แห่งการรับประทานอาหารบนทิวเขาและแม่น้ำอันอุดมสมบูรณ์ สร้างสรรค์ขึ้นในดินแดนที่ห่างไกลจากทะเล
จังหวัดนางะโนะซึ่งมีอาณาเขตที่ล้อมรอบไปด้วยเทือกเขาที่มีระดับความสูงประมาณ 3,000 เมตร (ประมาณ 9,800 ฟุต) นั้นเรียกได้ว่าเป็น “ดาดฟ้าของญี่ปุ่น” เนื่องจากจังหวัดแห่งนี้มีพื้นที่ทอดยาวครอบคลุมจากเหนือจรดใต้เป็นระยะทางไกลมาก สภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศของจังหวัดจึงแตกต่างกันอย่างยิ่ง ส่งผลให้มีวัฒนธรรมด้านอาหารแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่
ร้อยละแปดสิบของพื้นที่ของนางาโนะประกอบด้วยภูเขาและจังหวัดแห่งนี้ไม่มีทางออกสู่ทะเล ในทางกลับกัน จังหวัดแห่งนี้เต็มไปด้วยผลผลิตอันอุดมสมบูรณ์ของภูเขาและแม่น้ำ ซึ่งรวมถึงผักที่เติบโตบนที่สูง เช่น ผักกาดหอม ปลาแม่น้ำที่จับได้จากแม่น้ำที่น้ำมาจากหิมะละลาย ผลไม้อย่างแอปเปิลและองุ่น และบักวีตชินชูที่โด่งดังระดับประเทศ จังหวัดแห่งนี้ใช้พยายามอย่างแข็งขันที่จะรักษาอาหารท้องถิ่นอันหลากหลายเหล่านี้ไว้สำหรับลูกหลาน
แหล่งที่มาของวิดีโอบางส่วน: เว็บไซต์ข้อมูลวัฒนธรรมอาหารญี่ปุ่น “SHUN GATE”
สนับสนุนสถานที่สำหรับบทความ: ร้านอาหารญี่ปุ่นยูอัน
วัฒนธรรมอาหารที่แตกต่างที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ของนางาโนะ
จังหวัดนางาโนะแบ่งออกเป็นสี่พื้นที่ ได้แก่ โฮคุชิน โทชิน จูชิน และนันชิน ซึ่งแต่ละแห่งมีวัฒนธรรมอาหารท้องถิ่นแตกต่างกันออกไป ความแตกต่างของสภาพอากาศจะปรากฏในส่วนลึกของหิมะที่สะสมในแต่ละปี ทางตอนเหนือ ลมตามฤดูกาลทำให้หิมะตกบ่อยครั้งในฤดูหนาว ในขณะที่ในพื้นที่ทางใต้และตอนกลาง ลมตามฤดูกาลที่พัดผ่านภูเขาจะแห้งและมีแดดจัดต่อเนื่อง การที่มีภูเขาจำนวนมากทำให้ระดับความสูงแตกต่างกันอย่างยิ่ง และคนในท้องถิ่นมักกล่าวว่าในทุกหุบเขามีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน เนื่องจากมีจังหวัดอื่นอีก 8 จังหวัดล้อมรอบ รวมทั้งนีงาตะและโทยามะ พื้นที่ของนากาโนะจึงได้รับอิทธิพลจากจังหวัดที่อยู่ติดกันเช่นกัน ในแถบโฮคุชิน อียามะได้รับอิทธิพลจากเมืองโจเอ็ตสึในนีงาตะ ในขณะที่ในแถบจูชินนั้น คิโซได้รับอิทธิพลจากเอนะและนากัตสึงาวะในเมืองกิฟุ นอกจากนี้ วัฒนธรรมท้องถิ่นที่แตกต่างยังได้รับผลกระทบจากการที่นางาโนะถูกแบ่งออกเป็นเขตศักดินา 11 เขตในยุคเอโดะอีกด้วย
จังหวัดนางาโนะใช้มาตรการต่างๆ เพื่อรักษาและสืบทอดวัฒนธรรมด้านอาหารที่หลากหลายนี้ให้เป็นสินทรัพย์ที่มีค่า ความพยายามดังกล่าวมีประวัติอันยาวนาน และอาหารอย่างเช่น เกี๊ยวโอยากิ โนซาวานะดอง และบะหมี่โซบะที่หั่นด้วยมือได้รับการขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางวัฒนธรรมพื้นบ้านที่จับต้องไม่ได้ของนางาโนะมาตั้งแต่ปี 1983 อาหารเหล่านี้ได้รับเลือกในช่วงเวลาที่ไม่มีจังหวัดอื่นใดมีอาหารที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นทรัพย์สินทางวัฒนธรรมมาก่อน ศาสตราจารย์ฮิโรโกะ นาคาซาวะ จากมหาวิทยาลัยประจำจังหวัดนางาโนะกล่าวว่า “เนื่องจากอาหารเหล่านี้ได้รับเลือกให้เป็นสมบัติทางวัฒนธรรม บะหมี่โซบะชินชูและโนซาวานะจึงกลายเป็นของที่ระลึกยอดนิยมสำหรับผู้คนจากทั่วประเทศ อาหารท้องถิ่นแสนอร่อยชนิดนี้ใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์จากท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี และจะเป็นการสูญเปล่าหากเราไม่ยอมรับความสำคัญของมันว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญของวัฒนธรรมของเรา หรือไม่พยายามส่งต่อให้คนรุ่นหลัง”
เกี๊ยวโอยากิหลากสีสันที่สะท้อนเอกลักษณ์ของพื้นที่
อาหารท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงที่สุดของจังหวัดนางาโนะคือเกี๊ยวยัดไส้ โดยทั่วไปแล้วจะเรียกว่าโอยากิ เกี๊ยวเหล่านี้มีความแตกต่างกันในแต่ละสถานที่จนสามารถนำความหลากหลายมาสร้างแผนที่ได้เลยทีเดียว
ครั้งหนึ่ง ในนางาโนะเคยมีธรรมเนียมรับประทานแป้งหนึ่งมื้อ (แป้งสาลีหรือแป้งบักวีต) จากสามมื้อที่รับประทานในแต่ละวัน จนถึงทุกวันนี้ เมืองนางาโนะยังเป็นผู้ซื้อแป้งสาลีอันดับหนึ่งในญี่ปุ่น (ที่มา: การสำรวจงบประมาณครัวเรือน [ครัวเรือนที่มีคนสองคนขึ้นไป: การใช้จ่ายโดยเฉลี่ยและปริมาณที่ซื้อต่อปีตั้งแต่ปี 2016 ถึง 2018] สำนักงานสถิติของญี่ปุ่น) ผู้คนมักรับประทานโอยากิเป็นอาหารประจำวัน แต่เนื่องจากการ “นวดแป้งเข้าด้วยกัน” มีความหมายอันเป็นมงคล จึงมีการเสิร์ฟโอยากิให้แก่แขกเหรื่อในโอกาสพิเศษและในการชุมนุมอีกด้วย
โอยากิที่ทำจากแป้งสาลีเป็นชนิดที่ขึ้นชื่อที่สุด ทว่าในอดีตมันทำจากแป้งชนิดอื่น ซึ่งรวมถึงเศษแป้งข้าวเจ้า ส่วนผสมของแป้งข้าวโพดและแป้งที่ทำจากรวงข้าวดิบที่เบาบางในบริเวณที่ปลูกข้าวสาลีได้ยาก ส่วนในโทยามะโงะและโอคุชินาโนะจะใช้แป้งบักวีต
ส่วนผสมและวิธีการปรุงโอยากินั้นแตกต่างกันไปตามท้องที่และครัวเรือนด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีกลิ่นอายของวัตถุดิบที่ใช้ตามฤดูกาลอีกด้วย ซึ่งรวมถึงโนซาวานะที่ดองอย่างดีที่นำมาผัด หัวไชเท้าไดคอนหั่นฝอยและตากแห้ง พืชป่าในฤดูใบไม้ผลิ มะเขือในฤดูร้อน มันเทศและน้ำเต้าในฤดูใบไม้ร่วง เราสามารถย่าง นึ่ง หรือทอดโอยากิก็ได้ และในพื้นที่ภูเขานอกเมืองนางาโนะและภูเขาทางทิศตะวันตก โอยากิอาจจะถูกอบอย่างระมัดระวังในเถ้าถ่านของเตาที่ฝังไว้ในพื้น ศาสตราจารย์นาคาซาวะกล่าวถึงเสน่ห์ของโอยากิว่า “มันเป็นอาหารท้องถิ่นอย่างแท้จริง โดยมีทั้งแป้งและไส้ที่ทำจากสิ่งที่เก็บเกี่ยวในบริเวณใกล้เคียง เราสามารถเห็นความแตกต่างของแต่ละครัวเรือนว่าแป้งมีความชื้นและรสชาติของไส้เป็นอย่างไร ส่วนที่สนุกของโอยากิก็คือมันมีไส้หลากหลายรูปแบบ และเราสามารถเลือกได้ตามใจชอบ”
อาหารอีกอย่างที่คล้ายกับโอยากิ ซึ่งนิยมรับประทานเป็นอาหารว่างคือโคเนะสึเกะ ซึ่งทำโดยการผสมข้าวหุงสุกที่เย็นแล้วกับแป้งสาลี นำไปย่าง และปรุงด้วยมิโซะ (เต้าเจี้ยวบด) คุณทาดาฮิโตะ ยูโมโตะ ประธานสมาคมเชฟประจำจังหวัดนางาโนะ และหัวหน้าเชฟที่ร้านอาหารญี่ปุ่นยูอัน เล่าว่า "มีโคเนะสึเกะอยู่ในครัวเสมอเมื่อผมกลับจากโรงเรียน พวกมันมีหลายขนาด ผมจึงเลือกได้ว่าต้องการเท่าไหร่ ตอนนั้นผมอยากกินขนมสไตล์ตะวันตกมาก แต่ตอนนี้ผมคิดว่าโคเนะสึเกะเป็นอาหารว่างที่หรูหรากว่า”
<แถบโฮคุชิน>
ผักดองโนซาวานะ แก่นแท้ของผักดองที่แพร่หลายไปทั่วจังหวัด
โฮคุชินซึ่งทอดยาวไปตามแม่น้ำชิคุมะที่ไหลผ่านใจกลางนางาโนะซึ่งเป็นเมืองหลวงของจังหวัด เป็นสถานที่จัดกิจกรรมมากมายในโอลิมปิกนางาโนะในปี 1998 บริเวณนี้มีสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง รวมถึงวัดเซ็นโคจิและสวนลิงจิโกคุดานิซึ่งมีชื่อเสียงเพราะมีลิงแสมญี่ปุ่นมาอาบน้ำพุร้อน ทางตอนเหนือของแถบนี้ ซึ่งรวมถึงภูเขาทั้งห้าแห่งทางตอนเหนือของชินชูที่ทอดยาวตามแนวชายแดนที่ติดกับนีงาตะ ประสบกับหิมะตกหนักจนบางสถานที่ปิดตัวลงนานถึงห้าเดือน ภาคใต้มีหยาดน้ำฟ้าน้อยและเหมาะสำหรับการเพาะปลูกพืชผลต่างๆ เช่น ข้าวเปลือก ผลไม้ เห็ด และปศุสัตว์
มีการปลูกบักวีตในพื้นที่ต่างๆ ทั่วทั้งจังหวัด แป้งสาลีใช้เป็นสารยึดเกาะในการทำบะหมี่โซบะ แต่ข้าวสาลีนั้นปลูกยากในแถบโฮคุชิน ในโทมิคุระ เมืองอียามะ เส้นโซบะแบบพิเศษนั้นทำโดยใช้เส้นใยจากต้นโอยามะโบะคุจิเป็นสารยึดเกาะ นอกจากนี้ยังมีสไตล์ที่เรียกว่าโซบะหรืออุด้ง “ผ้าขนหนูร้อน” อีกด้วยซึ่งน้ำซุปดาชิจะถูกแทนที่ด้วยน้ำที่คั้นจากหัวไชเท้าไดคอนที่มีรสจัดจ้านรและผสมกับชินชูมิโซะเพื่อทำน้ำซุปสำหรับจุ่ม ชาวซากากิมะจิใช้น้ำหัวไชเท้าที่เรียกกันว่าหัวไชเท้าหนูซึ่งมีรสจัดเป็นพิเศษ หัวไชเท้าหนูมีลักษณะน่ารักเหมือนหนูตามชื่อของมัน ทว่ามีรสชาติที่จัดจ้านมาก! ชาวบ้านใช้คำว่าอามามกกุระเพื่อบรรยายถึงรสชาติอันโดดเด่นที่ได้จากการผสมชินชูมิโซะที่มีรสอ่อนกับหัวไชเท้าไดคอนที่จัดจ้าน
ผักดองเป็นอาหารที่ถนอมไว้ซึ่งจำเป็นสำหรับการผ่านพ้นฤดูหนาวที่รุนแรง “ผู้คนกล่าวกันว่าโนซาวานะจะอร่อยเมื่อเก็บเกี่ยวและดองในช่วงที่มีน้ำค้างแข็งครั้งแรก แต่ก่อนหน้านั้น ฉันกินใบที่ตัดออกมาเป็นส่วนผสมในซุปมิโซะหรือทำเป็นผักดองสับ มันอร่อยเมื่อเป็นสีเขียวและกรุบกรอบ แต่ผักที่ดองนานจนสีเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอำพันก็มีรสชาติที่เข้มข้นเช่นกัน” ศาสตราจารย์นาคาซาวะกล่าว ผักดองโนซาวานะที่หมักนานและนำมาทำเป็นผัดเผ็ดรสหวานก็เป็นที่นิยมสำหรับเป็นไส้โอยากิเช่นกัน
<แถบโทชิน>
ปลาคาร์ปซาคุที่มีคุณค่าทางโภชนาการซึ่งเพาะเลี้ยงในสายน้ำที่สดชื่นของแม่น้ำ
แถบโทชินมีศูนย์กลางอยู่ที่ซาคุไดระและลุ่มน้ำอุเอดะ เมืองอุเอดะมีปริมาณหยาดน้ำฟ้าเฉลี่ยประมาณ 900 มม. (35 นิ้ว) ในแต่ละปี ซึ่งถือว่าต่ำสำหรับประเทศญี่ปุ่น ที่นี่ได้รับแสงแดดมากในทุกปี และเผชิญกับความแตกต่างกันอย่างยิ่งของอุณหภูมิจากกลางวันถึงกลางคืน สภาพภูมิอากาศพื้นที่ห่างชายฝั่งเช่นนี้ทำให้ที่นี่เหมาะสำหรับการปลูกผลไม้ บริเวณที่ราบสูงของเทือกเขายาสึกะตาเกะ ซึ่งรวมถึงหมู่บ้านคาวาคามิทางตอนใต้ เป็นผู้ผลิตผักที่ปลูกในพื้นที่สูงชั้นนำของประเทศ เช่น ผักกาดหอมและกะหล่ำปลี คารุอิซาวะยังเป็นรีสอร์ตฤดูร้อนยอดนิยมอีกด้วย ในขณะที่เมืองอุเอดะขึ้นชื่อว่ามีความเกี่ยวข้องกับยูกิมุระ ซานาดะ ซึ่งเป็นซามูไร
สำหรับชาวนางาโนะที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล ปลาแม่น้ำเป็นแหล่งโปรตีนที่มีคุณค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาคาร์ปถือเป็นปลามงคลเนื่องด้วยอิทธิพลจากตำนานจีนเรื่องหลงเหมิน ซึ่งปลาคาร์ปที่ฟันฝ่าไปยังต้นน้ำได้สำเร็จจะกลายเป็นมังกร จึงมีการเสิร์ฟปลาคาร์ปเป็นอาหารพิเศษในวันส่งท้ายปีเก่าและในช่วงเทศกาลฤดูใบไม้ร่วง การเพาะพันธุ์ปลาคาร์ปในพื้นที่ซาคุเริ่มขึ้นในปีค.ศ. 1825 เมื่อทันเอมอน อุซาตะ ซึ่งเป็นพ่อค้าผ้า นำปลาคาร์ปจากแม่น้ำโยโดะในโอซาก้ากลับมาบ้าน ชาวนาที่อาศัยอยู่ในซาคุไดระซึ่งอากาศหนาวจัดจนทำให้ไม่สามารถปลูกพืชผลได้ปีละสองครั้ง จึงเริ่มเลี้ยงปลาคาร์ปในนาข้าวเพื่อประกอบอาชีพเสริม ปลาคาร์ปที่เลี้ยงในลำธารที่เย็นและใสของแม่น้ำชิคุมะซึ่งได้รับอาหารจากลำธารใต้ดินจากยาสึกะตาเกะมีเนื้อแน่นและปัจจุบันมีชื่อเรียกว่าซาคุโงอิ เมื่อทำความสะอาดปลาคาร์ปจะต้องเอาเฉพาะถุงน้ำดีออกอย่างระมัดระวังเพราะปลาคาร์ปไม่มีกระเพาะ “โคอิโคกุเป็นอาหารท้องถิ่นที่มีคุณค่าทางโภชนาการซึ่งปลาคาร์ปจะถูกเคี่ยวอย่างทั่วถึงเพื่อดึงรสชาติออกมา การกินโคอิโคกุจะทำให้มีพลังงาน ดังนั้นจึงมีธรรมเนียมในการทำอาหารชนิดนี้ให้สตรีมีครรภ์และคุณแม่หลังคลอด” ศาสตราจารย์นาคาซาวะกล่าว ปัจจุบันมีร้านอาหารมากมายในซาคุที่เสิร์ฟอาหารที่ทำจากปลาคาร์ป
องค์ประกอบสำคัญของโคอิโคกุคือชินชูมิโซะ ซึ่งทำจากโคจิข้าวและถั่วเหลือง ไม่มีการใช้น้ำซุปดาชิในการทำโคอิโคกุ แต่ปรุงด้วยมิโซะและรสชาติที่สกัดโดยการเคี่ยวปลาคาร์ปให้ทั่วเท่านั้น ตามตารางสถิติสินค้าโภคภัณฑ์ปี 2019 โดยกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม นางาโนะเป็นอันดับหนึ่งในญี่ปุ่นในการผลิตมิโซะ โดยมีมูลค่าการจัดส่ง 67.35 พันล้านเยน และมีอาหารท้องถิ่นจำนวนมากที่ปรุงรสด้วยมิโซะ ศาสตราจารย์นาคาซาวะกล่าวว่า “มีคำกล่าวว่าต้องเตรียมทำมิโซะเมื่อดอกเคอร์เรียผลิบาน สมัยก่อนแต่ละบ้านจะทำกินเอง โดยใช้เป็นทั้งเครื่องปรุงและเป็นกับข้าว โคจิที่เหลือจะนำมาทำสาเกหวาน หรืออาจเติมเกลือลงไปเพื่อถนอมอาหาร มิโซะเป็นองค์ประกอบสำคัญของวิถีชีวิตของชาวนางาโนะ”
<แถบจูชิน>
ซุงกิซึเกะแห่งคิโซคือผักดองที่ไม่ใช้เกลือ
แถบจูชินเป็นส่วนตะวันตกของนางาโนะ อยู่ติดกับเทือกเขาแอลป์แห่งญี่ปุ่นทางตอนเหนือ ภูมิประเทศตั้งแต่เหนือจรดใต้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ตั้งแต่บริเวณคิโซที่ล้อมรอบด้วยภูเขาสูงชันที่ซึ่งการเพาะปลูกข้าวเป็นเรื่องยากลำบากไปจนถึงหุบเขาอันงดงามอย่างอะซุมิโนะและมัตสึโมโตะ ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นพื้นที่ผลิตธัญพืชชั้นนำของจังหวัด ในอะซุมิโนะที่ซึ่งหิมะจากเทือกเขาแอลป์ทางตอนเหนือละลายไหลทะลักออกมา มีการปลูกวาซาบิที่เจริญงอกงาม ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับบะหมี่ชินชูโซบะ
คิโซเป็นพื้นที่ภูเขาที่ครั้งหนึ่งเคยรุ่งเรืองในฐานะเมืองที่มีโรงแรมขนาดเล็กเรียงรายอยู่ริมถนนนากะเซนโดในยุคเอโดะ ปัจจุบันนี้ ที่นี่ยังคงรักษาลักษณะทางประวัติศาสตร์ไว้และทำให้ผู้มาเยือนรู้สึกราวกับว่าพวกเขาได้ก้าวเข้าสู่ช่วงที่ย้อนเวลากลับไปสู่ยุคนั้น การมีภูเขาที่สูงตระหง่านอย่างเช่น ออนทาเกะที่มีระดับความสูง 3,067 ม. (ประมาณ 10,062 ฟุต) หมายความว่าบริเวณนี้จะมีอากาศหนาวจัดมากกว่าพื้นที่อื่นๆ ในจังหวัดนางาโนะ เนื่องจากมีพื้นที่ราบน้อยและปลูกข้าวได้ยาก จึงมีการรับประทานธัญพืชอื่นๆ เป็นอาหารหลัก
ด้วยเหตุนี้ คิโซจึงเป็นแหล่งกำเนิดของอาหารที่เรียกว่าซุงกิซึเกะ ซุงกิซึ่งหมักโดยไม่ใช้เกลือแต่ใช้แบคทีเรียจากกรดแลคติกตามธรรมชาติ เกิดขึ้นเนื่องจากเกลือมีคุณค่าสูงในพื้นที่ภูเขาที่มีหิมะปกคลุม ก้านหัวผักกาดแดงที่ใช้เป็นวัตถุดิบจะถูกนำไปล้างในน้ำร้อนที่มีความเค็มระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นการกระตุ้นแบคทีเรียกรดแลคติกที่มีอยู่ในใบตามธรรมชาติ ซุงกิซึเกะจากปีที่แล้วและของเหลวก็ถูกเติมเข้าไปด้วย และมีการจัดการอุณหภูมิเพื่อส่งเสริมการหมัก เป็นเพราะรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ซึ่งมีรสเปรี้ยวและเผ็ดเป็นพิเศษ ศาสตราจารย์นาคาซาวะกล่าว “มีแฟนๆ ที่อยู่นอกจังหวัดมากขึ้นเรื่อยๆ และยอดขายก็เพิ่มขึ้น แต่ซุงกิที่ดีนั้นทำมาจากหัวผักกาดแดงที่ปลูกในคิโซเท่านั้น ก่อนหน้านี้ซุงกิซึเกะมีจำหน่ายเฉพาะในคิโซ แต่ตอนนี้มีจำหน่ายทางออนไลน์และที่ร้านขายของชำซึ่งเรียกว่า ‘ร้านเสาอากาศ’ ซึ่งขายของขึ้นชื่อในโตเกียว ซุงกิได้รับความนิยมอย่างมากจนมีหัวผักกาดแดงไม่เพียงพอสำหรับทำ และหากวางจำหน่ายในเดือนพฤศจิกายนก็จะขายหมดภายในเดือนกุมภาพันธ์ มันเป็นผักดองที่น่าอัศจรรย์ที่คุณไม่สามารถหยุดกินได้เมื่อได้ลิ้มลองแล้ว”
<แถบนันชิน>
วิธีแช่แข็งของซูวะโดยใช้อากาศที่หนาวเย็น
แถบนันชินเป็นผืนดินที่ยาวและแคบตามแนวแม่น้ำเทนริว ทอดยาวตั้งแต่เทือกเขาแอลป์ตอนกลางไปจนถึงเทือกเขาแอลป์ตอนใต้ ในขณะที่บริเวณซูวะทางตอนเหนือมีอากาศที่หนาวเย็นและแห้งอย่างรุนแรง บริเวณอินะทางใต้กลับมีภูมิอากาศแบบแปซิฟิกและอบอุ่นเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆ ทะเลสาบซูวะซึ่งทอดยาวผ่านเมืองโอคายะ เมืองซูวะ และเมืองชิโมซุวะ บางครั้งเรียกก็เรียกกันว่าทะเลซูวะ เราสามารถจับปลาไหลและปลาตัวเล็กๆ ได้ที่นี่ นอกจากนี้ ทะเลสาบแห่งนี้ยังมีขึ้นชื่อเรื่องโอมิวาตาริ ซึ่งเป็นรอยร้าวที่ก่อตัวขึ้นบนพื้นผิวที่กลายเป็นน้ำแข็งของทะเลสาบในช่วงเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์
ในบริเวณซูวะผู้คนได้พัฒนาวิธีการแช่แข็งและถนอมอาหารโดยใช้สภาพอากาศที่แห้งและหนาวเย็น ผลิตภัณฑ์เหล่านี้รวมถึงหัวไชเท้าไดคอนแช่แข็งและโมจิแห้งแช่แข็ง แต่ที่มีชื่อเสียงที่สุดคือวุ้นคันเต็น ตามตารางสถิติสินค้าโภคภัณฑ์ปี 2019 โดยกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม นางาโนะเป็นผู้ผลิตคันเต็นอันดับหนึ่งโดยมียอดจัดส่ง 8.511 พันล้านเยน จะมีการผลิตคันเต็นขึ้นในช่วงที่หนาวที่สุดของปี ตั้งแต่กลางเดือนธันวาคมถึงประมาณเดือนมีนาคม พื้นที่ที่เรียงรายไปด้วยนาข้าวที่เต็มไปด้วยคันเต็นตากแดดให้แห้งที่ยังไม่ได้แปรรูปเป็นภาพที่เห็นได้ทั่วไปในฤดูหนาว คันเต็นนั้นใช้ทำเทนโยเสะ ซึ่งเป็นอาหารสำหรับจัดเลี้ยงในงานสำคัญต่างๆ ของครอบครัว หรือสำหรับเทศกาลออนบาชิระอันยิ่งใหญ่ที่ศาลเจ้าซูวะ อาหารท้องถิ่นชนิดนี้ช่วยให้ผู้ที่ปรุงมันขึ้นมาได้แสดงความเป็นตัวของตัวเองทั้งในด้านรสชาติ รูปลักษณ์ และวิธีการทำ สามารถเพิ่มไข่หรือเต้าหู้ลงไปได้ และในโอกาสเฉลิมฉลอง อาหารชนิดนี้จะเป็นสีแดง
ลุ่มแม่น้ำอินะที่ทอดยาวไปตามแม่น้ำเทนริวเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชผลอันหลากหลายเนื่องจากมีสภาพอากาศที่อุ่นขึ้นและปริมาณน้ำที่อุดมสมบูรณ์ พื้นที่นี้มั่งคั่งจากการเลี้ยงไหมตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1910 จนถึงกลางทศวรรษที่ 1920 และมีพื้นที่ปลูกหม่อนที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ข้าวที่ปลูกในหุบเขาอินะใช้ทำโกเฮโมจิ มีการรับปะทานโกเฮโมจิในแถบจูชินอีกด้วย แต่มีความแตกต่างในสิ่งที่ใช้ราดโมจิ ในลุ่มน้ำอินะจะใช้งาขี้ม้อนและพริกไทยญี่ปุ่น ในบริเวณริมแม่น้ำเทนริวที่มีการปลูกไผ่ จะมีการใช้ไม้ไผ่เสียบโมจิทรงกลม ในขณะที่ในหมู่บ้านบนภูเขาที่มีป่าไม้ที่เจริญงอกงาม โมจิชิ้นเล็กๆ จะติดอยู่กับแผ่นไม้ที่มีกลิ่นหอมสำหรับย่าง เช่น ฮิโนกิหรือซาวาระไซเปรส แม้ว่าปัจจุบันโกเฮโมจิจะโด่งดังในฐานะเป็นของว่างหรืออาหารมื้อเบาๆ แต่ครั้งหนึ่งเคยมีการถวายที่ศาลเจ้าในช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วงเพื่ออธิษฐานขอพรหรือขอบคุณสำหรับการเก็บเกี่ยวที่อุดมสมบูรณ์
We hope you’ll enjoy the local cuisine that Nagano’s varied landscape produces.คุณยูโมโตะกล่าวว่าที่ร้านยูอันมีการเสิร์ฟโกเฮโมจิเป็นอาหารท้องถิ่นของจังหวัดนางาโนะ ในฐานะที่เป็นชาวเมืองซูซากะในแถบโฮคุชิน เขามีความรักในการทำอาหารบ้านเกิดอย่างลึกซึ้ง “ในฐานะพ่อครัวในท้องถิ่น ผมต้องการใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อมของส่วนผสมเหล่านี้ ซึ่งผมมีประสบการณ์โดยตรงในการสร้างสรรค์อาหารพื้นเมือง อาหารท้องถิ่นไม่ฉูดฉาดแต่มีองค์ประกอบของวาบิซาบิ ความเรียบง่ายช่วยยกระดับของอาหารท้องถิ่น ผมหวังว่าจะได้ส่งต่อสิ่งนั้นไปยังคนรุ่นต่อๆ ไป” เราหวังว่าคุณจะเพลิดเพลินกับอาหารท้องถิ่นที่ภูมิประเทศอันหลากหลายของนางาโนะผลิตขึ้น