วัฒนธรรมการทำอาหารของพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยน้ำ
จังหวัดนีงาตะทอดยาวจากตอนกลางของเกาะฮอนชูไปทางเหนือเล็กน้อยโดยหันหน้าเข้าหาทะเลญี่ปุ่น พื้นที่ของจังหวัดนี้ยังครอบคลุมถึงเกาะซาโดะและเกาะอาวาชิมะ ซึ่งอยู่ห่างจากทะเลประมาณ 35 กม. อีกด้วย ทำให้เป็นจังหวัดที่ใหญ่เป็นอันดับห้าของญี่ปุ่นโดยมีพื้นที่ทั้งหมด 12,584 ตร.ม.
พื้นที่ด้านตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงใต้เป็นพื้นที่ภูเขาสูง 2,000 เมตร จังหวัดนีงาตะมีพรมแดนติดกับจังหวัดยามากาตะ ฟุกุชิมะ กุมมะ นากาโนะ และโทยามะ ข้ามภูเขาอาซาฮี ภูเขาอิอิเดะ และภูเขาเอจิโกะ
เนื้อหาวิดีโอบางส่วนจัดทำโดย: เมืองซาโดะ สถานที่: หม่า Ma หยันซ่ง/MAD Architects “Tunnel of Light” (ผลงานโดยนิทรรศการเอจิโกะ สึมาริ ซึ่งจัดขึ้นทุกสามปี)
วิดีโอฟุตเทจมาจากความร่วมมือกับ: เรียวเทอิ อิจิซิเมะ, ซุซากายะ โซบะ
จังหวัดที่มีหิมะตกหนักและแม่น้ำชั้นหนึ่ง 767 สาย
แม่น้ำชินาโนะ อากาโนะ อาระ เซกิ และฮิเมะ เป็นแหล่งน้ำชั้นหนึ่งที่มีต้นกำเนิดจากภูเขาและแตกแขนงออกเป็นแม่น้ำ 767 สายในส่วนต่างๆ ของจังหวัด พื้นที่ซึ่งเชื่อมโยงแม่น้ำชั้นหนึ่งเหล่านี้เข้าด้วยกันมีความยาวรวมถึง 3,629.3 กม.
การสะสมของดินและทรายจากแม่น้ำชินาโนะและอากาโนะทำให้เกิดที่ราบเอจิโกะ ที่ราบแห่งนี้เป็นที่ราบกว้างใหญ่ขนาดเท่ากรุงโตเกียว และเดิมเป็นดินแดนที่มีการระบายน้ำได้ไม่ดีซึ่งเต็มไปด้วยทะเลสาบและหนองบึง จึงเป็นที่มาของคำว่า 潟 (-gata หมายถึง ทะเลสาบ) ในนีงาตะ พื้นที่นี้มีแนวโน้มที่จะเกิดน้ำท่วม และพืชผลก็เติบโตได้ไม่ดี จึงได้มีการปรับปรุงพื้นที่อย่างกว้างขวางตั้งแต่ยุคเอโดะ (ค.ศ. 1603-1868) ถึงยุคโชวะ (ค.ศ. 1926-1989) การก่อสร้างทะฟุกุชิมะลากูนในเมืองนีงาตะกินพื้นที่ขนาดใหญ่ ทำให้พื้นที่ประมาณ 5,800 เฮกเตอร์ลดลงเหลือ 262 เกคเตอร์ บริเวณโดยรอบเป็นอุทยานธรรมชาติที่มีนกป่ามารวมตัวกันและพืชน้ำเจริญเติบโต
หลายคนคงนึกภาพว่าจังหวัดนีงาตะเป็นดินแดนแห่งหิมะ อันที่จริงนีงาตะเป็นจังหวัดมีหิมะตกหนักที่สุดแห่งหนึ่งในบรรดาจังหวัดในญี่ปุ่น โดย 70% ของพื้นที่ทั้งหมดถูกกำหนดให้เป็นเขตหิมะตกหนักพิเศษ ยิ่งมรสุมฤดูหนาวรุนแรง หิมะก็ยิ่งตกมากขึ้นในภูเขา ความหนาของหิมะที่มากที่สุดในบางภูมิภาคอาจสูงถึง 3 เมตรเลยทีเดียว ในทางกลับกัน ฤดูร้อนจะยาวนานและมีแดดจัด บันทึกที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าอุณหภูมิสูงสุดเคยถึง 40 องศาเซลเซียสหรือสูงกว่านั้น
ภูมิปัญญาของพื้นที่ปลูกข้าวที่ซ่อนอยู่ในวัฒนธรรมอาหาร
นีงาตะนั้นโชคดีที่มีพื้นที่อุดมสมบูรณ์ซึ่งหล่อเลี้ยงด้วยน้ำสะอาด พร้อมด้วยสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิหลากหลาย ทั้งจังหวัดใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อมดังกล่าวในการเพาะปลูกข้าว โดยพื้นที่ที่มีการปลูกข้าวคิดเป็นประมาณ 10% ของพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัด
จังหวัดนีงาตะเก็บเกี่ยวข้าวได้มากที่สุดในญี่ปุ่น (ในปี 2019 ส่วนในปี 2018 มีมูลค่าการผลิตสูงสุด) มากกว่าจังหวัดฮอกไกโดและอาคิตะ ส่วนใหญ่จังหวัดนี้จะปลูกโคชิฮิคาริ พันธุ์ชินโนะสุเกะใหม่และโคชิอิบุกิก็ได้รับการปลูกกันอย่างแพร่หลายเมื่อไม่นานมานี้
“ไม่ว่าในยุคใด ข้าวก็มักจะอยู่คู่กับวัฒนธรรมอาหารของจังหวัดนีงาตะ ซึ่งเห็นได้ชัดจากความหลากหลายของโมจิ โอยากิ โอโควะ และอาหารอื่นๆ ในสมัยที่ข้าวมีค่า ผู้คนจะทำดังโงะ (เกี๊ยว) โดยผสมข้าว เศษเผือก และถั่วอะซูกิ ภูมิปัญญาชาวบ้านยังคงดำรงอยู่ในรูปแบบของอาหารท้องถิ่น”
นั่นคือสิ่งที่คุณมิจิโกะ โทยามะ จากคณะกรรมการส่งเสริมการปรับปรุงด้านอาหารของจังหวัดนีงาตะกล่าวถึงอาหารของจังหวัดนีงาตะ คณะกรรมการได้จัดตั้งสาขาต่างๆ ขึ้นทั่วจังหวัดนีงาตะและกำลังทำงานเพื่อส่งต่ออาหารท้องถิ่นและอาหารตามเทศกาลให้กับคนรุ่นต่อไป
“เนื่องจากจังหวัดมีพื้นที่ขนาดใหญ่ แม้แต่อาหารชนิดเดียวกันก็ใช้ส่วนผสมและสูตรที่แตกต่างกันไปตามภูมิภาค บางภูมิภาคได้นำวัฒนธรรมอาหารของจังหวัดฟุกุชิมะและโทยามะที่อยู่ใกล้เคียงมาใช้”
วัฒนธรรมอาหารของจังหวัดนีงาตะมีความหลากหลายมาก ต่อไปนี้คืออาหารบางส่วนซึ่งแบ่งออกเป็นสี่พื้นที่ ได้แก่ ภูมิภาคโจเอ็ตสึ ภูมิภาคชูเอ็ตสึ ภูมิภาคคาเอ็ตสึ และเกาะซาโดะ
<ภูมิภาคโจเอ็ตสึ>
ซาซาซูชิจากอิโตอิกาวะซึ่งถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับถิ่นกำเนิดของมันเอง
ภูมิภาคโจเอ็ตสึตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดนีงาตะ ประกอบด้วยสามเมือง ได้แก่ เมืองโจเอ็ตสึ เมืองอิโตอิกาวะ และเมืองเมียวโกะ
เมืองโจเอ็ตสึได้รับการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางทางการเมืองและวัฒนธรรมในยุคนาระเมื่อเมืองหลวงของจังหวัดเอจิโกะและวัดโคคุบุนจิก่อตั้งขึ้นที่นั่น ในช่วงยุคเฮอัน (ค.ศ. 794-1185) มีการเปิดเส้นทางทางบกและทางทะเลเพื่อส่งปลาไปยังเมืองหลวง ปัจจุบัน ท่าเรือนาโอเอ็ตสึของเมืองยังคงเป็นท่าเรือในอ่าวที่สำคัญโดยมีเรือเข้าเทียบท่าประมาณ 1,400 ลำต่อปี นอกจากนี้ยังรองรับสินค้าได้ประมาณ 6.9 ล้านตันต่อปี
การที่พื้นที่นี้มีความชื้นสูงตลอดปีส่งผลให้เกิดวัฒนธรรมอาหารหมักขึ้น ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นนั้นมีความหลากหลายและรวมถึงมิโซะ สึเกะโมโนะ (ผักดองญี่ปุ่น) สาเก ไวน์ และอาหารประเภทอื่นๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ยังมีความเชื่อมโยงกับอาหารท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเคนซังยากิ ซึ่งเป็นข้าวปั้นย่างจุ่มมิโซะ รสชาติที่เผ็ดร้อนของมิโซะทำให้อาหารชนิดนี้เรียกน้ำย่อยและเหมาะสำหรับเป็นอาหารว่างหรืออาหารเย็น
เมืองอิโตอิกาวะตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกสุดของจังหวัด มีพรมแดนติดกับจังหวัดนากาโนะทางทิศใต้ และติดกับจังหวัดโทยามะทางทิศตะวันตก เมืองนี้อุดมไปด้วยธรรมชาติที่หลากหลาย รวมทั้งชายฝั่ง ภูเขา และหุบเขา โดยมีอุทยานแห่งชาติสองแห่งและอุทยานประจำจังหวัดสามแห่งภายในเขตเมือง
ก้นทะเลที่ลาดชันทำให้เป็นพื้นที่ตกปลาที่สมบูรณ์แบบ เมืองนี้มีท่าเรือประมงเจ็ดแห่ง ทำให้มีปูหิมะสีแดง เก็นเกียว (ปลาทะเลน้ำลึก) และกุ้งน้ำลึก อาหารท้องถิ่นอย่างหนึ่งที่ยังหลงเหลืออยู่ในพื้นที่นี้คือซาซาซูชิ หรือซูชิใบไผ่ ซาซาซูชินั้นเสิร์ฟบนใบไผ่และตกแต่งด้วยวัตถุดิบตามฤดูกาลอย่างมีสีสัน จึงนิยมรับประทานกันในเทศกาลและงานเฉลิมฉลองต่างๆ
เพื่อส่งต่อประเพณีนี้ให้มาถึงปัจจุบัน ยุวสมาคมการค้าของเมืองโจเอ็ตสึ ได้กำหนดให้วันที่ 7 กรกฎาคมเป็นวันซาซาซูชิเพื่อดึงดูดผู้คนทั้งในและนอกเมือง ป้ายที่เรียงรายอยู่หน้าร้านค้า ร้านอาหาร และภัตตาคารที่เขียนว่า "อิโตอิคาวะทานาบาตะคือวันซาซาซูชิ" ได้กลายเป็นประเพณีตามฤดูกาลไปเรียบร้อยแล้ว
<ภูมิภาคชูเอ็ตสึ>
เพลิดเพลินกับมะเขือผลกลมนึ่งของนางาโอกะ ซึ่งเป็นวิธีการรับประทานมะเขือที่มีเอกลักษณ์ซึ่งถือกำเนิดในภูมิภาคนี้
ภูมิภาคชูเอ็ตสึประกอบด้วย 14 เมืองใหญ่ เมืองเล็ก และหมู่บ้าน รวมทั้งเมืองวูซาวะซึ่งเป็นฉากในเรื่องนวนิยายเรื่อง Snow Country (ดินแดนหิมะ) ของ ยาสึนาริ คาวาบาตะ เมืองซันโจ ซึ่งดึงดูดความสนใจจากญี่ปุ่นและต่างประเทศในฐานะเมืองแห่งการหลอมโลหะ และเมืองโทคามาจิซึ่งเต็มไปด้วยน้ำพุร้อน
ทางตะวันออกเฉียงใต้ของภูมิภาค มีเมืองอุโอนุมะเป็น “เมืองแห่งน้ำ” โดยมีแม่น้ำอุโอโนะกาวะซึ่งเป็นแม่น้ำระดับหนึ่งและแม่น้ำสาขาไหลผ่าน ฤดูกาลตกปลาอะยุเริ่มทุกเดือนกรกฎาคม เป็นช่วงเวลาที่ผู้ชื่นชอบการตกปลามุ่งหน้าไปยังแม่น้ำเพื่อเหวี่ยงเบ็ดตกปลา
แม้ว่าเมืองอุโอนุมะจะขึ้นชื่อในเรื่องอุโอนุมะ โคชิฮิคาริ (ข้าวญี่ปุ่นเมล็ดสั้น) แต่ก็เป็นพื้นที่ผลิตด้วยเช่นกัน โดยจะมีการเก็บเกี่ยวตั้งแต่ประมาณเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน ในช่วงนอกฤดูกาลจะมีการแจกจ่ายโฮชิคุสะเซนไมที่ตากแดดให้แห้ง เซนไมเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่ปลูกบนภูเขา และจะสูญเสียความเป็นกรดเมื่อสัมผัสกับน้ำจากหิมะ ทำให้มีรสชาติที่เข้มข้น เซนไมโนะนิโมโนะ (เซนไมตุ๋น) ซึ่งทำจากผักตามฤดูกาลจำนวนมาก เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการเฉลิมฉลองปีใหม่ งานแต่งงาน และงานศพ โดยจะช่วยเพิ่มบรรยากาศให้กับงานเฉลิมฉลอง
เนื่องจากมีจำนวนประชากรมากเป็นอันดับสองในจังหวัด เมืองนางาโอกะจึงมีบทบาทสำคัญในภูมิภาคชูเอ็ตสึ เมืองนี้กำลังสร้างระบบการรับรอง “ผักนางาโอกะ” เพื่อตรวจสอบคุณค่าของผักพื้นบ้านที่ปลูกในภูมิภาค
เกณฑ์การรับรองมีอยู่สามประการ ได้แก่ (1) ผักที่มีมานานแล้วและหาได้เฉพาะในนางาโอกะเท่านั้น (2) ผักที่สามารถพบได้ทุกที่ แต่เมื่อปลูกในนางาโอกะจะอร่อย และ (3) ผักที่เป็นของใหม่แต่มีการรับประทานด้วยวิธีที่มีเอกลักษณ์ในนางาโอกะ
ผักสิบหกชนิดได้รับการรับรองตามมาตรฐานเหล่านี้ (ณ เดือนตุลาคม 2020) นางาโอกะคินชาคุนาซึ เป็นมะเขือผลกลมอวบอ้วนที่เริ่มปลูกในช่วงกลางยุคเมจิ (ค.ศ. 1868-1912) ขณะที่เดือนกรกฎาคมใกล้เข้ามา เมื่อฤดูกาลเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิเต็มที่ ผลมะเขือจะผลิดอกออกผลสะพรั่งแม้จะร้อนอบอ้าวในฤดูร้อน แม้ว่าจะนำมาย่างหรือทอดก็อร่อย แต่การรับประทานในสไตล์ของนางาโอกะนั้นคือการนึ่ง
คินชาคุนาซึปอกเปลือกนี้ปรุงด้วยการนึ่งในหวดไม้ไผ่หรือภาชนะนึ่งอื่นๆ รสชาติอูมามิจะกระจายในปากเมื่อคุณกิน รสชาติที่เรียบง่ายจะทำให้คุณกินเรื่อยๆ จนคำสุดท้าย
<ภูมิภาคคาเอ็ตสึ>
อาหารที่ปรุงที่บ้าน สิ่งที่ขาดไม่ได้บนโต๊ะอาหารของชาวนีงาตะ
ภูมิภาคาเอ็ตสึประกอบด้วย 12 เมืองใหญ่ เมืองเล็ก และหมู่บ้านที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองนีงาตะซึ่งเป็นเมืองหลวงของจังหวัด ทางตอนเหนือของจังหวัดคือเมืองมุราคามิ ซึ่งเป็นเมืองที่มีการตกปลาแซลมอนมาช้านาน “อิโยโบยะ” ซึ่งเป็นชื่อที่ชาวประมงเรียกปลาแซลมอนนั้นแปลว่า “ปลาที่อยู่ท่ามกลางปลา” ในภาษาถิ่นมุราคามิ ปลาแซลมอนของชาวบ้านที่นี่โดดเด่นกว่าอาหารทั้งหมด
แม่น้ำมิโอโมเตะและโอคาวะที่ไหลผ่านเมืองมุราคามิทำหน้าที่เป็นแหล่งตกปลาของเมือง ในฤดูใบไม้ร่วง มีการวางกับดักในแม่น้ำมิโอโมเตะโดยใช้รั้วที่เรียกว่า “อุราอิ” ในช่วงฤดูนี้ ผู้คนจะตกปลาโคโดที่แม่น้ำโอคาวะด้วย โดยพวกเขาจะล่อปลาแซลมอนให้เข้าไปในโครงไม้ขนาด 1 ถึง 2 เมตร
ว่ากันว่าเมืองมุราคามิมีอาหารที่ทำจากปลาแซลมอนมากกว่า 100 รายการ อาหารแย่างหนึ่งที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือ ปลาแซลมอนยากิซึเกะซึ่งปลาแซลมอนที่จับมาสดๆ นำมาย่างและจุ่มในน้ำซุป อาหารท้องถิ่นชนิดนี้ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะของมุราคามิใช้ประโยชน์จากปลาแซลมอนอย่างเต็มที่ และยังมีการเสิร์ฟในรูปแบบอาหารดองอีกด้วย
คาคิอาเอะ นามาซึ เป็นอาหารท้องถิ่นที่สืบทอดในภูมิภาคคาเอ็ตสึเป็นหลัก เป็นอาหารที่ใส่น้ำส้มสายชูทำจากดอกเบญจมาศคาคิโนโมโตะที่รับประทานได้ ลองกัดดูสักคำและเพลิดเพลินไปกับความขมของกลีบดอกไม้ที่ติดค้างอยู่บนลิ้นของคุณหลังจากรสเปรี้ยวที่สดชื่น กล่าวกันว่าดอกเบญจมาศรับประทานได้มีต้นกำเนิดในยุคเอโดะ ปัจจุบันนี้ก็ยังมีการจำหน่ายเป็นอาหารทั่วไป เมื่อถึงฤดูในเดือนตุลาคม จะมีดอกเบญจมาศรับประทานได้ที่บรรจุหีบห่อวางเรียงรายตามชั้นวางของในซูเปอร์มาร์เก็ต ดูคล้ายกับร้านขายดอกไม้
“ดอกเบญจมาศรับประทานได้นั้นเต็มไปด้วยรสชาติและทำให้ผักดูสวยงามยิ่งขึ้น” ฮิโรกิ มุรามัตสึ จากสมาคมเชฟกลางเมืองนีงาตะกล่าว เขากำลังฝึกอบรมพ่อครัวรุ่นต่อไปในขณะที่ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าพ่อครัวของอิจิชิเมะซึ่งเป็นร้านอาหารแบบเรียวเทในเมืองนีงาตะ แม้ว่าอิจิชิเมะจะภูมิใจนำเสนออาหารไคเซกิที่ใช้อาหารทะเลและผักตามฤดูกาลจำนวนมาก แต่ลูกค้าขาประจำบางคนชื่นชอบนปเปะของที่ร้านนี้มากกว่า
“นปเปะเป็นสตูว์ที่ทำจากพืชประเภทหัวชนิดต่างๆ โดยเน้นที่เผือกเป็นหลัก และมีการรับประทานกันทั่วทั้งจังหวัด เป็นเรื่องน่าสนใจที่เครื่องปรุง ส่วนผสม และแม้แต่วิธีการหั่นส่วนผสมในแต่ละภูมิภาคนั้นแตกต่างกัน”
นปเปะอาจมีชื่อเรียกอีกอย่างว่านปเปอิจิรุ, โคนิโมะ, โคคุโช, ไดไก เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภูมิภาค อิจิชิเมะได้ทำให้อาหารสไตล์โฮมเมดที่โด่งดังนี้ให้เป็นสิ่งที่มีเพียงร้านอาหารเรียวเทเท่านั้นที่สามารถทำได้ โดยเสิร์ฟในชามรูปค้อนขนาดเล็กที่มีปลาแซลมอนและคินุกายะ (ถั่วชนิดหนึ่ง) เพื่อสร้างสีสัน
“ส่วนที่ดีที่สุดของนปเปะคือ เราสามารถเสิร์ฟมันแบบไหนก็ได้ตามใจชอบ ความยืดหยุ่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นปเปะได้รับความนิยมอย่างมาก”
<เกาะซาโดะ>
วัฒนธรรมด้านอาหารที่ได้รับการหล่อเลี้ยงบนเกาะอันโดดเดี่ยวที่อยู่ใกล้กับธรรมชาติ
ขึ้นเรือที่ท่านีงาตะ แล้วคุณจะมาถึงเกาะซาโดะที่รายล้อมไปด้วยน้ำทะเลสีฟ้าครามภายในหนึ่งชั่วโมง ซาโดะเป็นเกาะโดดเดี่ยวที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น โดยมีพื้นที่รวม 855.34 ตร.กม. เทือกเขา โอซาโดะและโคซาโดะสูงตระหง่านทอดยาวจากตะวันออกเฉียงเหนือไปตะวันตกเฉียงใต้ ขนาบข้างด้วยที่ราบคุนินากะ ทั้งเกาะรวมทั้งบริเวณทะเล ได้รับการรับรองให้เป็นอุทยานธรณีในปี 2013 มีจุดชมวิวให้เพลิดเพลินได้ทั่วทั้งเกาะ
นอกจากนี้ เกาะซาโดะยังปรากฏในตำนานการเกิดของประเทศในโคจิกิ (ตำราที่เก่าแก่ที่สุดเล่มหนึ่งของญี่ปุ่น) อีกด้วย และมีการค้นพบสิ่งประดิษฐ์ที่มีอายุมากกว่า 10,000 ปีที่ซากปรักหักพังของเกาะ เกาะแห่งนี้เป็นที่ลี้ภัยของขุนนางที่พ่ายแพ้ในข้อพิพาททางการเมืองมาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงยุคกลาง ในยุคเอโดะ มันช่วยส่งเสริมการเงินของโชกุนในฐานะเหมืองทองคำ ปัจจุบันเกาะซาโดะได้เปลี่ยนไปตามยุคสมัย และทุกวันนี้มันเป็นสถานที่พักผ่อนยอดนิยมแห่งหนึ่งของจังหวัดนีงาตะ
อุตสาหกรรมประมงของที่นี่เฟื่องฟูตั้งแต่อดีตนานมาแล้ว โดยครึ่งหนึ่งของท่าเรือประมง 64 แห่งในจังหวัดนั้นกระจุกตัวอยู่ที่เกาะซาโดะ ท่าเรือประมงที่นี่มีทุกขนาดตั้งแต่ใหญ่ไปจนถึงเล็ก สามารถจับอาหารทะเลได้ทุกประเภทตลอดทั้งปี เช่น ปลาหมึกหอกในฤดูใบไม้ผลิ ปลาหางเหลืองในฤดูร้อน และกุ้งในฤดูใบไม้ร่วง
ในขณะที่ผู้คนบนแผ่นดินใหญ่รับประทานปลาแซลมอนในช่วงวันหยุดปีใหม่ ชาวเกาะซาโดะจะรับประทานปลาหางเหลือง เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการที่พวกเขาใช้อวนจับปลาในการจับปลาหางเหลือง และขุนนางเกียวโตที่ถูกเนรเทศได้นำวัฒนธรรมอาหารของภูมิภาคคันไซมายังเกาะแห่งนี้
อิโงะเนริเป็นอาหารท้องถิ่นอีกอย่างหนึ่งที่สืบทอดกันมาในเกาะซาโดะเป็นหลัก ส่วนประกอบเดียวของอาหารชนิดนี้คือสาหร่ายที่เรียกว่าอิโงะคุสะ อิโงะเนริทำจากการต้มและละลายอิโงะคุสะแห้ง จากนั้นทำให้เย็นและแข็งตัว หลังจากหั่นสาหร่ายเป็นเส้นแล้ว ให้จุ่มในเมนซึยุและเพลิดเพลินกับอาหารอันโอชะที่มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ของทะเล
เกาะซาโดะยังมีอาหารอื่นๆ อีกมากมายที่ไม่พบบนแผ่นดินใหญ่ เช่น ฟุงุ โนะ โกะ โนะ คะสึซึเกะ ซึ่งทำจากปลาปักเป้า และซาโดะ โนะ นิชิเมะ อาหารที่ปรุงด้วยการเคี่ยวซึ่งมีรสชาติเข้มข้นของน้ำซุปปลาบิน รสชาติจะยิ่งเข้มข้นเมื่อคิดถึงประวัติศาสตร์ของเกาะซาโดะ
“มีอาหารท้องถิ่นมากมายที่ฉันก็ยังไม่คุ้นเคยเหมือนกัน” อย่างที่นางสาวโทยามะกล่าว วัฒนธรรมด้านอาหารของนีงาตะมีการพัฒนาอย่างมีเอกลักษณ์แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค และแหล่งเพาะปลูกข้าวของนีงาตะยังคงเต็มไปด้วยเสน่ห์ที่รอคอยให้มีใครมาค้นพบ