วัฒนธรรมอาหารจังหวัดไค (จังหวัดยามานาชิ) ที่ก่อร่างขึ้นจากเส้นทางโคชูไคโดและการขนส่งทางเรือในแม่น้ำฟูจิ
จังหวัดยามานาชิ (Yamanashi) ตั้งอยู่เกือบใจกลางเกาะฮอนชู (Honshu) และโอบล้อมไปด้วยภูเขา ทางฝั่งตะวันตกมีเทือกเขาเจแปนแอลป์ตอนใต้ (Southern Japanese Alps) ทอดตัวยาวตั้งแต่เหนือจรดใต้ ตอนเหนือมีเทือกเขาคันโต (Kanto Mountains) ตั้งตระหง่านไปจนถึงฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ ทางฝั่งตะวันออกเฉียงใต้เป็นที่ตั้งของภูเขาไฟฟูจิที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี 2013 ส่วนทางตะวันตกเฉียงเหนือก็ยังมีเทือกเขายัตซึกาทาเกะ (Yatsugatake Mountains) ที่มีตีนเขากว้างตั้งมั่นราวกับกำลังเผชิญหน้ากับภูเขาไฟฟูจิ นอกจากนี้ ที่นี่ยังมีเส้นทางแม่น้ำคลาส A (ตามระบบการจำแนกแม่น้ำของญี่ปุ่น) ถึง 3 สาย ได้แก่ เส้นทางแม่น้ำฟูจิ (Fuji River) เส้นทางแม่น้ำซากามิ (Sagami River) และเส้นทางแม่น้ำทามะ (Tama River) ที่ไหลลงสู่อ่าวสุรุกะ (Suruga Bay) และอ่าวซากามิ (Sagami Bay)
ผู้อนุเคราะห์เนื้อหาส่วนหนึ่งในวิดีโอ: "SHUN GATE" เว็บไซต์ให้ข้อมูลวัฒนธรรมอาหารญี่ปุ่น
สภาพภูมิอากาศแบบภูเขาทำให้ "8 ผลไม้เมืองไค" ออกผลงดงาม
เนื่องจากมีภูมิประเทศเป็นภูเขา จังหวัดนี้จึงเต็มไปด้วยจุดชมวิวสวยๆ ไม่ว่าจะเป็นหุบเขาโชเซนเคียว (Shosenkyo Gorge) ในเมืองโคฟุ (Kofu) หรือหุบเขานิชิซาวะ (Nishizawa) ในเมืองยามานาชิ ฯลฯ เพราะตั้งอยู่ห่างจากชายฝั่ง อุณหภูมิสภาพอากาศระหว่างวันของที่นี่จึงแตกต่างกันมาก และยังมีปริมาณน้ำฝนต่อปีน้อย นอกจากนี้ ช่วงเวลาที่มีแดดในแต่ละปีก็ยาวนานกว่าในจังหวัดอื่นๆ ตัวอย่างเช่นเมืองโฮคุโตะ (Hokuto) ได้รับการบันทึกว่าช่วงเวลาที่แดดออกมีถึง 2,500 ชั่วโมง ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในประเทศมากกว่า 500 ชั่วโมงเลยทีเดียว และสภาวะทางธรรมชาติเหล่านี้ก็เหมาะแก่การปลูกผลไม้อย่างยิ่ง จังหวัดนี้จึงปลูกผลไม้ได้นานาชนิด อาทิเช่น เชอร์รี่ ลูกพลับจีน แอปเปิ้ล และลูกพลัม โดยผลไม้ที่ขึ้นชื่อเป็นพิเศษของจังหวัด ได้แก่ องุ่น พีช และลูกพลัม ซึ่งที่นี่ยังเป็นแหล่งเพาะปลูกที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นอีกด้วย (แหล่งข้อมูล: "แบบสำรวจสถิติพืชผลทางการเกษตร (แบบสำรวจสภาวะพืชผล - ไม้ผล), สถิติการผลิตและจัดส่งผลไม้ ปี 2020 (รายงานฉบับที่ 1)" โดยกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง)
จังหวัดยามานาชิ หรือที่รู้จักกันในนามจังหวัดไคตั้งแต่ในยุคริทสึเรียว (Ritsuryo) ดูเหมือนจะวางรากฐานการเป็น "อาณาจักรผลไม้" มาตั้งแต่สมัยโบราณ เพราะบันทึกจากยุคเอโดะ (Edo) ก็มีการพูดถึง "8 ผลไม้เมืองไค" ซึ่งเป็นคำเรียกขานรวมๆ ของผลิตผลขึ้นชื่อประจำจังหวัดไค อันได้แก่ องุ่น ลูกแพร์ ลูกพลับจีน พีช เกาลัด แอปเปิ้ล ทับทิม และวอลนัท (หรือที่ทฤษฎีหนึ่งระบุว่าเป็นเมล็ดแปะก๊วย) แม้เราจะไม่ทราบว่าใครเป็นผู้คัดสรรผลไม้ 8 ชนิดนี้ แต่ผู้คนสมัยเอโดะก็รู้จักมักคุ้นกับผลไม้เมืองยามานาชิ ไม่ต่างไปจากยุคปัจจุบัน
สมัยก่อน การขนส่งไปยังเมืองเอโดะซึ่งเป็นศูนย์กลางการบริโภคขนาดใหญ่ จะใช้การขนส่งทางเรือในแม่น้ำฟูจิและถนนโคชูไคโด (Koshu Kaido) ถนนโคชูไคโดเป็นเส้นทางที่รัฐบาลเอโดะพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ทางการทหาร โดยมีจุดเริ่มต้นจากเขตนิฮอนบาชิ (Nihonbashi) ในยุคเอโดะ และตัดผ่านเขตไนโตะ ชินจูกุ (Naito Shinjuku), เขตฮาชิโอจิ (Hachioji) และเขตโคฟุ (Kofu) จนไปรวมกับถนนนากาเซนโดะ (Nakasendo) ที่สถานีชิโมซุวะ-ชูกุ (Shimosuwa-shuku) รวมแล้วมีระยะทางประมาณ 208.5 กม. และมีโรงเตี๊ยมกว่า 45 แห่งตั้งเรียงรายตลอดทาง สินค้าที่จัดส่งไปยังเอโดะก็อาศัยม้าจากแต่ละโรงเตี๊ยมเหล่านี้
จังหวัดยามานาชิ มีหนึ่งในอาหารพื้นเมืองที่ใครก็ไม่อาจลืม นั่นคือหอยเป๋าฮื้อตุ๋น ซึ่งเป็นการนำหอยเป๋าฮื้อไปตุ๋นกับซอสถั่วเหลืองรสโอชะ ถ้าถามว่าในจังหวัดที่ไม่มีทะเลเช่นนี้ เมนูนี้เข้าไปแพร่หลายได้อย่างไร ว่ากันว่าเมนูนี้ถือกำเนิดขึ้นในปลายยุคเอโดะ เมื่อผู้ค้าส่งปลาจากท่าเรือนุมะซุ (Numazu Port) ส่งหอยเป๋าฮื้อจากหมู่เกาะอิซุ (Izu Islands) ไปยังจังหวัดไค โดยก่อนอื่นเขาได้นำหอยเป๋าฮื้อดิบไปหมักกับซอสถั่วเหลืองแล้วเก็บใส่ถังไว้ จากนั้นจึงพาขึ้นหลังม้าแล้วค่อยๆ ขนส่งไปตามเส้นทาง หลังสิ้นสุดการเดินทางอันยาวนาน หอยเป๋าฮื้อก็ชุ่มฉ่ำไปด้วยรสชาติและกลมกล่อมได้ที่ เหล่าซามูไรของโชกุนซึ่งประจำการอยู่ที่ปราสาทโคฟุ (Kofu Castle) ต่างยกย่องสรรเสริญเมนูนี้ จนชื่อเสียงเล่าลือไปถึงเมืองเอโดะและเป็นที่รู้จักแพร่หลายในที่สุด แม้กระทั่งปัจจุบัน เนื้อหอยลายตุ๋นก็ยังเป็นเมนูที่นิยมทานกันในวันขึ้นปีใหม่ วันแต่งงาน รวมถึงงานเฉลิมฉลองอื่นๆ และยังเป็นของขวัญที่มีคุณค่าสูงอีกด้วย ไม่เพียงเท่านั้น เหล่าผู้ผลิตในท้องถิ่นยังมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองให้มีรสชาติไม่เหมือนใคร เรียกได้ว่าเป็นเมนูพิเศษในทุกยุคทุกสมัยอย่างแท้จริง
เครื่องโม่แป้งและโรงสีข้าวพลังน้ำทำให้การบริโภคอาหารที่ทำจากแป้งกลายเป็นวัฒนธรรมที่แพร่หลาย
"โฮโต" (Hoto) เป็นอาหารของจังหวัดยามานาชิที่โด่งดังไปทั่วประเทศ เมนูนี้ใช้เส้นที่มีลักษณะแบนกว้างทำจากข้าวสาลี ซึ่งจะนำไปเคี่ยวกับน้ำสต็อคมิโสะที่มีส่วนผสมเพิ่มรสชาติ เช่น ฟักทอง เผือก และแครอท ถ้ามองผ่านๆ เมนูนี้อาจจะดูเหมือนอุด้ง แต่สิ่งหนึ่งที่ต่างกันชัดเจนคือ โดยปกติแล้วการทำเส้นอุด้งจะมีการเติมเกลือในแป้งโด ก่อนจะวางทิ้งไว้ให้เข้าที่เพื่อให้ได้เส้นนุ่มหนึบหนับ แต่ในการทำโฮโตนั้น เมื่อได้เส้นแล้วเราจะใส่เส้นลงในหม้อเคี่ยวทันทีโดยไม่ต้องเติมเกลือ ขณะเคี่ยว ตัวเส้นจะค่อยๆ คลายตัวออกจากกัน และน้ำซอสก็จะเริ่มหนืดขึ้น เสน่ห์เฉพาะตัวของโฮโตจึงอยู่ที่การเคี่ยวเส้น ผัก และน้ำซอสจนเข้ากันกำลังดี ซึ่งหาไม่ได้จากอุด้ง
เมนูที่ทำจากแป้งดังเช่น "โฮโต" ล้วนมีบทบาทสำคัญในวัฒนธรรมอาหารของจังหวัดยามานาชิ ที่นี่มีอาหารทุกรูปแบบ ตั้งแต่เมนูทั่วไปอย่างอุด้งและโซบะ ไปจนถึงอาหารท้องถิ่น เช่น แพนเค้ก "อุซุยากิ" (Usuyaki), พาสต้าเส้นสั้น "มิมิ" และ "โยชิดะอุด้ง" เส้นเหนียวนุ่ม (Yoshida Udon) อาหารประเภทแป้งที่เข้ามาแทรกซึมในชีวิตประจำวันเหล่านี้ มีเบื้องหลังที่มาจากภูมิประเทศอันเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดนี้นั่นเอง คุณเซจิ นากายามะ (Seiji Nakayama) ศาสตราจารย์อาคันตุกะประจำสถาบันวิจัยทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (Teikyo University Research Institute of Cultural Properties) วิเคราะห์ปรากฏการณ์นี้ไว้ว่า "พื้นที่ประมาณ 80% ของจังหวัดยามานาชิถูกปกคลุมไปด้วยภูเขาและป่า ก่อนจะมีการสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมในยุคเอโดะ การปลูกข้าวยังทำได้เฉพาะในพื้นที่ราบไม่กี่แห่ง พืชผลหลักของที่นี่จึงเป็นข้าวสาลี เมล็ดพืชเล็กๆ บักวีต และพืชผลอื่นๆ ที่ปลูกได้บนเนินเขาและตีนเขา"
ในยุคยาโยอิ (Yayoi Period) คนทั่วไปมักนำเมล็ดพืชไปบริโภคโดยที่ไม่ได้บดเป็นผง แต่เมื่อเข้ายุคคามากูระ (Kamakura Period) ซามูไรและพระนักบวชเริ่มนำเครื่องโม่แป้งมาใช้ ทำให้อาหารที่ทำจากแป้งค่อยๆ มีสัดส่วนการบริโภคมากขึ้น ต่อมาในยุคเอโดะ มีการสร้างโรงสีข้าวพลังน้ำขึ้นในหมู่บ้านต่างๆ ทำให้การผลิตแป้งทำได้อย่างต่อเนื่อง แป้งจึงกลายเป็นส่วนประกอบหลักในเมนูอาหารของประชาชนทั่วไป ศาสตราจารย์นากายามะกล่าวว่า "แหล่งพลังงานของโรงสีข้าวพลังน้ำเหล่านี้คือสายน้ำในลำธารที่ไหลลงจากที่ลาด ในยุคเมจิ (Meiji Period) มีกังหันน้ำที่ใช้งานจริงในจังหวัดนี้มากกว่า 3,000 กังหัน เราจึงกล่าวได้ว่าการพัฒนาเครื่องโม่แป้งและความแพร่หลายของโรงสีข้าวพลังน้ำ เป็นสิ่งที่ก่อร่างสร้างวัฒนธรรมการบริโภคอาหารที่ทำจากแป้ง"
ศาสตราจารย์นากายามะยังกล่าวอีกว่า "พื้นที่ฝั่งตะวันออกและตะวันตก ซึ่งอยู่ระหว่างเขาไดโบซัทสึ (Mount Daibosatsu) กับเทือกเขามิซากะ (Misaka Mountains) เป็นแหล่งที่มีประวัติศาสตร์การทำอาหารเป็นของตนเอง" เราจึงขอแนะนำอาหารท้องถิ่นจากพื้นที่คุนินากะทางฝั่งตะวันตก และพื้นที่กุนไนทางฝั่งตะวันออกสักเล็กน้อย
< พื้นที่คุนินากะ >
วัฒนธรรมอาหารเฉพาะตัวที่เฟื่องฟูในเขตศูนย์กลางสำคัญของรัฐบาลเอโดะ
พื้นที่คุนินากะ (Kuninaka) แบ่งย่อยได้เป็นเคียวชู, เคียวโฮคุ, เคียวไซ, เกียวโต และเคียวนัน
เมืองโคฟุ (Kofu City) ซึ่งเป็นศูนย์กลางของเขตเคียวชู (Kyochu) เป็นที่รู้จักในนามบ้านเกิดของชินเง็น ทาเคดะ (Shingen Takeda) หรือไดเมียวผู้โด่งดังในยุครณรัฐ (Warring States Period) เมืองนี้จึงเต็มไปด้วยสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลผู้นี้ เราจะเห็นคำว่า "ชินเง็น" ปรากฏอยู่ทุกที่ในเมือง รวมไปถึงรูปปั้นของเขาที่หน้าสถานีโคฟุ และศาลเจ้าทาเคดะที่ยกย่องให้เขาเป็นเทพประจำศาลเจ้าเลยทีเดียว ในช่วงยุคเอโดะ เมืองโคฟุถือเป็นศูนย์กลางที่สำคัญแห่งหนึ่ง ชุมชนรอบปราสาทของที่นี่กลายเป็นที่พักเหล่าข้าราชบริพารของโชกุน อีกทั้งภาษา ศิลปะการแสดง และความบันเทิงในยุคเอโดะ ต่างก็หลั่งไหลเข้ามาในเมืองผ่านเส้นทางโคชูไคโด สถานีโคฟุซึ่งเป็นจุดเชื่อมระหว่างสายชูโอ (Chuo) กับสายมิโนบุ (Minobu) เรียกได้ว่าเป็นประตูสู่จังหวัดนี้ บริเวณรอบสถานีจึงเรียงรายไปด้วยร้านอาหารท้องถิ่น เช่น ร้านโฮโตและโทริโมทซึนิ (ไส้ไก่ตุ๋น) ทำให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสรสชาติท้องถิ่นในบรรยากาศแบบเป็นกันเอง
ส่วนเขตเคียวโฮคุ (Kyohoku) ประกอบไปด้วยเมืองนิราซากิ (Nirasaki) และเมืองโฮคุโตะ (Hokuto) โดยโฮคุโตะเป็นเมืองที่โอบล้อมไปด้วยภูเขา เช่น เทือกเขายัตซึกาทาเกะทางตอนเหนือและเทือกเขาเจแปนแอลป์ตอนใต้ ไปจนถึงเขาไคโคมะ (Mount Kaikoma) ทางตะวันตกเฉียงใต้ เขาคายะ (Mount Kaya) ทางตะวันออก และเขามิสึกาคิ (Mount Mizugaki) ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ในเมืองนี้มีสถานที่ถึง 3 แห่งที่ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งใน "100 สุดยอดบ่อน้ำพุ" และหนึ่งใน "100 สุดยอดบ่อน้ำพุยุคเฮเซ" โดยหนึ่งในนั้นคือ "กลุ่มน้ำพุที่ราบสูงบริเวณตีนเขาทิศใต้ของเทือกเขายัตซึกาทาเกะ" ซึ่งมีบ่อน้ำพุมากกว่า 50 บ่อ ตั้งกระจายอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลราว 1,000 เมตร ในวันขึ้นปีใหม่ ช่วงเทศกาลบง และเทศกาลของหมู่บ้าน จะมีธรรมเนียมการกิน "อะซูกิ โฮโต" (Azuki Hoto) ซึ่งได้จากการนำถั่วอะซูกิไปต้มและเติมความหวาน ก่อนจะใส่เส้นโฮโตลงไป ในยุคที่อาหารยังไม่อุดมสมบูรณ์เท่าในปัจจุบัน เมนูโฮโตแบบหวานๆ ถือเป็นของขวัญล้ำค่าสำหรับทุกคนเลยก็ว่าได้ ในเดือนกรกฎาคมของทุกปี ศาลเจ้ามิวะ (Miwa Shrine) ประจำเมืองนี้จะจัดเทศกาลโฮโต ซึ่งมีเมนู "อะซูกิ โฮโต" ให้ได้อิ่มอร่อยกันด้วย
เมืองมินามิ-แอลป์ (Minami-Alps City) เป็นศูนย์กลางของเขตเคียวไซ (Kyosai) ภายในเมืองมีเทือกเขาเจแปนแอลป์ตอนใต้ และเนินตะกอนรูปพัดของแม่น้ำมิไดกาวะ (Midaigawa River) ที่ไหลผ่านตีนเทือกเขา ตั้งแต่ยุคไทโช (Taisho Era) ถึงต้นยุคโชวะ (Showa Era) เป็นช่วงที่การเลี้ยงไหมเฟื่องฟูมากที่สุดในแถบนี้ ทั้งยังมีไร่มัลเบอร์รี่กระจายอยู่ทั่วพื้นที่เนินตะกอนรูปพัด เมื่อถึงตอนปลายยุคโชวะ ไร่มัลเบอร์รี่เกือบทั้งหมดจึงถูกแปลงเป็นสวนผลไม้ และนับแต่นั้นเป็นต้นมา พื้นที่นี้ก็เป็นที่รู้จักในนามศูนย์กลางการปลูกลูกพลัม พีช และเชอร์รี่ เมนูจากแป้งข้าวสาลีที่เก็บเกี่ยวได้ในทุ่งนา กลายเป็นเมนูที่ชาวไร่นิยมทำกินช่วงพักจากงานไร่ หนึ่งในเมนูนี้ก็คือแพนเค้กอุซุยากิที่เราพูดไปก่อนหน้านี้ เพราะเป็นเมนูที่ทำเร็วและทำง่าย ในปัจจุบันก็ยังมีการกินแพนเค้กอุซุยากิเป็นขนมหรือของว่างเบาๆ ในหลายพื้นที่อีกด้วย
ที่แม่น้ำคามานาชิ (Kamanashi) มี "ชินเง็น-ซัทสึมิ" (Shingen-zutsumi) หรือคันกั้นน้ำที่สร้างขึ้นโดยชินเง็น ทาเคดะ และยังมีให้เห็นจวบจนปัจจุบัน แม่น้ำสายนี้จะไหลไปรวมกับแม่น้ำฟุเอฟุกิ (Fuefuki) ทางทิศใต้ของลุ่มน้ำโคฟุ (Kofu Basin) จนเกิดเป็นแม่น้ำฟูจิ ซึ่งเป็นหนึ่งใน "แม่น้ำ 3 สายที่ไหลเชี่ยวที่สุดในญี่ปุ่น" เขตเคียวนัน (Kyonan) ก็ประกอบไปด้วยชุมชนต่างๆ เช่น ฟูจิกาวะ, อิชิกะวะ-มิซาโตะ, ฮายากาวะ, นันบุ และชุมชนอื่นๆ ที่กระจายอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำแห่งนี้นั่นเอง ในยุคเอโดะ พื้นที่นี้มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกับเขตสุรุกะอย่างคึกคักผ่านเส้นทางซุนชู โอคัง (Sunshu Okan) และการขนส่งทางเรือในแม่น้ำฟูจิ ศาสตราจารย์นากายามะเล่าว่า "ภาษีข้าวประจำปีจะถูกนำส่งไปยังเมืองเอโดะผ่านเขตเคียวนัน ส่วนเกลือจะถูกส่งมาจากซุนชู นอกจากนี้ ยังมีการขนส่งทูน่าและปลาสดไปยังเอโดะผ่านเส้นทางนากามิจิ โอคัง (Nakamichi Okan) ที่ตัดผ่านตีนเขาฝั่งตะวันตกของภูเขาไฟฟูจิ" ปัจจุบันจุดที่เคยเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำตรงริมฝั่งแม่น้ำคาจิคาซาวะเดิม (Kajikazawa) ก็ยังมีวัฒนธรรมการกินฉลามและโลมาให้เห็น ส่วนที่มิโนบุ (Minobu) ซึ่งเป็นเขตชุมชนรอบวัดคุออนจิ (Kuonji) ก็มีวัฒนธรรมการกิน "นามะยูบะ" (ฟองเต้าหู้สด) อีกด้วย
เขตเกียวโต (Kyoto) มีการเกษตรเฟื่องฟูมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่า ที่นี่มีการปลูกองุ่นมานับตั้งแต่ยุคนาระ (Nara Period) เลยทีเดียว พื้นที่เขตนี้โดยเฉพาะที่ย่านมัทสึซาโตะ (Matsuzato) เมืองโคชู มีของขึ้นชื่อเป็นลูกพลับ "โคโรกาคิ" (Korogaki) หรือลูกพลับแห้งนั่นเอง ลูกพลับแห้งเหล่านี้ทำมาจากสายพันธุ์ "โคชู เฮียคุเมะ" (Koshu Hyakume) ที่มีน้ำหนักสูงสุดถึง 500 กรัม โดยว่ากันว่าชินเง็น ทาเคดะ เป็นผู้แนะนำให้ริเริ่มปลูกลูกพลับสายพันธุ์นี้ การปลูกจะทำกันในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม และมีการรมควันลูกพลับให้หดตัว ก่อนนำไปตากแห้งในที่อากาศถ่ายเทประมาณ 1 เดือน แล้วจึงนำไปตากบนชั้น พร้อมกับปรับแต่งให้ได้รูปทรงที่ต้องการ "ม่านลูกพลับ" ที่ห้อยลงมาจากชายคาบ้านไร่ เป็นภาพเมืองเกียวโตช่วงฤดูใบไม้ร่วงที่สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมมาจวบจนปัจจุบัน
< พื้นที่กุนไน >
เมนูมันฝรั่งที่เคยใช้ประทังในยุคข้าวยากหมากแพง กลายมาเป็นเมนูประจำบ้านในยุคปัจจุบัน
พื้นที่กุนไน (Gunnai) ประกอบด้วยเมืองฟูจิโยชิดะ (Fujiyoshida), เมืองทสึรุ (Tsuru), เมืองโอสึกิ (Otsuki) และเมืองอูเอโนฮาระ (Uenohara) รวมถึงเขตมินามิสึรุ (Minamitsuru) และเขตคิตะสึรุ (Kitatsuru) ที่นี่ยังเป็นที่ตั้งของทะเลสาบทั้งห้ารอบภูเขาไฟฟูจิ (Fuji Five Lakes) อาทิ ทะเลสาบยามานากะ (Lake Yamanaka) และทะเลสาบคาวากุจิ (Lake Kawaguchiko) เมื่อข้ามภูเขาไฟฟูจิไปตรงเขตแดนทางตอนใต้ของจังหวัดนี้ก็จะเป็นจังหวัดชิซึโอกะ (Shizuoka)
ในยุคเอโดะ การเลี้ยงไหมและทอผ้าเป็นแหล่งรายได้ที่ช่วยค้ำจุนพื้นที่แถบนี้ เพราะที่นี่ขาดแคลนพื้นที่ทุ่งนาจึงทำให้ปลูกข้าวได้ยาก ตามริมฝั่งหมู่บ้านจึงมีต้นมัลเบอร์รี่ปลูกเรียงรายไว้สำหรับเลี้ยงตัวไหม ผ้า "กุนไน-โอริ" ที่ใช้เส้นด้ายจากตัวไหมเหล่านี้ ถูกส่งผ่านเส้นทางโคชูไคโดเพื่อนำไปขายให้ชาวเมืองเอโดะทั่วไป ผ้าไหมนี้ได้รับความนิยมมากจนพ่อค้าเมืองเอโดะต้องสร้าง "ที่พักผู้ซื้อ" ในหมู่บ้านไว้เป็นจุดรับซื้อผ้าไหมเลยทีเดียว นอกจากนี้ ซากปรักหักพังของด่านตรวจคนเข้าเมืองซูวะ-บันโช (Suwa-bansho) ในเขตโอโตเมะ-ซากะ เมืองอูเอโนฮาระ ก็สะท้อนให้เห็นบรรยากาศสมัยโบราณ ด่านแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้กับเขตแดนจังหวัดคานากาวะ (Kanagawa) เพื่อใช้ควบคุมการขนส่งสินค้าและผู้สัญจรบนเส้นทางโคชูไคโด ในละแวกนี้จึงมีชุมชนริมด่านถึง 4 ชุมชน และยังมีโรงเตี๊ยมและโรงน้ำชาที่อุ่นหนาฝาคั่งไปด้วยผู้เดินทางสัญจร
แต่ทว่าในสมัยนั้น มีภาวะอดอยากเกิดขึ้นทั่วประเทศอยู่เป็นเนืองนิจ ไม่เว้นแม้แต่ในพื้นที่นี้ เมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดภาวะอดอยาก ชาวบ้านก็จะกิน "เซดะ-โนะ-ทามาจิ" (Seida-no-tamaji) เพื่อประทังความหิวโหย โดยเมนูนี้ทำจากมันฝรั่งลูกเล็กๆ ที่นำไปผัดและต้มในซอสรสมิโสะ คำว่า "เซดะ" มาจากชื่อของนาคาอิ เซดะยุ (Nakai Seidayu) ซึ่งเป็นเจ้าเมืองท้องถิ่นที่ริเริ่มการปลูกมันฝรั่งในแถบนี้ ส่วนคำว่า "ทามาจิ" นั้น คุณเคอิโกะ ฟูจิซาวะ (Keiko Fujisawa) ประธานสำนักงานประสานงานผู้ส่งเสริมการพัฒนาอาหารจังหวัดยามานาชิกล่าวว่า ทามาจิแปลว่ามันฝรั่งลูกเล็กซึ่ง "สะท้อนให้เห็นความถ่อมตนของผู้คนในอดีตที่มุ่งมั่นตั้งใจว่าจะใช้ทุกสิ่งอย่างคุ้มค่า แม้กระทั่งมันฝรั่งลูกเล็กที่สุดก็ตาม" คุณเคอิโกะ จัดชั้นเรียนและกิจกรรมเกี่ยวกับการทำอาหาร เพื่อสืบสานวัฒนธรรมอาหารและเมนูพื้นบ้านที่คงอยู่มาอย่างยาวนานในพื้นที่แถบนี้
คุณเคอิโกะ เล่าถึงเมนูดั้งเดิมอีกอย่างหนึ่งของพื้นที่กุนไน นั่นก็คือสตูว์มันฝรั่งกับฮิจิกิ (สาหร่ายชนิดหนึ่งที่ได้จากทะเล) "เมนูนี้เป็นอาหารเทศกาลที่จะทำทานกันในวันที่ 1 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นฤดูกาลปีนเขาที่ภูเขาไฟฟูจิ ในสมัยก่อน ชาวบ้านจะใช้วัตถุดิบจากทั้งทะเลและภูเขาเพื่อนำไปขอพรให้การปีนเขาปราศจากภัยอันตราย แต่ปัจจุบันเมนูนี้ได้กลายเป็นอาหารที่ทานกันทั่วไป จึงไม่ต้องแปลกใจถ้าเราจะเจอเมนูนี้ในแผนกเครื่องเคียงตามซูเปอร์มาเก็ต
มีอาหารหลายอย่างในจังหวัดยามานาชิที่เคยเป็นอาหารประจำเทศกาล ก่อนจะกลายเป็นเมนูประจำบ้านทั่วไป เช่น ข้าวหุงผสมถั่วอะซูกิรสหวาน และติ่มซำโอชากะ-โคโกริ (Oshaka-kogori)" เคล็ดลับการทำสตูว์มันฝรั่งกับสาหร่ายฮิจิกิ คืออย่าให้มันฝรั่งบี้แบน และควรกินหลังทำเสร็จใหม่ๆ เพื่อให้ได้รสชาติอร่อยเด็ดอย่าบอกใคร รสชาติที่เรียบง่ายแต่เข้มข้นเต็มปากเต็มคำ เปรียบได้ดั่งทิวทัศน์อันงดงามของภูเขาและหมู่บ้านในพื้นที่กุนไน
อูตางาวะ ฮิโรชิเงะ (Utagawa Hiroshige) เป็นศิลปินภาพพิมพ์แกะไม้ "อุคิโยเอะ" (Ukiyoe) ที่โด่งดังจากผลงานชุด "53 สถานีบนเส้นทางโตไกโด" (The Fifty-Three Stations of the Tokaido) ในปี 1841 เขาได้เดินทางมายังจังหวัดไคเพื่อสร้างผลงานชุดใหม่ และได้บันทึกภาพเหตุการณ์ระหว่างการเดินทางสู่เมืองโคฟุและระหว่างเข้าพักที่นี่ไว้ใน "บันทึกโคชู" (Koshu Diary) พร้อมกับภาพสเก็ตช์ต่างๆ โดยบันทึกไว้โดยละเอียดว่าตนกินถึงวันละ 4-5 มื้อ และแต่ละมื้อกินอะไรบ้าง อาหารที่ปรากฏในบันทึกก็มีความหลากหลาย ทั้งอุด้ง, ซูชิปลาอายุ (Sweetfish), หมั่นโถวมันจู, เต้าหู้, ติ่มซำ ฯลฯ... เขาตระเวนลิ้มรสอาหารและเครื่องดื่มรอบปราสาทโคฟุวันแล้ววันเล่า เราจึงได้สนุกไปกับการจินตนาการตามว่า อาหารท้องถิ่นที่ฮิโรชิเงะติดอกติดใจ อาจได้ส่งต่อมาถึงในยุคปัจจุบัน