จังหวัดโทชิงิ

หนึ่งในจังหวัดเกษตรกรรมที่ดีที่สุดในภูมิภาคคันโตอันอุดมไปด้วยผืนดินสมบูรณ์และน้ำใสสะอาด

จังหวัดโทจิงิตั้งอยู่บริเวณขอบด้านเหนือของที่ราบคันโต ทิศเหนือติดกับจังหวัดฟุคุชิมะ ทิศตะวันออกติดกับจังหวัดอิบารากิ ทิศตะวันตกติดกับจังหวัดกุมมะ และทิศใต้ติดกับทั้งเขตจังหวัดกุมมะ อิบารากิ และไซตามะ โทจิงิเป็นจังหวัดที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลเพียงไม่กี่จังหวัดของประเทศ มีอากาศอบอุ่นตลอดทั้งปี มีฤดูร้อนที่ร้อนอบอ้าว ฤดูหนาวมีอากาศหนาวและแห้งแต่ได้รับแสงแดดต่อวันเป็นเวลานาน ด้วยภูมิอากาศแบบพื้นที่ที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล อุณหภูมิที่แตกต่างกันอย่างมากระหว่างฤดูร้อนและฤดูหนาว ระหว่างอากาศอบอุ่นในตอนกลางวันและอากาศหนาวเย็นในตอนกลางคืน อีกทั้งระดับความชื้นที่แปรเปลี่ยนหลายระดับ ทำให้จังหวัดเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมในการเพาะปลูกผลผลิตด้านเกษตรกรรมที่หลากหลาย

ผู้ร่วมรายงานหลัก: ยูจิ คาชิวามุระ, คุมิโกะ ทาคาฮาชิ, ฮิซาเอะ ฮังดะ

พื้นที่มากกว่าครึ่งของโทจิงิปกคลุมด้วยผืนป่า มีภูเขายามิโซะทางตะวันออก และมีภูเขานาสุ ภูเขาไทชาคุ เทือกเขานิคโค และภูเขาอาชิโอะทอดตัวจากเหนือสู่ตะวันตก จังหวัดล้อมรอบด้วยพื้นที่ภูเขาทั้งสามด้าน ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำสายต่าง ๆ อาทิ แม่น้ำนากะ แม่น้ำคินุงาวะ แม่น้ำโอโมอิ และแม่น้ำวาตาราเสะ โดยมีที่ราบลุ่มแม่น้ำคันโตขนาดใหญ่วางตัวลัดเลาะไปตามที่ราบสูงเถ้าภูเขาไฟและดินตะกอนลุ่มน้ำ

ด้วยดินอันอุดมสมบูรณ์ผนวกกับแหล่งน้ำที่มีมาก ทำให้โทจิงิมีชื่อเสียงไปทั่วประเทศว่าเป็นจังหวัดแห่งเกษตรกรรม มีการผลิตสตรอว์เบอร์รีมากที่สุดในประเทศมากว่า 50 ปี มีการผลิตน้ำเต้าตากแห้ง (คัมเปียว) คิดเป็นสัดส่วน 90% ของผลผลิตทั่วประเทศ และโทจิงิยังเป็นหนึ่งในผู้ผลิตสินค้าชนิดอื่น ๆ เป็นอันดับต้น ๆ ของญี่ปุ่น เช่น หน่อไม้ฝรั่งภูเขา (‘อุโดะ’) ต้นหอม มะเขือเทศ และเผือก นอกจากนั้นยังมีชื่อเสียงในฐานะพื้นที่การปลูกข้าวสาลีที่ดีที่สุด โดยมีการผลิตข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์คุณภาพดีเป็นจำนวนมากมาตั้งแต่อดีต และเร็ว ๆ นี้ก็ยังมีการผลิตข้าวบาร์เลย์สองแถวและหกแถวอีกด้วย

นอกเหนือจากเกษตรกรรมแล้ว บริเวณแม่น้ำนากะ แม่น้ำคินุงาวะ และแม่น้ำโอโมอิยังมีชื่อเสียงเรื่องน้ำที่ใสสะอาด ทำให้การทำประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีความเจริญรุ่งเรือง โดยหลัก ๆ คือ การจับปลาอายุและปลาเทราต์
ด้วยความสวยงามทางธรรมชาติที่สามารถพบได้เพียงพื้นที่ด้านในของประเทศและสภาพทางภูมิศาสตร์ที่หลากหลายเหมาะแก่การเพาะปลูกผลิตผลในทุกฤดูกาล ทำให้อาหารท้องถิ่นมีความหลากหลายตามไปด้วย โดยมุ่งเน้นการถนอมอาหารที่ใช้วัตถุดิบเช่นผัก ธัญพืช อาหารจากภูเขา และปลาแม่น้ำ เป็นหลัก

ชิโมตสึคาเระ อาหารท้องถิ่นที่เอ่อล้นด้วยภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ

ขอเริ่มด้วยการแนะนำเมนูอันเป็นตัวแทนของอาหารท้องถิ่นในพื้นที่ ซึ่งมีความโดดเด่นแม้แต่ในหมู่อาหารท้องถิ่นด้วยกันเองของโทจิงิ นั่นคือ ชิโมตสึคาเระ ในปัจจุบันนี้ยังคงมีการรับประทานกันอยู่ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของโทจิงิ เป็นเมนูที่ทำโดยการนำหัวปลาแซลมอนเค็มที่เหลือจากช่วงปีใหม่มาต้มกับถั่ว หัวไชเท้า กากเหล้าสาเก เต้าหู้ทอด และอาหารที่เหลือจากเทศกาลเซ็ตสึบุงอื่น ๆ ว่ากันว่าอาหารชนิดนี้แรกเริ่มเดิมทีเป็นของเซ่นไหว้เทพเจ้าจิ้งจอกอินาริในวันมะเมียวันแรกช่วงเดือนกุมภาพันธ์ตามปฏิทินตามจันทรคติ เป็นอาหารที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการที่ว่ากันว่าหากได้ลองทานแล้วล่ะก็จะทำให้มีสุขภาพดี ในสมัยที่ไม่มีตู้เย็นและมีวิธีการขนส่งเพียงจำกัด นี่คือวิธีการนำของเหลือมาใช้ประโยชน์โดยไม่ทำให้อาหารอันมีค่าสูญเปล่า เป็นอาหารที่เต็มไปด้วยภูมิปัญญาและความเฉลียวฉลาดของเหล่าบรรพบุรุษ

ต่อไปนี้จะเป็นการอธิบายในรายละเอียด โดยจะแบ่งจังหวัดโทจิงิออกเป็น 4 เขตกว้าง ๆ เพื่อแนะนำอาหารท้องถิ่นของแต่ละพื้นที่ ได้แก่ เขตภูเขาใหญ่บริเวณนิคโคและนาสุ เขตที่ราบสูงบริเวณภูเขายามิโซะทางตะวันออกและภูเขาอาชิโอะทางตะวันตกเฉียงใต้ที่มียอดเขาไม่สูงชัน เขตที่ราบดินตะกอนแม่น้ำ และเขตที่ราบสุ่มแม่น้ำที่วัฒนธรรมอาหารเกี่ยวกับปลาแม่น้ำมีความเฟื่องฟู

<เขตภูเขาใหญ่>
รสชาติของบ้านเกิดที่ถือกำเนิดด้วยพรอันประเสริฐจากขุนเขาและสายน้ำ

ที่มาของภาพ: ยูจิ คาชิวามุระ

พื้นที่ภูเขาทอดตัวจากเหนือสู่ตะวันตกของจังหวัดโทจิงิ เป็นเขตที่อุดมไปด้วยความงามทางธรรมชาติและได้รับการกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาตินิคโค วัดและศาลเจ้าในนิคโคยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกของ UNESCO ด้วย มีทะเลสาบชูเซ็นจิและน้ำตกเคงงที่เกิดจากการระเบิดของภูเขานันไต รวมไปถึงแหล่งน้ำพุร้อนต่าง ๆ เช่น นาสุชิโอบาระและแม่น้ำคินุงาวะ ทำให้พื้นที่แห่งนี้เต็มไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวมากมาย (รูปภาพ: ทิวทัศน์ของภูเขานิคโคจากช่องเขาชิโนอิ) ในเขตภูเขาใหญ่ของโทจิงิ ครั้งหนึ่งข้าวบาร์เลย์และลูกเดือยเคยเป็นอาหารหลักในพื้นที่นิคโค โดยมักจะทานกับวัตถุดิบเช่นผักที่หามาได้จากภูเขา และปลาเทราต์อิวานะหรือปลาเทราต์มาสุที่จับได้จากลำธารบนภูเขา ส่วนอาหารที่มักจะคิดถึงในวันที่มีแสงแดดสาดส่องคงเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากอาหารจากโซบะหรือโมจิ

ที่มาของภาพ: แผนกการท่องเที่ยวนครนิคโค

บันไดโมจิคืออาหารที่สืบทอดมาอย่างยาวนานในอำเภอคุริยามะของนครนิคโค ทำจากแป้งโมจิปั้นเป็นวงกลมนำไปย่าง แล้วนำมาทาซอสมิโซะที่ทำจากงาป่า เรียกว่าซอสมิโซะยาจูเนะหวาน แล้วนำไปย่างอีกครั้งหนึ่ง บางครั้งแป้งโมจิอาจปรุงด้วยถั่วแดงบดที่เรียกว่า ‘ซุนดะ’ โดยปกติแล้วโมจิจะทำจากแป้งข้าวเจ้า แต่อาหารชนิดนี้พิเศษตรงที่ไม่ได้ใช้แป้งข้าวเจ้า แต่ใช้แป้งชนิดอื่นที่นำมาทำให้เหนียว ว่ากันว่าชื่ออาหารมีที่มาจากช่างฝีมือในกระท่อมบนเขาที่ทำโมจิที่โต๊ะทำงานช่างด้วยการใช้ด้ามขวานหรือเครื่องมือช่างอื่น ๆ ในการโม่แป้ง โมจิชนิดนี้บางครั้งก็ทานโดยใส่ในซุปที่ทำจากปลาเทราต์อิวานะที่จับจากลำธารบนภูเขา เป็นอีกสูตรหนึ่งที่ทำให้ได้ลิ้มรสชาติอาหารทั้งจากภูเขาและแม่น้ำไปพร้อม ๆ กัน

ที่มาของภาพ: คุมิโกะ ทาคาฮาชิ

นานมาแล้ว นิคโคถูกมองว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เพื่อบูชาขุนเขา มีนักบวชมากมายที่มาพำนักอาศัยที่นี่ อาหารนักบวชจานหนึ่งที่ตกทอดมาคือยุบะ โดยปกติแล้วยุบะ หรือฟองเต้าหู้ จะเขียนด้วยตัวอักษร '湯葉' ที่ประกอบด้วยตัวอักษร ‘ยุ’ ที่แปลว่าน้ำร้อน และ ‘บะ’ ที่แปลว่าใบไม้ แต่ด้วยลักษณะพื้นผิวของอาหารในสูตรของนิคโคที่คล้ายคลื่น ซึ่งเป็นผลจากวิธีการทำแบบเฉพาะตัว ทำให้ตัวอักษรตัวที่สองของชื่ออาหารนี้ในนิคโคเขียนด้วย '波' ที่หมายถึงคลื่น ยุบะสดจะถูกนำมาวางซ้อนกันแล้วม้วน จากนั้นนำไปหั่นเป็นชิ้นและทอดในน้ำมันเพื่อทำเป็นเต้าหู้ทอดยุบะ และนำไปทำเป็นเมนูเต้าหู้ทอดในน้ำซุปที่เป็นอาหารต้นตำหรับของเขตนี้

ลักษณะเด่นอีกอย่างหนึ่งของเขตนี้คืออาหารที่ใช้สัตว์ป่าจากภูเขาเป็นส่วนประกอบ เนื่องจากเป็นเขตที่มีการเพาะปลูกข้าวน้อย ทำให้วัฒนธรรมอาหารมีจุดเด่นที่การใช้อาหารที่หาได้จากภูเขาและสายน้ำแทน

<เขตที่ราบสูง>
วัฒนธรรมอาหารเชิงเขาว่าด้วยอาหารที่ทำจากแป้งและเผือก

ยอดเขาที่ไม่สูงชันในพื้นที่ทางตะวันออกและทางใต้ของโทจิงิทำให้มีทั้งที่ราบสูงและที่ราบลุ่มมากมาย ส่งผลให้เกิดวัฒนธรรมอาหารที่มีความเฉพาะตัว ทั้งสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศของเขตนี้เป็นผลดีต่อการพัฒนาอาหารที่มีข้าวสาลี แป้งโซบะ และเผือก เป็นส่วนประกอบ ทำให้มีการพัฒนาวัฒนธรรมอาหารประเภทโซบะและอุด้งที่ต่างก็ทำจากแป้ง รวมไปถึงอาหารจากเผือกด้วย (ภาพถ่าย: ทุ่งบัควีต) บัตโตจิรุคืออาหารชนิดแรกที่ปรากฏขึ้นในใจเมื่อคิดถึงอาหารที่เป็นตัวแทนของหมู่บ้านภูเขาบนภูเขายามิโซะตะวันออก น้ำซุปทำจากมันฝรั่ง แครอท และเห็ดชีตาเกะจำนวนมาก ต้มในซุปมิโซะที่ใส่แป้งปั้น โดยปกติแล้วอาหารจานนี้มีชื่อเรียกว่าสุอิตง แต่ในท้องถิ่นจะเรียกว่า บัตโตจิรุ หรือ ดังโงะจิรุ เมื่อก่อนในเขตนี้ไม่ค่อยมีการทำนาข้าวเท่าไรนัก ดังนั้นมันจึงเป็นอาหารที่ช่วยทดแทนข้าวที่ไม่ค่อยมีได้เป็นอย่างดี

เผือกคือพืชที่เข้ามาสู่ประเทศญี่ปุ่นจากพื้นที่เขตร้อนในเอเชียในสมัยโจมง พื้นที่เพาะปลูกมีการขยายตัวจากรอบ ๆ อุตสึโนะมิยะไปถึงทุ่งราบภูเขาไฟและเนินตะกอนน้ำพารูปพัดแถวนาสุ เผือกสามารถพบได้ทั่วจังหวัดยกเว้นในพื้นที่ราบสูงที่เป็นหินและมีอากาศหนาวเย็น เช่นภูเขาอาชิโอะ เมื่อพูดถึงอาหารท้องถิ่นที่ใช้เผือกเป็นส่วนประกอบ หรือที่ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า ‘ซาโตอิโมะ’ นั้น มักจะคิดถึงอาหารที่ชื่อว่า นิชิเมะ ที่มักเสิร์ฟในเทศกาลและงานประจำปีต่าง ๆ และ อิโมะคุจิ ที่เป็นอาหารย่างทานรอบกองไฟ

ที่มาของภาพ: สมาพันธ์เกษตรกรแห่งจังหวัดโทจิงิ

นครคานุมะที่อยู่ทางตะวันตกของอุตสึโนะมิยะตั้งอยู่ในบริเวณที่ผสมระหว่างภูเขาและทุ่งราบ เมื่อรวมกับสภาพอากาศที่แตกต่างกันอย่างมากในช่วงกลางวันและกลางคืน ทำให้การเพาะปลูกบัควีต (หรือที่เรียกในภาษาญี่ปุ่นว่าโซบะ ทั้งที่เป็นชื่ออาหารและชื่อของแป้งที่ใช้ทำวัตถุดิบ) มีความเจริญรุ่งเรืองในพื้นที่นี้ นอกจากนั้นแล้ว เพื่อเป็นการเพิ่มปริมาณ (‘คาเตะ’) ให้โซบะ คนในพื้นที่จึงคิดวิธีการเช่นการผสมต้นหอมและหัวไชเท้าลงไป จนกลายเป็นอาหารท้องถิ่นสูตรเฉพาะที่รู้จักในชื่อ คาเตะโซบะ ในปัจจุบันมีทั้ง นิระโซบะ หรือโซบะต้นหอมที่เป็นที่นิยมในนครคานุมะ และไดคงโซบะ หรือโซบะหัวไชเท้าญี่ปุ่นที่นิยมในนครซาโนะ มีร้านค้าหลายร้านที่เสิร์ฟอาหารชนิดนี้และยังคงเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมจากคนทั่วไป

พื้นที่บางส่วนของอำเภอคุซูในนครซาโนะที่ตั้งอยู่แถวภูเขาเรียวโมทางตอนใต้ของโทจิงิ และในส่วนของอำเภอโคงาชิของนครอุตสึโนะมิยะ มีอาหารชื่อ มิมิอุด้ง เป็นอุด้งที่ไม่เหมือนที่อื่นเพราะเส้นอุด้งจะถูกนวดให้เป็นรูปร่างคล้ายใบหู (ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า ‘มิมิ’) ในซาโนะจะมีประเพณีท้องถิ่นในช่วงปีใหม่อย่างหนึ่งคือการขอพรเพื่อให้โชคดีในปีที่จะมาถึงด้วยการพูดว่า “จงรับฟังด้วยหูที่ดี” แล้วยกเส้นอุด้งรูปหูขึ้นแนบกับหูตัวเอง ทำให้อาหารจานนี้เป็นอาหารที่ทานในช่วงวันหยุดปีใหม่เป็นหลัก แต่ทุกวันนี้มันได้กลายเป็นอาหารที่ทานได้ทุกวันในซาโนะและมีขายในร้านอาหาร นอกจากนั้น ในเขตนี้ยังขึ้นชื่อเรื่องเซ็มบะโซบะที่ทำจากแป้งบัควีตที่เก็บเกี่ยวในท้องที่ด้วย

<เขตที่ราบ>
เมื่อพูดถึงตัวแทนของอาหารโทจิงิ อุด้งกับคัมเปียวคือสองดาวเด่นแห่งวงการ

พื้นที่ตอนกลางของจังหวัดที่ทอดตัวไปทางใต้มีลักษณะเป็นที่ราบสูงดินตะกอนแม่น้ำ มีพื้นที่เพาะปลูกและนาข้าวแผ่กระจายบนที่ราบสูง ทำให้มีผลผลิตทางการเกษตรหลากหลาย เช่น ข้าว ผลไม้ และผักต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกผักเช่น ต้นหอม เผือก และคัมเปียว รวมไปถึงธัญพืชเช่นข้าวเจ้า ข้าวสาลี และข้าวบาร์เลย์สองแถวและหกแถว ที่มีความรุ่งเรือง (รูปถ่าย: ภูมิประเทศแบบชนบทในทาคาเนซาวะ)
ในเขตนี้ สามารถทำการเพาะปลูกครั้งที่สองได้เมื่อสูบน้ำในนาข้าวออกแล้ว และเพื่อเป็นการใช้ประโยชน์จากภูมิอากาศที่แห้งของพื้นที่จังหวัดตอนใต้ ด้วยเหตุนี้ทำให้มีการปลูกข้าวสาลีอย่างแพร่หลาย รวมไปถึงอาหารที่ใช้ข้าวสาลีเช่นอุด้งและขนมมันจูก็แพร่หลายเช่นเดียวกัน

ที่มาของภาพ: อาหารในครัวเรือนญี่ปุ่น อาหารดั้งเดิมของอุตสึโนะมิยะ โดย ยูจิ คาชิวามุระ และฮิซาเอะ ฮังดะ

อาหารที่เรียกว่าชิคาเกะอุด้งมีที่มาจากป่าในเขตที่ราบของโทจิงิ มีการเก็บเห็ดเป็นประจำในฤดูใบไม้ร่วง เห็ดชิคาเกะจะขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคม และมีการเก็บเกี่ยวในคราวเดียวเป็นปริมาณมากในหมู่บ้านภูเขาที่ตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งของเห็ด เห็ดชนิดนี้เมื่อหั่นออกจะให้น้ำสีขาวและหอมมีเอกลักษณ์ และนำไปใช้ทำซุปสำหรับโซบะและอุด้ง

ในแง่ของวัตถุดิบ หากคิดถึงจังหวัดโทจิงิแล้วก็คงไม่พ้นคัมเปียว หรือน้ำเต้าตากแห้ง ซึ่งไม่น่าแปลกใจเพราะโทจิงิมีผลผลิตของคัมเปียวเป็นสัดส่วนมากกว่า 90% ของทั่วประเทศ เมื่อสามศตวรรษก่อน โทริอิ ทาดาเตรุ เจ้าครองแคว้นมิบุ (ปัจจุบันคือแขวงมิบุ เมืองสึงะ) ที่ถูกบังคับให้ย้ายเข้ามาจากเขตโอมิ (จังหวัดชิงะในปัจจุบัน) ได้นำเมล็ดน้ำเต้าที่เป็นวัตถุดิบหลักของคัมเปียวเข้ามา แล้วแจกจ่ายไปทั่วแคว้น ว่ากันว่าน้ำเต้าเจริญงอกงามดีเพราะพื้นที่เป็นดินไม่อุ้มน้ำ และมีพายุฤดูร้อนที่ช่วยให้หน้าดินเย็น ทำให้มีความชุ่มชื้นเพียงพอต่อการปลูกผักชนิดนี้ ด้วยสภาพดินและสภาพอากาศที่เป็นใจต่อการปลูกน้ำเต้า ทำให้การเพาะปลูกพืชชนิดนี้ขยายตัวเป็นวงกว้างในบริเวณตอนกลางของมิบุ (รูปถ่าย: ผลน้ำเต้า วัตถุดิบหลักในการทำคัมเปียว)

คัมเปียวมีเนื้อสัมผัสที่พิเศษและเข้ากันได้กับรสชาติหลากหลาย จึงทำให้มันเป็นได้ทั้งวัตถุดิบหลักและวัตถุดิบเสริมในหลายเมนู มีการนำไปนำเป็นคัมเปียวซูชิโรลและอินาริซูชิอันเป็นเมนูขึ้นชื่อ หรือนำไปใส่ในเมนูสลัดเช่นคัมเปียวโกมะอาเอะ หรือแม้แต่นำไปเป็นวัตถุดิบทั่วไปในซุปและอาหารประเภทต้มอื่น ๆ ก็ยังได้ หนึ่งในอาหารอันโดดเด่นที่ใช้คัมเปียวเป็นส่วนประกอบคือคัมเปียวทามาโงะโทจิ (อาหารที่โรยหน้าด้วยไข่นุ่ม) (ตามรูป) แต่เดิมเป็นอาหารที่ทำจากคัมเปียวส่วนที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวและการผลิตในไร่ ทุกวันนี้มันยังคงเป็นอาหารท้องถิ่นที่เป็นที่รักและเป็นที่นิยมในฐานะอาหารทานง่ายและมักจะอยู่ในเมนูอาหารกลางวันของโรงเรียน

เกี๊ยวซ่าได้ชื่อว่าเป็นเมนูประจำถิ่นของอุตสึโนะมิยะเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ในสมัยก่อน ทหารที่ไปรบที่ประเทศจีนได้เรียนรู้วิธีการทำเกี๊ยวซ่าตอนที่อยู่ที่นั่น และเมื่อกลับมาก็ได้เผยแพร่วิธีการทำเกี๊ยวซ่าที่บ้านเกิดของตนเหมือนสมัยที่อยู่ในประเทศจีน ปัจจุบัน มีร้านที่ขายเกี๊ยวซ่ามากกว่า 200 ร้านในเมือง และหากไม่เอ่ยถึงเกี๊ยวซ่าแล้ว วัฒนธรรมอาหารของโทจิงิคงไม่สมบูรณ์

<เขตที่ราบลุ่มแม่น้ำ>
อาหารจากปลาแม่น้ำเลื่องชื่อ จากแม่น้ำที่ใสที่สุดในประเทศ

ภูเขานิคโคชิราเนะ ภูเขานันไต ภูเขานาสุ และภูเขาอื่น ๆ ในเขตเป็นต้นน้ำของแม่น้ำนากะ (ตามรูป) และแม่น้ำคินุงาวะ ที่ถูกจัดว่าเป็นหนึ่งในแม่น้ำ 100 สายที่เหมาะแก่การตกปลาอายุ ด้วยสภาพน้ำใสอันเป็นขุมทรัพย์แห่งปลาแม่น้ำอย่างแท้จริง แม้ว่าโทจิงิจะไม่มีทางออกสู่ทะเล แต่ก็มีปลาแม่น้ำอันเป็นแหล่งโปรตีนที่มีค่า อาทิ ปลาอายุ ปลาตะเพียนญี่ปุ่น และปลาชนิดอื่นอีกมากมาย เช่น ปลาฟุนะ ปลาดุก ปลาไหล ปลาโดโจ ปลาแซลมอน และปลาเทราต์ เป็นต้น
ปลาอายุคือปลาขึ้นชื่อ และปลาที่จับได้ที่โทจิงิถือว่าเป็นที่สุดของประเทศญี่ปุ่น ในช่วงฤดูร้อนจะมีการทำลอบดักปลาตามแม่น้ำนากะและคินุงาวะเพื่อจับปลาอายุ และโดยทั่วไปจะมีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากมารวมกันที่นี่ในช่วงฤดูร้อน

ที่มาของภาพ: สมาพันธ์เกษตรกรแห่งจังหวัดโทจิงิ

อาหารที่ทำจากปลาอายุนั้นเป็นที่ชื่นชอบเป็นพิเศษและโดดเด่นในบรรดาอาหารที่ทำจากปลาแม่น้ำ ปลาอายุย่างเกลือและข้าวปลาอายุ (ตามรูป) คือเมนูที่มีชื่อเสียงที่ว่า ซึ่งสามารถทานเมนูจากปลาอายุอันหลากหลายได้จากร้านอาหารทั่วเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโทจิงิ ปลาอายุคือวัตถุดิบอันมีค่ามาตั้งแต่สมัยโบราณ ผู้คนใช้ส่วนที่ทานไม่หมดมาประกอบเป็นอาหารอื่น เช่น การนำปลาอายุมาเสียบไม้เพื่อย่างข้างเตาถ่าน หรือซูชิปลาอายุดอง ที่ทำจากการนำปลาอายุ ข้าว และเกลือมาหมักรวมกัน นอกจากนั้นยังมีเมนูที่ชาญฉลาด เช่น อุรุกะ ที่เป็นการถนอมอาหารทำโดยการนำส่วนเครื่องในมาดอง เป็นต้น

ที่มาของภาพ: อาหารในครัวเรือนญี่ปุ่น อาหารดั้งเดิมของอุตสึโนะมิยะ โดย ยูจิ คาชิวามุระ และฮิซาเอะ ฮังดะ

คาโรนิคืออาหารจากปลาแม่น้ำที่โดดเด่นอีกเมนูหนึ่ง เมนูรสชาติเผ็ดหวานนี้ทำโดยการนำปลาไปต้มในน้ำตาลและเหล้าสาเก โดยใช้ปลาตะเพียนในวัยเจริญพันธุ์ที่กำลังจะวางไข่ ทำให้ตัวปลามีแถบสีแดงอันเป็นเอกลักษณ์และมีเนื้อสัมผัสที่นุ่มลิ้น ปลาชนิดนี้สามารถนำไปทำได้หลายเมนู ตั้งแต่ย่างเกลือไปจนถึงนำไปทอดแล้วหมักในซอสเผ็ด ในบรรดาเมนูเหล่านี้ คาโรนิคือเมนูที่โดดเด่น ทำจากปลาตะเพียนญี่ปุ่นที่นำไปต้มจนเปื่อยทั้งกระดูก เป็นอาหารประจำถิ่นและเป็นการถนอมอาหารวิธีหนึ่งที่สืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้

จังหวัดโทชิงิมีสถานที่มากมายที่สามารถทานอาหารท้องถิ่นที่ยังหลงเหลือในปัจจุบันได้ ด้วยเมนูที่มีรสชาติ วิธีการทำ และวัตถุดิบที่เฉพาะในแต่ละท้องถิ่น วิถีชีวิตของผู้คนค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปในทุก ๆ ปี วิถีแห่งอาหารดั้งเดิมทั้งรสชาติและวัตถุดิบก็ย่อมค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน แต่ไม่ว่าอย่างไร ภูมิปัญญาและความเฉลียวฉลาดของบรรพบุรุษที่ได้มอบอาหารเหล่านี้ไว้ให้ก็ยังคงเด่นชัดไม่เสื่อมคลาย

จังหวัดโทชิงิ อาหารพื้นเมืองหลัก