จังหวัดวาคายามะ

เทือกเขาคิอิที่ยิ่งใหญ่และกระแสน้ำคุโรชิโอะ พรตามฤดูกาลจากธรรมชาติ

จังหวัดวากายามะครั้งหนึ่งมีฉายาว่า "ดินแดนพฤกษา" สภาพอากาศอบอุ่น มีฝนตกชุก และพื้นที่มากกว่า 80% ของจังหวัดถูกปกคลุมไปด้วยป่าลึก น้ำใสไหลลงจากภูเขาเป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำคิโนกาวะและแม่น้ำคุมาโนกาวะแล้วไหลลงสู่ทะเลในที่สุด สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์นี้ทำให้ทุกฤดูกาลเต็มไปด้วยพืชผล แต่ละภาคของจังหวัดวากายามะไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ต่างมีวัฒนธรรมการประกอบอาหารเป็นของตนเอง

ช่วยค้นคว้า: ร้านอาหารญี่ปุ่น KIRA

“โอไกซัง:" ภูมิปัญญาจาก "ดินแดนพฤกษา" ที่ขาดแคลนพื้นดินเพาะปลูก

"โอไกซัง" เป็นอาหารท้องถิ่นที่ได้รับความนิยมทั่วทั้งจังหวัด มีวิธีการรับประทานที่หลากหลายและแตกต่างกันไปตามพื้นที่และฤดูกาล "โอไกซัง" คือข้าวต้มน้ำชาที่ทำจากข้าวที่หุงด้วย "บังฉะ" หรือชา "โฮจิฉะ" ในดินแดนพฤกษาที่ขาดแคลนพื้นดินเพาะปลูก อาหารจานนี้คือวิธีการที่สร้างสรรค์ที่ออกแบบมาเพื่อเพิ่มปริมาณข้าวที่กิน

กล่าวกันว่าสูตร "โอไกซัง" ที่นิยมกันในภาคเหนือและภาคกลางของวากายามะคือสูตรที่ใส่ถั่ว "อุซุอิเอนโด" ซึ่งอยู่ในฤดูใบไม้ผลิ ในขณะที่ภาคใต้จะเป็นข้าวต้ม "มูคาโงะ" ซึ่งทำจากต้นมันเทศ ในหน้าร้อน "โอไกซัง" เย็นกับบ๊วยดองหรือ "คินซันจิมิโสะ" ช่วยให้เจริญอาหารได้ดี

อาหารพื้นเมืองที่เกิดจากนิทานจาก "ดินแดนพฤกษา"

จังหวัดวากายามะเป็นที่ตั้งของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างภูเขาโกยะและสามศาลเจ้าใหญ่แห่งคุมาโนะ ซึ่งเป็นมรดกโลกที่เป็น "สถานที่ศักดิ์สิทธิ์และเส้นทางแสวงบุญในเทือกเขาคิอิ" ในอดีตสามเณรและผู้สักการะจำนวนมากจะพากันเดินทางไปตามเส้นทางแสวงบุญในพื้นที่

คุณฟุจิซาวะ ซาจิโกะ อาจารย์พิเศษของวิทยาลัยหญิงชินไอวากายามะ อธิบายว่า "เทือกเขาคิอิทอดยาวผ่านจังหวัดอื่นด้วย และว่ากันว่าเส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่ผู้ลี้ภัยใช้หลบหนีไปซ่อนตัวยังพื้นที่ห่างไกลหลังจากพ่ายแพ้ในสงคราม อาหารพื้นเมืองมากมายถือกำเนิดขึ้นจากเรื่องราวของชาวบ้านที่ส่งผู้อพยพไปยังสถานที่ต่อไป"

ตัวอย่างหนึ่งคือ "นาเรซูชิ" ไทระ โนะ โคเรโมริ ผู้ลี้ภัยของเผ่าไทระที่มากบดานในอาริดะได้มาขออาหารจากชาวบ้านขณะนำกองทหารออกจากหมู่บ้าน ในยุคนั้นข้าวยังขาดแคลนอยู่ ชาวบ้านจึงห่อข้าวสุกปริมาณเล็กน้อยและปลาแมคเคอเรลเค็มในใบไม้ให้แก่ผู้ลี้ภัย ไม่กี่วันต่อมา เมื่อผู้ลี้ภัยแกะห่อข้าวก็พบว่าข้าวเกิดการหมักและให้กลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ ทำให้ข้าวมีรสอร่อยมาก กล่าวกันว่านี่คือที่มาของ "นาเรซูชิ" หลังจากกินคำใหญ่แล้ว การเคี้ยวขิงที่แช่ในน้ำส้มสายชูหวานนั้นอร่อยจริง ๆ

นอกจากนี้ เขตโอโตะในทานาเบะก็เป็นต้นกำเนิดของอีกหนึ่งเรื่องราวที่น่าสนใจ ในเทศกาลปีใหม่ ธรรมเนียมอย่างหนึ่งของที่นี่ไม่ใช่การกินขนม "โมจิ" แต่เป็น "โบริ" หรือหัวที่เกิดจากลำต้นเผือกที่อยู่ใต้ดิน โบริใช้เวลาทำสองวัน เมื่อเสร็จแล้วจะเสิร์ฟในจานเคลือบ ในช่วงศตวรรษที่ 14 กลุ่มนักพรต "ยามาบุชิ" บนภูเขาได้ไปเยือนหมู่บ้านโอโตะและขอขนม "โมจิ" แต่ชาวบ้านตอบปฏิเสธตามกฎของหมู่บ้าน ต่อมาชาวบ้านก็พบว่าหนึ่งใน "ยามาบุชิ" นั้นคือเจ้าชายโอโตโนมิยะ โมริโยชิ พระราชโอรสของจักรพรรดิโกไดโงะ เพื่อเป็นการขอโทษสำหรับความไม่สุภาพของพวกเขา ชาวบ้านจึงได้หยุดทำขนม "โมจิ" ในวันปีใหม่และเปลี่ยนมากิน "โบริ" แทน

ในบทความนี้ เราจะแบ่งจังหวัดออกเป็นสามภาค ได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ และแนะนำวัฒนธรรมการทำอาหารของแต่ละพื้นที่ให้คุณได้รู้จัก

< ภาคเหนือ >
แหล่งผลิตข้าวของจังหวัดวากายามะ ซูชิพื้นเมืองของภาคเหนือ

เมืองวากายามะเป็นที่ตั้งของปราสาทคิชูวากายามะ และเป็นสาขาหนึ่งในสามสาขาของตระกูลโทคุงาวะ ภาคเหนือของวากายามะตั้งอยู่ใจกลางเมือง ที่นี่ได้รับการพัฒนาเมืองมาตั้งแต่สมัยอดีตแล้วเนื่องจากเป็นศูนย์กลางของการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของจังหวัด เมื่อเขตเมืองได้รับการพัฒนา ทางน้ำก็เจริญก้าวหน้าเช่นกัน ลุ่มน้ำคิโนกาวะจึงกลายเป็นพื้นที่ที่มีการผลิตมากที่สุดของจังหวัด เมนูพื้นเมืองที่ทำจากข้าวจึงเกิดขึ้นมามากมายด้วยเหตุนี้

กล่าวกันว่า "คาคิโนฮะซูชิ" มีต้นกำเนิดมาจากเมืองฮาชิโมโตะซึ่งเป็นพื้นที่ผลิตลูกพลับ เมนูนี้ทำจากกุ้งและปลาแมคเคอเรลแช่เกลือวางบนข้าวแล้วห่อด้วยใบพลับซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาสมานแผล "คาคิโนฮะซูชิ" ถูกเสิร์ฟเป็นอาหารในเทศกาลฤดูใบไม้ร่วง การใช้ใบพลับที่มีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรียห่อปลาแมคเคอเรลที่มีราคาแพงในสมัยนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เน่าเสียง่ายขณะขนส่งขึ้นเหนือทางแม่น้ำคิโนกาวะนั้นนับเป็นตัวอย่างของภูมิปัญญาของคนโบราณ ในครัวเรือนสมัยใหม่ "คาคิโนฮะซูชิ" นิยมรับประทานกันทุกวัน โดยใช้วัตถุดิบในชีวิตประจำวันอย่างเห็ดชิตาเกะปรุงสุกและลูกชิ้นปลา "คามาโบโกะ"

นอกจากนี้ ฮาชิโมโตะยังมีอาหารพื้นเมืองที่เรียกว่า "มาโบโรชิ โนะ ฮาตากมโบะ" ที่เป็นรากโกโบขนาดใหญ่ ยาวถึง 1 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 5-10 ซม. สายพันธุ์ที่ใช้ก็ไม่ใช่สายพันธุ์พิเศษอะไร ต้นโกโบทั่วไปที่ปลูกในดินสีแดงของพื้นที่นิชิฮาตะที่เชิงเขาโกยะจะโตขึ้นมามีขนาดอ้วนใหญ่อยู่แล้ว เนื่องด้วยขนาดที่ใหญ่นี้เอง ต้นโกโบจึงยากต่อการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว และมีการผลิตในปริมาณที่น้อยลงนับตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เริ่มมีการฟื้นฟูการเพาะปลูกโกโบมากขึ้น รากโกโบมีเนื้อสัมผัสนุ่มและกลิ่นหอม เข้ากันได้ดีกับเมนูจำพวกตุ๋น เมื่อไม่นานมานี้ได้มีการคิดค้นวิธีการกินแบบใหม่ขึ้นมา นั่นคือ "ฮาตากมโบซูชิ" ที่เป็นการยัดข้าวผสมน้ำส้มสายชูใส่เข้าไปในรากโกโบที่หั่นเป็นชิ้นกลม ๆ

ในพื้นที่ดินทรายที่ทอดยาวไปตามแม่น้ำคิโนกาวะ มีการเพาะปลูกขิงมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 โดยใช้ประโยชน์จากสภาพอากาศที่อบอุ่น โดยมีผลผลิตหลักคือขิงอ่อน ที่ปลูกในฤดูหนาวและเก็บเกี่ยวในฤดูร้อน ที่นี่เป็นหนึ่งในแนวหน้าการผลิตขิงอ่อนของญี่ปุ่น ขิงที่นี่น่ารับประทานมากเพราะฉุนน้อยกว่าขิงทั่วไปและมีเนื้อสัมผัสที่ชุ่มฉ่ำเพราะมีน้ำเยอะ "โชกาฮัง" เป็นเมนูที่ทำจากขิงสดหุงกับข้าว กลิ่นหอมสดชื่นทำให้เมนูนี้เป็นเมนูที่น่ารับประทาน เมนูนี้เป็นที่นิยมในตัวเมืองวากายามะ

< ภาคกลาง >
บ้านเกิดของรสชาติญี่ปุ่น ต้นกำเนิดของมิโสะ ซีอิ๊วขาว และพริก "ซันโช"

ในเมืองอาริดะที่อากาศอบอุ่นแม้ในฤดูหนาว พื้นที่ภูเขาถูกทำให้เป็นขั้นบันไดเพื่อสร้างไร่นา ในฤดูใบไม้ร่วง ส้มแมนดารินออกผลอย่างล้นเหลือ เมื่อลงมาจากภูเขา คุณจะพบกับที่ราบเล็ก ๆ และมองเห็นทะเลกว้างใหญ่ไกลออกไป

ท่าเรือประมงมิโนชิมะซึ่งหันหน้าไปทางช่องแคบคิอิเป็นแหล่งจับปลาดาบเงินใหญ่ที่เป็นปลาในท้องถิ่นที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น เนื่องจากปลาชนิดนี้จะว่ายออกสู่อ่าวขณะไล่กินปลาเล็ก ชาวประมงในท้องถิ่นจึงจับมันโดยใช้เหยื่อล่อ ในฤดูใบไม้ร่วง โต๊ะอาหารสำหรับครอบครัวจะเต็มไปด้วยซาซิมิ เทมปุระ และเมนูต้มที่ทำจากปลาชนิดนี้ ปลาใหญ่ที่มีความกว้างสี่นิ้วจะถูกนำไปย่างเกลือ ส่วนปลาที่กว้างสองนิ้วจะถูกนำไปสับแบบดิบ ๆ และรับประทานกับมิโสะผสมน้ำส้มสายชู

ยูอาสะโชที่ตั้งอยู่ทางใต้ของอาริตะเป็นแหล่งกำเนิดของ "คินซันจิมิโสะ" ในตอนต้นศตวรรษที่ 13 มหาปุโรหิตจากวัดโคโคคุจิในเมืองยูระได้นำวิธีการทำมิโสะชนิดนี้มาสอนกับชาวเมืองยูอาสะโชหลังจากที่ได้เรียนรู้วิธีการผลิตในประเทศจีน นอกจากส่วนผสมอย่างถั่วเหลืองและยีสต์ "โคจิ" แล้ว สามารถใส่วัตถุดิบ เช่น มะเขือม่วง แตงกวา และใบงาสับละเอียดเพิ่มได้ตามความชอบเพื่อสร้าง "รสชาติประจำร้าน" หรือ “รสชาติประจำบ้าน” ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

"ซีอิ๊วขาวยูอาสะ" ถูกค้นพบระหว่างการทำมิโสะนี้ เดิมทีมันเป็นของเหลวสีน้ำตาลแดงที่พบในอ่างมิโสะ ซีอิ๊วขาวยูอาสะในปัจจุบันเป็นสูตรปรับปรุงที่ดึงเอารสชาติที่เข้มข้นและกลิ่นของซีอิ๊วรวมถึงรสหวานเค็มมาใช้ แม้แต่ทุกวันนี้ก็ยังเป็นสูตรทำมือแบบดั้งเดิมตามวิธีการผลิตที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีต
เมืองอาริดะกาวะที่อยู่ใกล้เคียงเป็นพื้นที่ผลิตพริกญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียง ในปี 2014 พริก "บูโดซันโช" พริกเม็ดใหญ่เนื้อเยอะที่ปลูกในเขตชิมิซุ ได้กลายเป็นประเด็นร้อนเมื่อเชฟขนมอบชื่อดังระดับโลกใช้พริกชนิดนี้ในช็อกโกแลต ทุกวันนี้ ซีอิ๊วขาว มิโสะ และพริก "ซันโช" คือวัตถุดิบที่ต้องมีในอาหารญี่ปุ่น รสชาติของคิชูกระจายไปทั่วโลก

< พื้นที่ตอนใต้ >
วัฒนธรรมอาหารอันเป็นเอกลักษณ์ที่สร้างขึ้นผ่านภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ

ทะเลคุมาโนะนาดะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยปลาที่มีเนื้อแน่นเพราะกระแสน้ำคุโรชิโอะที่ไหลเชี่ยว ที่นี่เป็นแหล่งจับปลาหลากหลายสายพันธุ์ เช่น ปลาทูน่า ปลาโอแถบ ปลาทูแขก และปลาแมคเคอเรล นอกจากนั้นแล้ว การล่าวาฬแบบดั้งเดิมและการทำประมงเบ็ดราวทูน่ายังคงดำเนินเรื่อยมาในไทจิโชและในนาจิคัทสึอุระโช

ปลานกแก้วญี่ปุ่นที่จับได้ในฤดูหนาวนั้นอร่อยมาก ปลาชนิดนี้อาศัยอยู่ในน่านน้ำชายฝั่งที่เป็นโขดหิน ในฤดูร้อนจะมีกลิ่นคาว แต่ในฤดูหนาวกลิ่นคาวนี้จะหายไปเนื่องจากปลาจะหันไปกินสาหร่ายเป็นหลัก ช่วงวันปีใหม่ที่ทานาเบะจะมีธรรมเนียมการกินปลานกแก้วญี่ปุ่นแทนปลาจาน โดยนำไปตุ๋นในซีอิ๊วขาวและน้ำตาลทรายแล้วเสิร์ฟทั้งตัว

การปลูกบ๊วยมีมากในทานาเบะและมินาเบะโชเนื่องจากสภาพอากาศที่อบอุ่น ในสมัยเอโดะ ชาวนาในทานาเบะต้องเสียภาษีประจำปีอย่างหนัก พวกเขาจึงหันไปปลูกบ๊วยบนที่ดินที่ดินไม่ดีและไม่สามารถใช้ปลูกข้าวได้เพื่อให้ได้รับการยกเว้นภาษี และด้วยกลุ่มศักดินาของทานาเบะที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมนี้เช่นกัน การเพาะปลูกบ๊วยจึงเริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจัง หลังจากเฟ้นหาสายพันธุ์ที่ยอดเยี่ยมมาอย่างยาวนาน พันธุ์นันโกะอุเมะก็ได้รับการจดทะเบียนในปี 1965 บ๊วยสายพันธุ์นี้มีจุดเด่นเป็นเนื้อที่นุ่มฉ่ำ

ในสมัยโบราณ ชาวนาในเขตเทือกเขาคุมาโนะทำอาชีพประมง เกษตรกรรม และป่าไม้ ด้วยชีวิตการทำงานที่ยุ่งวุ่นวายตลอดเวลา กล่องเบนโตะเป็นสิ่งที่อำนวยความสะดวกมากเพราะสามารถแบ่งกินได้ตลอดทั้งวัน "เมฮาริซูชิ" คือเมนูข้าวที่ห่อด้วยผักกาดเขียวดอง เดิมทีเมนูนี้จะทำเป็นจานใหญ่มาก แต่ปัจจุบันนิยมทำให้มีขนาดเล็กและกินง่าย ด้านในคุณจะพบกับวัตถุดิบที่หลากหลาย เช่น ผักกาดเขียวดองสับ บ๊วยดอง ปลาโอแห้งป่น และอื่น ๆ

คุณฟูจิซาวะกล่าวว่า "เมนูที่เกิดจากอาหารในชีวิตประจำวันของคนสมัยก่อนในทุกวันนี้มีส่วนผสมหลากหลายและสีสันสดใส ฉันคิดว่าอาหารพื้นเมืองย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาเมื่อมีการตกทอดจากรุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่ง" เช่นเดียวกับการที่รสชาติเหล่านี้เกิดขึ้นได้จากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษของเรา คนร่วมสมัยก็ใส่ภูมิปัญญาของตนเองเข้าไปด้วยเช่นกันเมื่อเผยแพร่รสชาติที่เข้มข้นของดินแดนพฤกษานี้ต่อไป

จังหวัดวาคายามะ อาหารพื้นเมืองหลัก