชิบะคือพื้นที่รีสอร์ทที่เต็มไปด้วยแหล่งท่องเที่ยว ลมเหนือที่พัดเบา ๆ ทำให้ฤดูหนาวที่นี่มีอากาศที่อบอุ่น นักท่องเที่ยวจึงสามารถเพลิดเพลินกับความหลากหลายของดอกไม้ตามฤดูกาลอย่างดอกแดฟโฟดิลของเคียวนันหรือ "ถนนนานาบะตาเกะ" ของคาโมงาวะ เมืองชายฝั่งอย่างมินามิโบโซ คาโมงาวะ และทาเทยามะมีโรงแรมรีสอร์ทที่มีชื่อเสียงมากมายที่มองเห็นวิวมหาสมุทร

เครดิตรูปภาพ: SHUN GATE เว็บไซต์ข้อมูลวัฒนธรรมอาหารญี่ปุ่น

ที่นี่มีการทำการเกษตรตลอดทั้งปี ในสมัยเอโดะที่นี่มีหน้าที่ในการผลิตอาหารสดอย่างผลิตภัณฑ์จากนม ผลไม้ และอาหารทะเลให้กับรัฐบาลโชกุน ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นได้รับการรับรองด้วยเครื่องหมายการค้ามินามิโบโซ ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองนี้มีถึง 20 อย่าง ไม่ว่าจะเป็นกุ้งมังกรญี่ปุ่น ปลากะพงแดงตาโต ฮิจิกิ นาโนฮานะ ถั่วแระญี่ปุ่น และเซเลอรี่ ตลอดจนถึงแบรนด์ชื่อดังระดับประเทศอย่างข้าวนางาซาไมและโลควอทโบชู

นอกจากนี้ที่นี่ยังมีเมนูพื้นเมืองมากมายที่ใช้อาหารทะเล ปลาทูแขกและปลาซาร์ดีนที่ชุกชุมในพื้นที่ถูกนำมาทำนาเมโระ ซึ่งสามารถนำไปย่างเพื่อทำเป็นซันงายากิได้ ทั้งสองเมนูนี้มีขายตามอิซากายะและร้านค้าริมทาง

เครดิตรูปภาพ: สมาคมวิจัยอาหารพื้นเมืองชิบะ

ศูนย์วิจัยโคนมมิเนโอกะในเมืองมินามิโบโซมี "อนุสาวรีย์ต้นกำเนิดฟาร์มโคนมของญี่ปุ่น" ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ของพื้นที่นี้ เรื่องราวเริ่มต้นด้วยเผ่าซาโตมิผู้ปกครองพื้นที่ทั้งแคว้นในยุคเซ็งโงกุที่เริ่มทำฟาร์มปศุศัตว์บนเขามิเนโอกะ จากนั้นรัฐบาลโชกุนในสมัยเอโดะก็รับช่วงต่อมา โดยโชกุนที่แปด โทคุงาวะ โยชิมุเนะ ได้สั่งนำเข้าวัวขาว 3 ตัวจากอินเดียเพื่อนำมาผลิตเนย หลังจากนั้นในสมัยคันเซ (1789-1801) ก็สามารถผสมพันธุ์วัวสามตัวนั้นได้สำเร็จจนมีฝูงวัวมากกว่า 70 ตัว ตั้งแต่ในอดีตเกษตรกรโคนมในมิเนโอกะนิยมกินชิกโกะเป็นอาหารกันมานานแล้ว ในพื้นที่นี้เรียกนมวัวว่าชิกโกะ น้ำนมแรกหรือนมน้ำเหลืองที่แม่วัวให้ลูกกินจะถูกนำไปต้มและใส่น้ำส้มสายชูจนเกิดเป็นสิ่งที่คล้ายกับคอตเทจชีสหรือชีสสด นมน้ำเหลืองนี้ไม่สามารถนำไปขายในตลาดได้ วิธีนี้จึงคิดค้นมาเพื่อไม่ให้เป็นการเสียของ ปัจจุบันเมนูนี้มีชื่อว่าชิกโกะคาทาเมทาโนะ และมีการสอนวิธีทำโดยใช้นมที่ซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไปในชั้นเรียนทำอาหาร

จังหวัดชิบะอยู่ในเขตเมืองหลวงของประเทศ อีกทั้งเมืองต่าง ๆ ในจังหวัดนี้ยังค่อนข้างใหญ่แล้ว การจินตนาการถึง "อาหารท้องถิ่น" ที่ผลิตที่นี่จึงดูเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าลองสังเกตวิถีชีวิตของคนในชุมชน คุณจะพบว่าที่นี่มีการสืบทอดวัฒนธรรมอาหารเรื่อยมาตั้งแต่โบราณ จังหวัดชิบะยังคงเต็มไปด้วยรสชาติอร่อยที่ยังไม่ถูกค้นพบ

จังหวัดชิบะ อาหารพื้นเมืองหลัก