จังหวัดโอซาก้า

วัฒนธรรมอาหารอันมั่งคั่งที่เบ่งบานใน “ห้องครัวของประเทศ” ที่ซึ่งของดีจากทั่วประเทศมารวมกัน

ผืนดินอุดมสมบูรณ์ทอดตัวอยู่ ณ จุดกึ่งกลางของจังหวัดโอซาก้า ติดกับทะเลเซโตะในทางทิศตะวันตก (บริเวณอ่าวโอซาก้า) และมีเทือกเขาเป็นแนวกั้นจังหวัดอยู่ทางทิศเหนือ ตะวันออก และทิศใต้ ด้วยสภาพภูมิอากาศที่อบอุ่นตลอดทั้งปี ทำให้จังหวัดมีความอุดมสมบูรณ์ของอาหารทั้งจากทะเลและภูเขา
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 16 โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ ผู้ประสบความสำเร็จในการรวมประเทศเข้าไว้ด้วยกัน ได้ก่อตั้งกองบัญชาการไว้ที่โอซาก้า ฮิเดโยชิสร้างปราสาทหลังใหญ่ในโอซาก้า (ปราสาทโอซาก้า) และส่งเสริมการพัฒนาและซ่อมแซมบริเวณโดยรอบเพื่อสร้างเมืองที่มีคูน้ำไหลผ่าน ในขณะนั้น การสัญจรทางเรือเป็นการคมนาคมหลัก จึงทำให้โอซาก้าที่ติดทะเลและมีทางน้ำมากมายกลายเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าและพัฒนาเป็นเมืองธุรกิจอย่างรวดเร็ว

ข้อมูลได้รับการอนุเคราะห์จากร้านนานิวะ คัปโป คิงาวะ
ผู้ร่วมรายงาน: มานะ คุมากาอิ (สมาคมนิปปง โคนะมง)

แม้ว่าเมื่อถึงยุคเอโดะจะมีการย้ายจุดศูนย์กลางทางการเมืองไปที่นครเอโดะแล้ว แต่โอซาก้าก็ยังคงเป็นศูนย์กลางสำคัญทางด้านเศรษฐกิจและการค้าเพราะมีสาธารณูปโภคด้านการคมนาคมที่พัฒนาไว้อย่างดีทั้งทางบกและทางทะเล ข้าวและสินค้าท้องถิ่นที่เป็นส่วยประจำปีจากทั่วประเทศต่างเก็บรักษาไว้ที่คลังในโอซาก้า มีการค้าขายโดยพ่อค้า และถูกจัดส่งไปทั่วประเทศ โอซาก้าที่ซึ่งมีการค้าขายวัตถุดิบจากทั่วทุกภูมิภาคของญี่ปุ่นเป็นประจำจึงได้รับการขนานนามว่าเป็น “ห้องครัวของประเทศ” ส่งผลให้เกิดการพัฒนาประเพณีด้านอาหารที่แตกต่างหลากหลายโดยการใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบชั้นเลิศ ความกระตือรือร้นด้านอาหารและแนวคิดเรื่องความไม่สูญเปล่าที่เห็นได้จากความสำนึกในคุณค่าของวัตถุดิบและการปฏิเสธการใช้วัตถุดิบผิดวัตถุประสงค์หรือการทิ้งวัตถุดิบ สิ่งเหล่านี้ได้หล่อหลอมเป็นวัฒนธรรมอาหารที่มั่งคั่งจนทำให้เมืองนี้มีชื่อเรียกว่า “เมืองที่ต้องกินกันให้ตายไปข้างหนึ่ง”

ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง ณ บริเวณโดยรอบที่เต็มไปด้วยสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ภูเขา และท้องทะเล วิถีแห่งอาหารท้องถิ่นที่ใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบในแต่ละพื้นที่ก็ได้มีการสืบทอดมารุ่นต่อรุ่น อ่าวโอซาก้าเคยถูกเรียกว่า “นานิวะ” (สวนมัจฉา) เนื่องจากมีปลาเป็นจำนวนมาก จึงทำให้มีอาหารจานปลาในท้องถิ่นในแถบชายฝั่งมากมาย นอกจากนั้นแล้ว ที่บริเวณหมู่บ้านบนที่ราบและภูเขา พืชผักดั้งเดิมที่มีการเพาะปลูกในพื้นที่ตั้งแต่สมัยก่อนก็ยังมีการนำมาใช้ทำอาหารอย่างแพร่หลาย อย่างไรก็ตาม พืชผักดั้งเดิมเหล่านี้ได้สูญหายไปในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้จังหวัดโอซาก้ามีความพยายามที่จะชุบชีวิตและเผยแพร่ผักดังกล่าว อาทิ “พืชผักดั้งเดิมนานิวะ” พันธุ์พืชที่ได้รับการรับรองที่ปลูกในจังหวัดมากว่า 100 ปี

“วัฒนธรรมดาชิ” ที่พัฒนามาจากสาหร่าย

ภาพโดย: สำนักส่งเสริมงานประชุมและการท่องเที่ยวเมืองโอซาก้า (องค์กรที่จัดตั้งเป็นมูลนิธิ)

ชาวโอซาก้านิยมรสชาติของน้ำสต็อกดาชิ นอกจากจะนำไปทำซุปแล้ว ดาชิยังสามารถใช้ในทาโกะยากิ โอโคโนมิยากิ และอาหารที่มีแป้งเป็นส่วนประกอบอื่น ๆ ดาชิที่ทำจากปลาโบนิโตะจะเป็นสูตรปกติในแถบคันโต แต่ที่โอซาก้านิยมใช้ดาชิที่ใช้สาหร่าย “คมบุ” เป็นวัตถุดิบหลักรวมกับผงปลาโบนิโตะ

มีทฤษฎีว่าภูมิหลังทางประวัติศาสตร์และภูมิประเทศอาจเกี่ยวข้องกับรสชาติน้ำสต็อกดาชิที่แตกต่างกันในแต่ละเขต ในสมัยเอโดะที่การคมนาคมทางทะเลมีความเจริญรุ่งเรือง สาหร่ายจำนวนมากถูกนำเข้ามาที่โอซาก้าหลังจากกำหนดเส้นทางเดินเรือ “นิชิมาวาริ โคโระ” ซึ่งเป็นเส้นทางที่มุ่งสู่ตะวันตกผ่านทะเลญี่ปุ่น เชื่อมต่อภูมิภาคกับเกาะฮกไกโด (แหล่งผลิตสาหร่าย) ในปัจจุบัน เส้นทางนี้บางครั้งถูกเรียกว่า “เส้นทางสายคมบุ” อีกทั้งว่ากันว่าสิ่งที่ช่วยให้ดาชิที่ทำจากคมบุได้รับความนิยมมากขึ้นในโอซาก้าเนื่องจากน้ำในเขตโอซาก้าเป็นน้ำอ่อนที่ไม่กระด้าง ซึ่งเหมาะแก่การทำดาชิจากสาหร่ายคมบุ จึงทำให้มีรสอร่อย ดาชินี้จะผสมรวมกับผงปลาโบนิโตะที่นำเข้ามาจากวาคายามะ โคจิ และคาโงชิมะ และกลายเป็นดาชิอาวาเสะที่ถือกำเนิดขึ้นในที่สุด
น่าสนใจว่าแม้แต่ในภูมิภาคคันไซเองก็ยังมีสาหร่ายที่แตกต่างหลากหลายให้ลิ้มลอง เช่น “มาคมบุ” พันธุ์สาหร่ายอีกชนิดหนึ่งที่มีรสชาติเข้มข้นที่มักใช้ในเขตโอซาก้า ในขณะที่สาหร่าย “ริชิริ” ที่มีรสชาติละมุนกว่าเป็นที่นิยมในเกียวโต

ภาพโดย: สำนักส่งเสริมงานประชุมและการท่องเที่ยวเมืองโอซาก้า (องค์กรที่จัดตั้งเป็นมูลนิธิ)

ถ้าหากกำลังมองหาเมนูที่จะได้ดื่มด่ำกับรสชาติของดาชิอย่างเต็มที่ล่ะก็ คงต้องยกให้อุด้ง ในบรรดาเมนูอุด้ง เมนูที่ชาวโอซาก้าโปรดปรานคือคิตสึเนะอุด้ง ที่จะวาง “อาบุระอาเกะ” (เต้าหู้ทอด) รสชาติหวานเค็มไว้ด้านบน เป็นอาหารง่าย ๆ แต่สมบูรณ์แบบ ที่ช่วยให้ดื่มด่ำไปกับความกลมกล่อมของดาชิ อุด้ง และวัตถุดิบอื่น ๆ ได้อย่างลงตัว

เอาล่ะ เรามานำเสนอวัฒนธรรมอาหารของจังหวัดโอซาก้ากันดีกว่า โดยจะแบ่งออกเป็นทั้งหมด 4 เขตด้วยกัน ได้แก่ นครโอซาก้า เขตโฮคุเซตสึ เขตคาวาจิและมินามิคาวาจิ และเขตเซ็นชู

< นครโอซาก้า >
ศูนย์กลางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจของญี่ปุ่นตะวันตก ที่ซึ่งร้านอาหารแข่งขันกันอย่างดุเดือดเพื่อเสิร์ฟอาหารที่อร่อยและราคาไม่แพง

ภาพโดย: สำนักส่งเสริมงานประชุมและการท่องเที่ยวเมืองโอซาก้า (องค์กรที่จัดตั้งเป็นมูลนิธิ)

นครโอซาก้าตั้งอยู่ใจกลางจังหวัดโอซาก้า และยังเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการคมนาคม ไม่เพียงเฉพาะในจังหวัดโอซาก้าเท่านั้น แต่ในญี่ปุ่นตะวันตกทั้งหมด ด้วยข้อได้เปรียบของที่ตั้งที่ติดทะเลและมีแม่น้ำหลายสาย ทำให้เมืองแห่งการค้าแห่งนี้สามารถพัฒนาเป็นเมืองท่าเรือได้โดยง่าย
โฉมหน้าของนครโอซาก้านั้นแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เช่น บริเวณคิตะซึ่งเป็นที่ให้กำเนิดเทรนด์ใหม่ ๆ หรือบริเวณมินามิที่สามารถดื่มด่ำกับบรรยากาศของโอซาก้าได้ หรือบริเวณปราสาทโอซาก้าที่สามารถชื่นชมประวัติศาสตร์ของพื้นที่ได้อย่างเต็มที่

ภาพโดย: กล่องข้าวกลางวันโรงเรียนแห่งโอซาก้า (องค์กรที่จัดตั้งเป็นมูลนิธิ)

ย่านเซ็มบะตั้งอยู่ระหว่างบริเวณคิตะและมินามิ เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่ซึ่งโทโยโตมิ ฮิเดโยชิรวบรวมพ่อค้าจากซาคาอิในตอนที่สร้างเมืองรอบปราสาท อาหารของโอซาก้านั้นกล่าวได้ว่าเป็น “อาหารแบบไม่สูญเปล่า (Zero Waste)” แนวคิดนี้จะเห็นได้อย่างชัดเจนใน “เซ็มบะจิรุ” เมนูยอดนิยมในเซ็มบะตั้งแต่สมัยโบราณ เมื่อก่อนในบ้านพ่อค้าย่านเซ็มบะจะมีคนรับใช้จำนวนมากทำงานที่นั่น และอาหารของพวกเขามีอยู่อย่างพอมีพอกิน พวกเขาจะได้ปลา เช่น ปลาซาบะเค็ม เพียงสองครั้งต่อเดือน เซ็มบะจิรุปรุงโดยการต้มน้ำซุปโดยใช้ปลาส่วนหัว ก้าง และส่วนที่เหลือจากการรับประทานส่วนอื่น ๆ และใส่หัวไชเท้า “ไดคง” ลงไปต้มด้วย การใช้วัตถุดิบที่เหลือทิ้งมาทำอาหารนั้นถือได้ว่าเป็นเมนูที่ประหยัดมาก อีกทั้งยังใช้เวลาในการปรุงไม่นาน ทำให้เป็นที่ชื่นชอบของคนในบ้านพ่อค้าอย่างมาก

ภาพโดย: สำนักส่งเสริมงานประชุมและการท่องเที่ยวเมืองโอซาก้า (องค์กรที่จัดตั้งเป็นมูลนิธิ)

เมื่อคิดถึงโอซาก้า อาหารอย่างแรกที่ผุดขึ้นมาในใจคือโอโคโนมิยากิและทาโกะยากิ อาหารจากแป้งสองเมนูนี้ไม่เพียงแต่เป็นอาหารชูใจหลัก ๆ ในชีวิตประจำวันของชาวโอซาก้าเท่านั้น แต่ยังมีชื่อเสียงในหมู่นักท่องเที่ยวในฐานะสัญลักษณ์แห่งโอซาก้าด้วย ร้านที่ขายโอโคโนมิยากิและทาโกะยากิมีกระจายอยู่ทั่วเมือง ทั้งในจุดชมวิวและย่านดาวน์ทาวน์ ซึ่งก็มีสูตรเฉพาะหลากหลายที่แตกต่างกันในรายละเอียด เช่น ดาชิ แป้ง และวัตถุดิบ เป็นต้น

< เขตโฮคุเซ็ตสึ >
เพียงออกมาจากใจกลางเมืองไม่นานก็สามารถชื่นชมทิวทัศน์ของภูเขา แม่น้ำ และ “ซาโตยามะ” ได้ (พื้นที่ผสมระหว่างความเป็นเมืองที่ไม่หนาแน่น แหล่งการเกษตร และพื้นที่ทางธรรมชาติ)

ภาพโดย: สำนักส่งเสริมงานประชุมและการท่องเที่ยวเมืองโอซาก้า (องค์กรที่จัดตั้งเป็นมูลนิธิ)

มีแม่น้ำ 2 สายที่เป็น “แม่น้ำระดับ A” (แม่น้ำที่มีความสำคัญเป็นพิเศษและได้รับการคุ้มครองจากรัฐบาล) ไหลผ่านจังหวัดโอซาก้า สายแรกคือแม่น้ำโยโดะที่มาจากทะเลสาบบิวะ อีกสายหนึ่งคือแม่น้ำยามาโตะที่ได้รับการปรับเส้นทางใหม่ในสมัยเอโดะ

เขตโฮคุเซ็ตสึตั้งอยู่ทางเหนือของแม่น้ำโยโดะ มีเทือกเขาเป็นเส้นแบ่งจังหวัด และทางตอนใต้ของเขตเป็นบริเวณบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ในโฮคุเซ็ตสึมีสถานที่มากมายที่ให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสกับธรรมชาติได้อย่างเต็มที่ เช่น สวนที่ระลึกการจัดงานเอ็กซ์โป 70 ที่มีหอคอยพระอาทิตย์อันมีชื่อเสียง และอุทยานแห่งชาติประจำจังหวัดโฮคุเซ็ตสึ และถ้ามุ่งหน้าออกไปจากตัวเมืองอีกสักหน่อย ก็จะได้เพลิดเพลินกับทิวทัศน์ของซาโตยามะด้วย

ภาพโดย: สมาคมการค้าและอุตสาหกรรมเมืองโนเสะ

เกษตรกรรมมีความเจริญรุ่งเรืองในท้องถิ่น มีการปลูกเกาลัดญี่ปุ่นจากพื้นที่โนเสะที่รู้จักในชื่อ “กินโยเสะ” รวมไปถึงผักดั้งเดิม “นานิวะ” (ชื่อเดิมของโอซาก้า) เช่น “ซุอิตะ คุวาอิ” “ฮัตโตริ ชิราอุริ” “มิชิมะ อุโดะ” “โทริไค นาสึ” “ทาคายามะ โกโบ” และ “ทาคายามะ มานะ”

ในช่วงปลายสมัยเอโดะ ที่หมู่บ้านภูเขาในเขตโฮคุเซ็ตสึจะมีการทำวุ้นคังเต็นในช่วงฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงพักของเหล่าเกษตรกรท้องถิ่น “เด็คจิ โยคัง” คือเมนูที่ทำจากวุ้นคังเต็น ด้วยความที่มีส่วนผสมของน้ำตาลพอประมาณ ทำให้เด็คจิ โยคังมีรสชาติที่ละมุนเมื่อเทียบกับวุ้นโยคังทั่วไปที่ใช้น้ำตาลในการทำปริมาณมาก

< เขตคาวาจิและมินามิคาวาจิ >
พื้นที่ประวัติศาสตร์อันยาวนานจากครั้งโบราณกาล ประเพณีด้านอาหารที่นำพาวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่นมาสู่ยุคปัจจุบัน

ภาพโดย: สำนักส่งเสริมงานประชุมและการท่องเที่ยวเมืองโอซาก้า (องค์กรที่จัดตั้งเป็นมูลนิธิ)

ทางตะวันออกของจังหวัดโอซาก้าคือเขตคาวาจิและมินามิคาวาจิที่เรียงตัวจากเหนือสู่ใต้ตามลำดับเลียบไปตามแม่น้ำยามาโตะ พื้นที่ดังกล่าวมีบทบาทสำคัญทางการเมืองในสมัยก่อน ทำให้มีแหล่งท่องเที่ยวในท้องถิ่นที่แฝงไว้ซึ่งประวัติศาสตร์อันยาวนาน เช่น ที่ฝังศพขนาดใหญ่ที่สร้างในศตวรรษที่ 4 และศตวรรษที่ 5 ซากโบราณสถาน และพื้นที่มรดกทางวัฒนธรรมต่าง ๆ เขตนี้ยังมีความเชื่อมโยงกับผู้อพยพจากต่างแดนมาอย่างยาวนาน ผู้คนมากมายได้เดินทางผ่านพื้นที่นี้ตั้งแต่สมัยโบราณเพราะเป็นถนนสายสำคัญที่เชื่อมต่อโอซาก้ากับเมืองอื่น ๆ เช่น เกียวโตและนารา จึงทำให้บรรยากาศของท้องถิ่นได้รับอิทธิพลจากกลุ่มคนที่หลากหลาย หลังจากที่มีการปรับทิศทางของแม่น้ำยามาโตะในสมัยเอโดะ ทำให้การปลูกฝ้าย “คาวาจิ” มีความเจริญรุ่งเรืองและเกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอขึ้น ปัจจุบันนี้ บริเวณเชิงเขามีทั้งการปลูกพืชผักเช่น มะเขือม่วงและแตงกวา การทำสวนผลไม้ เช่น องุ่น ส้มแมนดาริน และลูกมะเดื่อ และพื้นที่การทำป่าไม้ก็ได้แผ่ขยายขึ้นไปบนที่ราบสูง นครฮิงาชิโอซาก้าและนครยาโอะต่างเป็นที่รู้จักในฐานะแหล่งผลิต

ภาพโดย: กล่องข้าวกลางวันโรงเรียนแห่งโอซาก้า (องค์กรที่จัดตั้งเป็นมูลนิธิ)

มีอาหารท้องถิ่นเมนูหนึ่งที่ได้นำพาวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่นมาสู่ยุคปัจจุบัน ชื่อว่า “อาคาเนโกะ” อาคาเนโกะเป็นขนม “โมจิ” ที่ทำจากข้าวเหนียวและแป้งสาลี มักรับประทานในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมหลังจากลงนาข้าวเพื่อเป็นการอธิษฐานให้ได้ผลผลิตที่ดี ว่ากันว่าที่มาของชื่อขนม (แปลว่า แมวสีแดง ซึ่ง “สีแดง” ในที่นี้ยังใช้กล่าวถึงสีอื่น ๆ ในเฉดใกล้กัน เช่น สีน้ำตาล สีส้ม เป็นต้น) มาจากสมัยก่อนที่ขนมโมจิเป็นสีน้ำตาลเพราะใช้ข้าวสาลีทั้งเปลือกมาบดเป็นแป้ง และรูปร่างของมันก็คล้ายกับแมวที่นอนขดอยู่
ปัจจุบันการเกษตรแบบเมืองในพื้นที่กำลังพัฒนาต่อไป เนื่องจากข้อได้เปรียบเรื่องระยะทางอันใกล้กับตลาดขนาดใหญ่นั่นคือนครโอซาก้านั่นเอง

< เขตเซ็นชู >
มะเขือม่วง “เซ็นชู มิซุนาสึ” ตัวแทนของผักจากเซ็นชู และผักดองซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ประจำถิ่น

ภาพโดย: สำนักส่งเสริมงานประชุมและการท่องเที่ยวเมืองโอซาก้า (องค์กรที่จัดตั้งเป็นมูลนิธิ)

เขตเซ็นชูตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดโอซาก้า ติดกับอ่าวโอซาก้าทางตะวันตกและเทือกเขาอิซุมิทางใต้ ทำให้เป็นพื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ทั้งภูเขาและทะเล ท่าอากาศยานนานาชาติคันไซตั้งอยู่ในเขตนี้ เป็นพื้นที่ที่สามารถเข้าออกได้สะดวกทั้งจากในประเทศและนอกประเทศญี่ปุ่น ยังมีสถานที่อีกหลายแห่งที่สามารถไปสัมผัสกับประวัติศาสตร์ของพื้นที่ได้ เช่น นินโตคุ เท็นโนเรียว โคฟุน สุสานที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และปราสาทคิชิวาดะที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยนัมโบคุโจ

ภาพโดย: ยูมิโกะ ยามานากะ

เขตเซ็นชูอุดมไปด้วยธรรมชาติและมีอากาศอบอุ่นตลอดปี อีกทั้งยังมีผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นมากมาย และผลิตภัณฑ์อย่างหนึ่งที่มีชื่อเสียงไปทั่วประเทศคือ มะเขือม่วง “เซ็นชู มิซุนาสึ” มิซุนาสึ (แปลว่ามะเขือม่วงน้ำ) มีลักษณะพิเศษคือความชุ่มฉ่ำเหมือนชื่อของมัน และด้วยรสชาติที่นุ่มนวลนี้ทำให้สามารถทานดิบได้ ในสมัยก่อน เกษตรกรในพื้นที่จะปลูกมะเขือม่วงมิซุนาสึบริเวณมุมของพื้นที่การเกษตรเพื่อใช้ในการดับกระหาย อาหารพื้นฐานที่มักนำผลิตผลนี้ไปปรุงคือ “เซ็นชู มิซุนาสึ โนะ อาซาซุเกะ” ทำโดยการนำมะเขือม่วงมิซุนาสึไปดองในรำข้าวที่เรียกว่า “นุกะ” เป็นระยะเวลาสั้น ๆ

ภาพโดย: ยูมิโกะ ยามานากะ

เซ็นชู มิซุนาสึจะค่อย ๆ ถูกดองในรำข้าวนุกะหมักเกลือที่เรียกว่า “นุกะโดโกะ” หลังจากนั้นจะนำมิซุนาสึมาต้มรวมกับกุ้งเพื่อทำเมนูที่ชื่อว่า “จาโคะ โกโคะ” “จาโคะ” หมายถึง กุ้ง และ “โกโคะ” หมายถึงผักดอง ด้วยกุ้งที่จับได้จากทะเลใกล้เคียงและมะเขือม่วงมิซุนาสึประจำท้องถิ่น ทำให้อาหารจานนี้กลายเป็นอาหารท้องถิ่นของเซ็นชูที่มีความเฉพาะตัว

จังหวัดโอซาก้า อาหารพื้นเมืองหลัก