ชิซูโอกะ จังหวัดที่อุดมด้วยความสวยงามทางธรรมชาติ ที่ตั้งของอ่าวซูรูงะและภูเขาฟูจิ สัญลักษณ์อันโดดเด่นของประเทศญี่ปุ่น
ชิซูโอกะตั้งอยู่ใกล้กับศูนย์กลางของประเทศ ชายฝั่งของจังหวัดบรรจบกับมหาสมุทรแปซิฟิก ทางตอนใต้ของชิซูโอกะเป็นแนวชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 500 กิโลเมตร (311 ไมล์) ล้อมรอบทะเลเอ็นชู อ่าวซูรูงะ และอ่าวซางามิ ทางเหนือคือภูเขาฟูจิที่สูงกว่า 3,000 กิโลเมตร (กว่า 12,000 ฟุต) ตั้งอยู่ท่ามกลางเทือกเขาทางตอนเหนือที่พาดตัวตามแนวยาวจากตะวันออกสู่ตะวันตก นอกจากชิซูโอกะจะอุดมไปด้วยความสวยงามทางธรรมชาติอย่างมากมายแล้ว ยอดภูเขาฟูจิที่สูง 3,776 เมตร (12,388 ฟุต) และอ่าวซูรูงะที่ลึกถึง 2,500 เมตร (8,202 ฟุต) ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ทำให้กล้าพูดได้ว่า เป็นจังหวัดที่ประกอบด้วยพื้นที่สูงที่สุดและต่ำที่สุดในประเทศญี่ปุ่น
เมื่อเลยเขตภูเขาไปทางเหนือจะเริ่มมีภูมิอากาศแบบชายฝั่งที่อบอุ่น มีฤดูกาลที่เด่นชัดและสวยงามทั้งสี่ฤดู ในฤดูหนาวจะมีวันที่อากาศแห้งและแสงอาทิตย์สาดส่องยาวนาน และมีหิมะตกบางเบาในที่ราบ
ตัวจังหวัดแบ่งออกเป็นพื้นที่ทางตะวันออก ตะวันตก และตอนกลาง ในส่วนของพื้นที่ทางตะวันออกบางครั้งจะเรียกว่าอิซุ
ร้านอาหารที่เข้าร่วม: ร้านอาหารไคเซกิ อิกกิ (Kaiseki Ikki Restaurant)
สถานที่ที่เชื่อมโยงกับโทกูงาวะ อิเอยาซุ
จังหวัดชิซูโอกะคือสถานที่ที่มีความเกี่ยวข้องกับโทกูงาวะ อิเอยาซุ โชกุนคนแรกแห่งเอโดะ อิเอยาซุในวัยเด็กเคยเป็นเชลยของตระกูลอิมางาวะแห่งแคว้นซุมปุ ซึ่งในภายหลังท่านได้กลับไปที่ซุมปุอีกครั้ง ศาลเจ้าและวัดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับท่านยังคงหลงเหลืออยู่ในชิซูโอกะจนถึงทุกวันนี้ ได้แก่ ศาลเจ้าคุโนซัง โทโชกู อันเป็นที่ฝังศพของท่าน และศาลเจ้าชิซูโอกะ เซนเก็น เป็นต้น
จังหวัดชิซูโอกะในวันนี้มีจุดเริ่มต้นในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1876 (ปีเมจิที่ 9) ก่อนหน้านั้นคือช่วงที่มีการบังคับใช้กฎหมายยกเลิกการปกครองแบบแคว้นและเปลี่ยนเป็นการจัดตั้งจังหวัดในปี ค.ศ. 1871 (ปีเมจิที่ 4) พื้นที่จังหวัดตอนนั้นถูกแบ่งเป็นสามส่วน คือ จังหวัดนิรายามะ (อิซุ) จังหวัดชิซูโอกะ (ซูรูงะและโทโตมิ) และจังหวัดโฮริเอะ (ทะเลสาบฮามานะทางเหนือ) ในเดือนพฤศจิกายนของปีเดียวกัน จังหวัดนิรายามะกลายเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดอาชิงาระ และจังหวัดฮามามัตสึที่เป็นจังหวัดใหม่ก็ได้ถูกก่อตั้งขึ้นในเอ็นชู และในที่สุด ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1876 (ปีเมจิที่ 9) พื้นที่ที่เคยเป็นอิซุได้ถูกรวมเข้ากับจังหวัดชิซูโอกะพร้อมกับการยุบจังหวัดอาชิงาระ หลังจากนั้นในปีเดียวกัน จังหวัดชิซูโอกะก็ได้รวมเข้ากับจังหวัดฮามามัตสึ และกลายเป็นชิซูโอกะที่เรารู้จักในปัจจุบัน
เนื่องจากชิซูโอกะตั้งอยู่คาบเกี่ยวระหว่างฝั่งตะวันออกและตะวันตกของประเทศญี่ปุ่น ทำให้จังหวัดได้รับอิทธิพลประเพณีด้านอาหารจากทั้งสองฝั่ง เป็นการผสมผสานระหว่างอาหารสองฝั่งให้เกิดเป็นรสชาติของจังหวัด ในด้านผลิตผลทางการเกษตร ป่าไม้ และการประมงที่หลากหลาย ชิซูโอกะเป็นแหล่งผลิตที่ดีที่สุดของชาเขียว ส้มแมนดาริน เมล่อนในเรือนกระจก วาซาบิ ปลาโบนิโตะ ปลาทูน่า กุ้งซากุระ และปลาเกล็ดขาว ซึ่งเป็นเพียงผลิตภัณฑ์บางส่วนเท่านั้นจากผลิตภัณฑ์ทั้งหมดกว่า 1,140 ชนิด ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเรื่องง่ายที่วัฒนธรรมอาหารจะมีความหลากหลาย ชิซูโอกะยังคลาคล่ำไปด้วยธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิต โดยประกาศตนว่าเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดทั้งในด้านปริมาณและราคา อาทิ เปียโน มอเตอร์ไซค์ สกูตเตอร์ จักรยานไฟฟ้า และโมเดลพลาสติก เป็นต้น
โดยทั่วไปแล้ว เราสามารถแบ่งวัฒนธรรมอาหารของชิซูโอกะออกได้เป็นเขตตอนกลาง เขตตะวันตก และเขตตะวันออก
ดังนั้นเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เรามาดูวัฒนธรรมอาหารที่ถือกำเนิดขึ้นในแต่ละเขตกันอย่างละเอียดดีกว่า
<ชิซูโอกะตอนกลาง>
สำหรับคนที่นี่แล้ว รสชาติของบ้านเกิดคือฮังเพงดำและกุ้งซากุระ
อย่างที่ชื่อบอกไว้ว่าเป็นพื้นที่ที่ตั้งอยู่บริเวณตอนกลางของชิซูโอกะ เป็นที่ตั้งของเมืองหลักของจังหวัด คือนครชิซูโอกะ รวมไปถึงเมืองใหญ่อีกห้านครและเมืองเล็กอีกสองเมือง ได้แก่ นครไยซุ นครฟูจิเอดะ นครชิมาดะ นครมาคิโนะฮาระ เมืองโยชิดะ และเมืองคาวาเนฮง ท้องทุ่งของมาคิโนะฮาระเต็มไปด้วยไร่ชา ในขณะที่ท่าเรือของชิมิซุและไยซุสามารถผลิตปลาทูน่าและโบนิโตะคุณภาพดี ที่ยุอิมีกุ้งซากุระ และที่โมจิมุเนะก็เด่นในเรื่องปลาเกล็ดขาวชิราสุ แต่ละแห่งต่างประกาศตนว่าเป็นแหล่งประมงเลื่องชื่อเป็นอันดับหนึ่งหรือไม่ก็อันดับสองของประเทศ ซึ่งวัตถุดิบเหล่านี้ถือเป็นพรอันประเสริฐสำหรับพื้นที่แห่งนี้ก็ว่าได้
ในนครชิซูโอกะจะสามารถพบเมืองโอเด้งหรือถนนสายโอเด้ง ที่ซึ่งสามารถลิ้มรสโอเด้งสูตรท้องถิ่นของชิซูโอกะได้ น้ำซุปสีเข้มที่ต้มกับเอ็นวัว เสริมด้วยหัวไชเท้าไดคนและเค้กปลาฮังเพงสีดำ และที่โดดเด่นคือการเสิร์ฟด้วยการโรยผงดาชิด้านบนอย่างจุใจ
เค้กปลาฮังเพงสีดำมีรูปลักษณ์และเนื้อสัมผัสที่แตกต่างจากฮังเพงสีขาวทั่วไปอย่างสิ้นเชิง ด้วยสีที่เข้มและรูปร่างครึ่งวงกลมเป็นเอกลักษณ์ ทำโดยการต้มเนื้อปลาที่บดจากปลาซาบะ ปลาอาจิ ปลาอิวาจิ และปลาอื่น ๆ ถ้าพูดถึงชิซูโอกะแล้ว ฮังเพงสีดำนี้คืออาหารที่เป็นทางเลือกหลัก นอกจากจะใช้เป็นวัตถุดิบในโอเด้งแล้ว ยังนำไปทอดได้อีกด้วย ในนครชิซูโอกะ ฮังเพงสีดำทอดเป็นที่ชื่นชอบของคนทุกวัยตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ และจัดว่าเป็นรสชาติของบ้านเกิดเลยทีเดียว
อาหารจากกุ้งซากุระที่สามารถจับได้แค่ที่อ่าวซูรูงะนั้นถือเป็นส่วนประกอบทั่วไปในอาหารประจำวัน กุ้งซากุระชุบแป้งทอดคืออาหารประจำในครัวเรือนทั่วจังหวัดไม่เพียงแต่ในเขตตอนกลางเท่านั้น ตัวอย่างเช่นคาคิอาเกะกุ้งซากุระที่หอมหวลด้วยกลิ่นวัตถุดิบเป็นสัญลักษณ์ และมักจะเสิร์ฟบนข้าวสวยหรือบนเส้นโซบะในช่วงปีใหม่ เมนูกุ้งซากุระอีกเมนูหนึ่งคือ “โอคิอางาริ” ที่เป็นอาหารต้มซึ่งว่ากันว่ามีที่มาจากอาหารที่ชาวประมงทานแกล้มเหล้าสาเกในขณะล่องเรือออกไปตกกุ้ง มีลักษณะคล้ายสุกี้ยากี้ที่ทำโดยการใส่เต้าหู้และต้นหอมลงไปต้มกับกุ้งซากุระในน้ำซุปหวาน
ในสมัยเอโดะ เขตตอนกลางของชิซูโอกะเคยเป็นจุดพักของเส้นทาง “ห้าสิบสามจุดพักแห่งโทไกโด” (เส้นทางเชื่อมต่อระหว่างเมืองเอโดะและเกียวโตในสมัยเอโดะ) ทุกวันนี้เรายังสามารถพบเมนูยอดนิยมของนักเดินทางได้ตามเส้นทางดังกล่าว ซุปมันเทศจากจุดพักมาริโกะจุกุทำจากมันเทศบดผสมกับมิโซะและซุปดาชิ ปกติแล้วจะเสิร์ฟบนข้าวบาร์เลย์ และเป็นที่รู้กันดีว่าเป็นอาหารชูกำลังอย่างดีเยี่ยม ปัจจุบันเมนูนี้เป็นที่นิยมสำหรับทำรับประทานที่บ้าน
เมนูที่มีชื่อเสียงอีกอย่างหนึ่งคืออาเบคาวะ โมจิ หรือโมจิที่ทำโดยการตำแป้งคินาโกะพร้อมกับข้าว เป็นเมนูง่าย ๆ และเป็นเมนูพื้นฐานอีกเมนูหนึ่งในครัวเรือนของเขตนี้ โมจิสด หรือบางครั้งก็ใช้โมจิที่นำไปย่างและลวกก่อน นำมาทานคู่กับผงแป้งคินาโกะผสมกับน้ำตาล ที่สะพานอาเบคาวะจะมีร้านค้าที่ขายอาเบคาวะโมจิเรียงรายอยู่ เป็นอาหารยอดนิยมสำหรับเหล่านักท่องเที่ยว
<ชิซูโอกะฝั่งตะวันตก>
เขตซึ่งมีชีวิตด้วยหัวใจแห่งการพัฒนา ต้นกำเนิดรสชาติที่ผสมผสานระหว่างยุคเก่าและยุคใหม่
เขตนี้ประกอบด้วยเมืองใหญ่เจ็ดนครและเมืองเล็กหนึ่งเมือง ได้แก่ นครฮามามัตสึ นครอิวาตะ นครคาเคงาวะ นครฟุคุโรอิ นครโอมาเอะซากิ นครคิคุงาวะ และเมืองโมริ ที่ราบมิคาตาฮาระและที่ราบอิวาตาฮาระตั้งขนาบแม่น้ำเทนริวทั้งสองฝั่งทางตะวันตกและตะวันออกตามลำดับ ทางใต้มีแนวชายฝั่งทะเลที่ลัดเลาะไปตามทะเลเอ็นชูจนถึงโอมาเอะซากิ ทะเลสาบฮามามัตสึคือทะเลสาบน้ำกร่อย (น้ำผสมระหว่างน้ำทะเลและน้ำจืด) ที่มีชื่อเสียงเรื่องการเลี้ยงปลาไหลอูนางิ
ในพื้นที่นี้ อุตสาหกรรมการผลิตสินค้าเช่นรถยนต์ รถสกูตเตอร์ และเครื่องดนตรี มีความเฟื่องฟู และเป็นบ้านเกิดของบริษัทที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง เช่น โตโยต้า ฮอนด้า ซูซูกิ ยามาฮ่า และอื่น ๆ เช่นเดียวกับผู้ผลิตเครื่องดนตรี เช่น ยามาฮ่า คาวาอิ และโรแลนด์ และด้วยภูมิอากาศอบอุ่นทำให้เหมาะแก่การปลูกพืชเช่นชา เมล่อน และล้มแมนดาริน ในขณะที่ทะเลสาบฮามามัตสึมีการเลี้ยงหอยนางรม สาหร่าย และปลาไหล ส่วนที่ทะเลเอ็นชูก็มีการตกปลาเกล็ดขาว
พื้นที่นี้จะมีกระแสลมมรสุมกำลังแรงที่เรียกว่าลมทะเลเอ็นชู ผนวกกับระยะเวลากลางวันที่ยาว เป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะต่อการทำมันเทศตากแห้ง ซึ่งกลายเป็นโฮชิอิโมะที่มีความนุ่มและหวานอย่างมีเอกลักษณ์ และเมื่อพูดถึงอาหารหมักดอง เขตเอ็นชูมีชื่อเสียงในเรื่องถั่วฮามานัตโตที่ไม่เหนียวเหมือนถั่วนัตโตทั่วไป เป็นเนื้อถั่วที่แห้งและร่วน แต่นุ่มและมีสีมิโซะชัดเจน เมนูนี้มีอีกชื่อหนึ่งว่าไดฟุคุจินัตโต เนื่องจากมีเรื่องเล่าว่าสูตรลับนี้ได้รับการตกทอดมาจากวัดไดฟุคุจิในนครฮามามัตสึ
อ่าวซูรูงะหันหน้าออกไปทางทิศใต้ของเขต เป็นอ่าวที่มีแพลงก์ตอนอุดมสมบูรณ์ และเป็นหนึ่งในที่ที่เหมาะสมที่สุดในประเทศสำหรับการจับปลาเกล็ดขาว ข้าวหน้าปลาเกล็ดขาวดิบ ทำโดยการนำปลาเกล็ดขาวดิบที่จับมาใหม่วางลงบนข้าวสวยร้อน ๆ โรยหน้าด้วยต้นหอมและสาหร่าย เป็นเมนูยอดฮิตสำหรับนักท่องเที่ยวและเป็นเมนูพื้นฐานในครัวเรือนด้วย
เพื่อเป็นการกระตุ้นความสนใจในพื้นที่ จึงได้มีการพัฒนาสูตรอาหารโบราณชื่อ ทามาโงะ ฟุวะ-ฟุวะ หรือ “ไข่นุ่มฟู” ขึ้น เมนูนี้เป็นหนึ่งในอาหารที่เสิร์ฟที่จุดพักฟุคุโรอิจุคุในสมัยเอโดะ เมื่อสมาคมการท่องเที่ยวแห่งฟุคุโรอิริเริ่มพัฒนาอาหารขึ้นชื่อเมนูใหม่ในพื้นที่ จึงได้เลือกเมนูนี้โดยการศึกษาสูตรจากเอกสารสมัยเอโดะ ไม่ใช้ส่วนผสมอื่นเลยนอกจากไข่และซุป แต่มีความนุ่มฟูตามชื่อของเมนู สูตรอาหารนี้ได้รับการเผยแพร่เพื่อที่ผู้คนจะได้ลองไปทำรับประทานเองได้ที่บ้าน
<ชิซูโอกะฝั่งตะวันออก (รวมเขตอิซุ) >
อาหารอันชุ่มฉ่ำด้วยสายน้ำจากหิมะละลายบนฟูจิสู่ท้องทะเล
เขตนี้ประกอบด้วยเมืองใหญ่สิบเอ็ดนครและเมืองเล็กเก้าเมือง ได้แก่ นครฟูจิ นครนุมาซุ นครโกเทมบะ นครสุโซโนะ เมืองชิมิซุ เมืองนางาอิซุมิ เมืองโอยามะ นครอาตามิ นครมิชิมะ นครอิโตะ นครชิโมดะ นครอิซุโนะคุนิ เมืองฮิงาชิอิซุ เมืองคาวาซุ และเมืองคันนามิ
เริ่มต้นกันด้วยสัญลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่น นั่นคือภูเขาฟูจิ ในเขตนี้รุ่มรวยไปด้วยความงามทางธรรมชาติที่โอบล้อมภูเขาและท้องทะเลไว้ พื้นที่จังหวัดที่อยู่ใกล้กับพื้นที่มหานครโตเกียวเต็มไปด้วยบ่อน้ำพุร้อน ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่จะเป็นจุดหมายยอดนิยมของนักท่องเที่ยวจากทั่วประเทศ ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2013 ภูเขาฟูจิได้รับการยกย่องเป็นพื้นที่มรดกโลกในฐานะ “สถานที่แห่งการสักการะและแรงบันดาลใจในด้านศิลปะ” และในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2015 เตาหลอมเมืองนิรายามะในอิซุก็ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่มรดกโลกในฐานะสถานที่สำคัญในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเมจิของประเทศญี่ปุ่น ด้านอุตสาหกรรมเหล็ก ต่อเรือ และทำเหมือง และในเดือนเมษายน ค.ศ. 2018 คาบสมุทรอิซุก็ได้รับแต่งตั้งเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก
ในด้านผลผลิตการเกษตร พื้นที่นี้มีการเพาะปลูกพืชผักผลไม้หลากหลายชนิด เช่น สตรอเบอร์รี มะเขือเทศ มันฝรั่ง วาซาบิ ส้มแมนดาริน และเกาลัด ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการพัฒนาอาหารใหม่ ๆ เช่น ครอเก็ตมิชิมะที่ทำจากมันฝรั่งสายพันธุ์ท้องถิ่นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากโตเกียวให้มาลิ้มลอง ไม่เพียงเท่านั้น ในบริเวณทันนะของเมืองคันนามิที่รุ่งเรืองด้านการผลิตน้ำนมยังได้มุ่งสร้างผลิตภัณฑ์นมเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดด้วย
เมื่อพูดถึงอุตสาหกรรมการประมง มีการทำประมงปลาอันฟอนชิโนหรือคินเมไดที่มีศูนย์กลางอยู่บริเวณชิโมดะและอินาโตริ และกระแสน้ำยังพัดพาสัตว์ชนิดอื่นเข้ามาด้วย เช่น ปลาทูน่า ปลาซาบะ ปลาอาจิ กุ้งอิเสะ และหอยซาซาเอะ เป็นต้น มิซุคาเคนะ เป็นผักสายพันธุ์คะน้าที่ปลูกในพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ของโกเทมบะเป็นหลัก ที่ซึ่งหล่อเลี้ยงด้วยน้ำจากหิมะที่ละลายจากฟูจิ ผักชนิดนี้มีการปลูกเป็นครั้งแรกในสมัยเมจิเมื่อครั้งที่นำเมล็ดพันธุ์มาจากนีงาตะ ปัจจุบันมันได้กลายเป็นผักท้องถิ่น สามารถนำมาดองหรือกินสดเป็นของว่างได้ หรือใส่ในโอชาซุเกะ (ข้าวต้มในน้ำชา) ก็ได้ เป็นอาหารที่ขาดไม่ได้สำหรับคนในท้องที่
ที่เมืองเดียวกันนี้ยังสามารถทานโกเทมบะโซบะได้ มันคือโซบะที่ทำโดยการผสมมันเทศป่ากับมันฝรั่ง แล้วใส่น้ำสต็อกไก่กับแครอทต้ม เห็ดชิตาเกะและเนื้อไก่ โดยไม่ใช้น้ำเปล่าเลย เมนูนี้มักทานในเทศกาลสำคัญในช่วงวันหยุดปีใหม่
คาบสมุทรอิซุเป็นแหล่งผลิตปลาอันฟอนชิโนชั้นดี คนท้องถิ่นมักทำรับประทานที่บ้านเป็นปลาดิบซาชิมิหรือนำไปต้มทั้งตัวเพื่อคงตาสีทองไว้ นอกเหนือจากอาหารจานโปรดสองเมนูนี้แล้ว เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็มีการพัฒนาสูตรอาหารและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ขึ้น ซึ่งเป็นที่โปรดปรานแม้กระทั่งผู้คนรุ่นที่ไม่ชอบทานปลา โดยสามารถหาได้ทั้งในจุดพัก ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านของฝาก
ยังมีอาหารท้องถิ่นของอิซุชื่อ ซุปมิโสะโลมา ปัจจุบันนี้ ปลาโลมาเป็นเป้าหมายเพื่อการอนุรักษ์เป็นหลัก ทำให้ไม่มีการล่าปลาโลมาแล้ว แต่เมื่อในอดีต แทบทุกบ้านสามารถไปที่ตลาดปลาท้องถิ่นและหาซื้อเนื้อปลาโลมาได้เพื่อนำมาใส่ในซุปมิโซะคู่กับรากโกโบ บุก แครอท และวัตถุดิบอื่น ๆ
มาโกะ ชาซุเกะ เคยเป็นอาหารของชาวประมงมาก่อน ทำโดยการวางปลาอาจิสับบนข้าวสวยแล้วราดด้วยซุปหรือน้ำชาก่อนจะปรุงรสด้วยซีอิ๊วหรือวาซาบิ สูตรอื่น ๆ อาจใช้ปลาทูน่าหรือปลาหางเหลืองดิบแทนปลาอาจิสับ เป็นเมนูที่ทำง่าย มีรสชาติเข้มข้นของปลาซึมเข้าไปในน้ำซุป สามารถทำที่บ้านได้และเป็นที่ถูกใจแม้กระทั่งเด็กที่ไม่ชอบทานปลาดิบด้วย