อาหารพื้นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ของทตโตริ: การเข้าถึงวัตถุดิบจากภูเขาไดเซ็นที่ยิ่งใหญ่และทะเลญี่ปุ่นอย่างแท้จริง
จังหวัดทตโตริตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของภูมิภาคซันอิง ทิศเหนือติดต่อกับทะเลญี่ปุ่นโดยมีชายฝั่งทอดยาว 133 กม. จากทิศตะวันออกถึงทิศตะวันตก ทิศใต้ติดต่อกับเทือกเขาชูโกคุทำให้มีที่ราบน้อย อย่างไรก็ตาม จังหวัดนี้กลับดำรงชีพด้วยเกษตรกรรม ทั้งการเพาะปลูกข้าวในพื้นที่ลุ่มน้ำ ปลูกผักในพื้นที่สันทราย และทำฟาร์มโคนมใกล้เชิงเขาไดเซ็น สายน้ำใสของเทือกเขาชูโกคุมีปลาแม่น้ำให้จับมากมายตั้งแต่แนวภูเขาจนถึงที่ราบ ทั้งยังมีอาหารทะเลอีกมากมายในทะเลญี่ปุ่นที่เป็นปากทางแม่น้ำ การเพาะเลี้ยงหอยตลับในทะเลสาปและบ่อน้ำมีกระจัดกระจายไปทั่วทั้งจังหวัด พื้นที่นี้จึงมีวัตถุดิบทำอาหารให้เลือกมากมาย
ที่มา: Yuraku ที่พักตากอากาศในมิซาซะออนเซ็น
"กุ้งในตำนาน" และ "เต้าหู้ของผู้โกหก": วัตถุดิบและวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของทตโตริ
ชายฝั่งของทตโตริมีท่าเรือประมงมากมายและอุดมไปด้วยแหล่งอาหารจากทะเลญี่ปุ่น เมื่อก่อน ที่นี่เป็นแหล่งของปลาแมคเคอเรล ปลาทูแขก ปลาสำลีน้ำลึก ปลาอินทรีบั้ง ปลาเนื้ออ่อน และหมึกและนิยมกินแบบสด ๆ เป็นซาชิมิ ในฤดูหนาว แหล่งประมงที่นี่จะจับปูหิมะที่เรียกว่ามัทสึบางานิ
คุณโซอิชิ ชิคุมะ หัวหน้าเชฟที่ Yuraku ที่พักตากอากาศในมิซาซะออนเซ็น กล่าวว่า "มัทสึบางานิมีราคาแพง ผู้คนในพื้นที่จึงมักจะกินโอยางานิที่มีราคาถูกกว่าแทน เมื่อนำมาทำเป็นซุปมิโสะ ปูจะมีน้ำออกมาและทำให้รสชาติอร่อย" นอกจากนั้นแล้ว อิวามิที่อยู่ทางทิศใต้ยังมีผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่เรียกว่าโมซาเอบิหรือกุ้งกุลาดำชนิดหนึ่ง
เพราะว่าสีของกุ้งจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้การส่งออกกุ้งชนิดนี้นอกจังหวัดทำได้ยาก ซึ่งแปลว่ากุ้งชนิดนี้นิยมกินกันในพื้นที่เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ กุ้งชนิดนี้จึงมีฉายาว่า "กุ้งในตำนาน" เนื้อกุ้งมีรสหวานและรสอูมามิ คุณชิคุมะถึงกับต้องยกนิ้วให้กับกุ้งชนิดนี้และกล่าวว่า "กุ้งพวกนี้อร่อยไม่แพ้กุ้งมังกรญี่ปุ่นเลย"
เมื่อพูดถึงอาหารของทตโตริแล้ว วัฒนธรรมการกินเต้าหู้ของที่นี่ก็ขาดไม่ได้เช่นกัน ในสมัยเอโดะ มิทสึนากะ อิเคดะ เจ้าอาณาจักรทตโตริ ได้สนับสนุนให้ประชาชนใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายและสมถะโดยประกาศอย่างเป็นทางการว่าให้รับประทานเต้าหู้แทนปลา ดังนั้นวัฒนธรรมการกินเต้าหู้จึงแพร่กระจายจากเมืองปราสาทไปทั่วทั้งภูมิภาค เมื่อนานมาแล้ว เต้าหู้ทำโดยใช้อะเซมาเมะ (แปลตรงตัวว่า "ถั่วคันนา") หรือถั่วเหลืองที่ขึ้นตามคันดินกั้นนาข้าว ในช่วงต้นยุคโชวะ มีการสร้าง "กระท่อมเต้าหู้" ขึ้นในแต่ละพื้นที่ไว้เป็นที่ให้คนทั้งหมู่บ้านมาช่วยกันทำเต้าหู้ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใช้เวลานาน คุณเอริโกะ คิชิดะ จากแผนกส่งเสริมศูนย์กลางอาหารทตโตริ กล่าวว่า "วันที่ 8 ธันวาคมในแต่ละปีจะมีธรรมเนียมการกินเต้าหู้ที่ไม่ธรรมดาอยู่อย่างหนึ่ง เรียกว่า 'เต้าหู้ของผู้โกหก' กล่าวกันว่าเพื่อลบคำโกหกทั้งหมดที่เคยกล่าวเอาไว้ในปีที่ผ่านมา วัฒนธรรมอาหารของทตโตริและเต้าหู้มีความเชื่อมโยงกับความลับ"
วัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของทตโตริยังมีชีวิตอยู่ในโซนิที่กินในช่วงปีใหม่ ตำนานกล่าวว่าสีแดงของถั่วอะซูกิมีพลังในการปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย โดยเฉพาะในเขตชายฝั่ง ซุปอะซูกิจะถูกเติมน้ำตาลทรายให้หวานเพื่อทำเป็นอะซูกิโซนิที่คล้ายกับเซนไซหรือซุปถั่วแดง ปกติแล้วจะใส่ขนมโมจิลูกเล็ก ๆ ลงในโซนิด้วย แต่ในมิซาซะที่อยู่ทางตอนกลางของจังหวัดจะใส่โทชิโมจิหรือโมจิที่ทำจากเกาลัดและข้าว
อาหารพื้นเมืองของจังหวัดนี้จะแตกต่างกันไปตามวัตถุดิบที่ผลิตได้ในแต่ละพื้นที่ แล้ววัฒนธรรมอาหารแบบไหนบ้างที่เติบโตในภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคตะวันตกของทตโตริ
< ภาคตะวันออก >
วัฒนธรรมการกินเต้าหู้อันเรียบง่ายที่เกิดจากเมืองปราสาท
เมืองทตโตริตั้งอยู่ในพื้นที่ใจกลางภาคตะวันออก มีชื่อเสียงจากสันทรายทตโตริ เมืองนี้เจริญรุ่งเรืองในฐานะเมืองปราสาทนับตั้งแต่นานมาแล้ว ตลอดทั้งปีที่นี่มีปลาหลากหลายสายพันธุ์ให้จับในทะเลญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นปูหิมะในฤดูหนาว ปลาลิ้นหมาและปลาเนื้ออ่อนตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วงถึงใบไม้ผลิ ปลาซาร์ดีนในฤดูใบไม้ผลิ และปลานกกระจอกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า "อาโกะ" ตลอดจนถึงหมึกในฤดูร้อน
อาหารท้องถิ่นที่นี่ใช้ประโยชน์จากความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นกัมฉะจิรุ, อากาเงเรโนโคมาบุริ, ฮาตะฮาตะซูชิ, อิวาชิดังโงะ, อาโกะชิคุวะ และซุรุเมะโนโคจิซุเกะ อุตสาหกรรมป่าไม้เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในพื้นที่ภูเขา ซึ่งมีป่าไม้ที่ได้รับการจัดการอย่างดีแผ่กระจายไปทั่ว ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง สามารถเก็บเกี่ยวลูกพลับ เกาลัด เห็ด และพืชป่าได้ ในขณะที่แม่น้ำก็ชุกชุมไปด้วยปลา เช่น ปลาอายุและปลาตะเพียนญี่ปุ่น ที่นี่ อาหารขึ้นชื่อในท้องถิ่นอย่างคาคิโนฮาซูชิและโทชิโมจินำวัตถุดิบจากภูเขามาใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดี
เพราะเมืองทตโตริเป็นเมืองปราสาท ที่นี่จึงได้รับอิทธิพลอย่างมากจากการปกครองของอาณาจักรทตโตริ และวัฒนธรรมการกินเต้าหู้ที่เริ่มจากปรัชญาความเรียบง่ายและสมถะก็ฝังรากลึกเช่นกัน อาหารพื้นเมืองที่นำเสนอแนวคิดนี้ได้ดีที่สุดคือดงโดโรเกะเมชิหรือข้าวอบเต้าหู้ทอดและผัก "ดงโดโรเกะ" หมายถึง "ฟ้าร้อง" ในภาษาถิ่น อาหารจานนี้ถูกตั้งชื่อตามเสียงการแตกปะทุขณะทอดเต้าหู้ที่ดังคล้ายฟ้าร้อง อาหารชนิดนี้มีต้นกำเนิดมาจากหมู่บ้านชาวนาและชาวเขา นิยมทำในช่วงเวลาสำคัญในปฏิทินการเกษตรและตามงานเลี้ยงของหมู่บ้าน
วัตถุดิบที่ใช้ในดงโดโรเกะประกอบด้วยแครอท โกโบ กระเทียมต้น ผักตามฤดูกาล เห็ดชิตาเกะตากแห้ง และอาบุระอาเกะหรือเต้าหู้แผ่นทอด เมื่อก่อนเมนูนี้จะใช้ผักทำเท่านั้น แต่หลังจากเริ่มเลี้ยงไก่ในสมัยโชวะก็มีการใส่เนื้อไก่ลงไปด้วย นอกจากนั้นแล้ว การแพร่หลายของหม้อหุงข้าวในสมัยโชวะตอนกลางยังทำให้วิธีการทำเมนูนี้เปลี่ยนจากเดิมที่อบทุกอย่างพร้อมกันเป็นผสมกันหลังจากปรุงสุกแล้ว ดังนั้น อาหารพื้นเมืองชนิดนี้จึงได้รับการสืบสานมาเรื่อยในขณะที่มีการปรับให้เข้ากับยุคสมัยไปพร้อม ๆ กัน ความสามารถในการปรับตัวนี้อีกทั้งความสะดวกของการทำในหม้อหุงข้าว ผนวกกับความสามารถในการหาวัตถุดิบอย่างง่ายดายในทุกฤดูกาล จึงทำให้อาหารจานนี้เป็นที่โปรดปรานมาจนถึงปัจจุบัน
< ภาคกลาง >
อิงิซุ: อาหารที่อบอวนด้วยกลิ่นอายของท้องทะเลที่ขาดไม่ได้ในการแสดงความยินดีและการแสดงความเสียใจ
ใกล้ทะเลสาปโทโกในใจกลางจังหวัดเป็นแหล่งที่อยู่ของชุมชนที่ประกอบอาชีพทำนาและกสิกรรม สาลี่ญี่ปุ่นอย่างสาลี่นิจิเซกิและสาลี่ชินคังเซ็นที่ปลูกในจังหวัดทตโตริก็นิยมเพาะปลูกในพื้นที่นี้เช่นกัน ปูแม่น้ำมีให้จับในทะเลสาป กันฉะจิรุหรือซุปใสที่ทำจากเนื้อปูป่นเป็นเมนูที่คุ้นเคยกันดีในภาคกลาง
นอกจากนี้ คุณลักษณะพิเศษของดินทรายตามแนวชายฝั่งทะเลญี่ปุ่นก็เป็นแหล่งเพาะปลูกกระเทียมต้นญี่ปุ่นและมันเทศที่ดี ในขณะที่หน้าดินดำร่วนซุยที่พบในที่ราบเชิงเขาไดเซ็นก็เหมาะกับการปลูกแตงโม
ในฤดูใบไม้ผลิ อิงิสุงุสะจะเจริญเติบโตได้ดีบนหินที่อยู่ตามแนวชายฝั่ง สาหร่ายทะเลชนิดนี้มีอีกชื่อหนึ่งว่าเอโงโนริ สามารถนำไปต้มและทำให้แข็งตัวเป็นอิงิซุ ซึ่งเป็นเมนูที่เคยได้รับความนิยมตามงานฉลองภายในครอบครัว เมนูนี้เหมือนกับคันเท็นและโทโคโรเท็น คือเมื่อนำไปผ่านความร้อนจนละลายจะแข็งตัวตามธรรมชาติ แม้จะมีหน้าตาคล้ายกับโยคัน แต่สาหร่ายชนิดนี้จะมีกลิ่นทะเลแรงกว่าและมีเนื้อสัมผัสคล้ายเยลลี่
"คุณสามารถพบเห็นเมนูที่คล้ายคลึงกันนี้ได้ทั่วไปในญี่ปุ่นฝั่งตะวันตก แต่อิงิซุของทตโตริมีจุดเด่นคือไม่ใช้วัตถุดิบอย่างอื่นเลย เมนูนี้โรยหน้าด้วยเมล็ดงาและกินกับมิโสะผสมน้ำส้มสายชูหรือซีอิ๊วขาวผสมขิง" คุณคิชิดะกล่าว
< ภาคตะวันตก >
โอบรับความอุดมสมบูรณ์จากภูเขาไดเซ็นด้วยความเคารพ
ภูเขาไดเซ็นคือยอดเขาที่สูงที่สุดในภูมิภาคชูโกคุ และมีอีกชื่อหนึ่งว่าโฮกิไดเซ็น ซึ่งตั้งตามชื่อเดิมของภาคตะวันตกที่เรียกว่า "โฮกิโนะคูนิ" การเกษตรของที่นี่เป็นไปได้ด้วยดีบนดินที่อุดมสมบูรณ์บริเวณเชิงเขา ทั้งยังได้รับการหล่อเลี้ยงด้วยสายน้ำจากภูเขาและหน้าดินดำร่วนซุย อาหารท้องถิ่นที่เป็นมรดกตกทอดของที่นี่มีการใช้ข้าวและพืชผักที่เพาะปลูกอย่างคุ้มค่า ที่ชายฝั่งเป็นคาบสมุทรยูมิกาฮามะที่เป็นส่วนโค้งเว้าเข้าไปในทะเล ขนาบสองข้างด้วยอ่าวมิโฮะและนากาอุมิ อุตสาหกรรมประมงที่นี่ชุกชุมไปด้วยปูหิมะสีแดง ส่วนอุตสาหกรรมการเกษตรที่แข็งแกร่งก็ปลูกมันฝรั่งในดินทราย เมนูอย่างอิโมโบตะหรือโบตะโมจิชนิดหนึ่งที่ใช้มันเทศคืออาหารที่เป็นมรดกตกทอดกันมาอย่างช้านาน
ความยิ่งใหญ่ของภูเขาไดเซ็นทำให้ที่นี่เป็นสถานที่สักการะมาช้านานแล้ว ผู้คนเดินทางมาจากทั่วประเทศญี่ปุ่นเพื่อเยี่ยมชมวัดไดเซ็นจิที่ตั้งอยู่ด้านข้างภูเขา และอาหารท้องถิ่นของที่นี่ก็ได้รับความนิยมอย่างมากในฐานะส่วนหนึ่งของอาหารกล่องที่เสิร์ฟให้กับผู้มาแสวงบุญ หนึ่งในนั้นคือไดเซ็นโอโกวะหรือข้าวเหนียวที่นึ่งกับวัตถุดิบในท้องถิ่นอย่างรากโกโบ แครอท มันเทศ ไก่ไดเซ็น และอาโกะชิคุวะ
ว่ากันว่าเมนูจานนี้มีต้นกำเนิดมาจากพระนักรบแห่งไดเซ็นจิที่นึ่งข้าวพร้อมกับไก่ฟ้าภูเขาและพืชภูเขาเพื่อสวดภาวนาขอชัยชนะเมื่อถึงยามออกรบ ในยุคเมจิ อาหารจานนี้กลายเป็นที่ชื่นชอบของคนที่มาเดินตลาดปศุสัตว์ที่จัดขึ้นในทุ่งหญ้าหน้าวัดไดเซ็นจิที่เรียกว่าฮาคุโรสะ อย่างไรก็ตาม เมนูนี้ไม่ได้มีชื่อเรียกว่าไดเซ็นโอโกวะจนกระทั่งภายหลังสมัยเมจิ ก่อนหน้านั้นเมนูนี้ถูกตั้งชื่อตามภูมิภาคอาเซริว่าอาเซริโอโกวะ
ในบรรดาอาหารท้องถิ่นที่ใช้เต้าหู้มีจานหนึ่งที่เรียกว่าอิตาดากิ ซึ่งทำโดยใส่ข้าวและผักเข้าไปในเต้าหู้ทอดแล้วนำไปนึ่ง แม้ว่าจะมีหน้าตาคล้ายกับอินาริซูชิ แต่ก็มีวิธีการเตรียมที่แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง คือ นำข้าว แครอท และรากโกโบยัดไส้เข้าไปในเต้าหู้ทอดชิ้นใหญ่ จากนั้นนำไปนึ่งกับน้ำสต็อกช้า ๆ ในยูมิกาฮามะทางตะวันตกส่วนใหญ่แล้วเมื่อใดก็ตามที่มีงานพิเศษ แต่ละครัวเรือนจะทำอาหารจานนี้และนำไปแจกจ่ายให้กับคนในหมู่บ้าน เมนูนี้ทำขึ้นครั้งแรกเมื่อครั้งที่ข้าวเป็นของมีราคา อาหารจานนี้จึงถือเป็นการฉลองอย่างแท้จริง ดังนั้นบางคนจึงกล่าวว่าเมนูนี้ถูกตั้งชื่อว่าอิตาดากิเพราะต้องการให้ผู้รับ "รับอย่างเคารพนอบน้อม" จากคำว่า "อิตาดากุ" ในภาษาญี่ปุ่น บางคนก็ว่าเป็นเพราะรูปร่างที่คล้ายกับยอดเขาไดเซ็น จึงถูกตั้งชื่อตามนั้น ("อิตาดากิ" อีกความหมายหนึ่งแปลว่า "ยอดเขา")
แม้ว่าทตโตริจะมั่งคั่งไปด้วยทรัพยากร แต่วัฒนธรรมอาหารของทตโตรินั้นถูกหล่อหลอมขึ้นจากแนวคิดเรื่องความเรียบง่ายและสมถะ อาหารท้องถิ่นมากมายของจังหวัดที่ทำให้เราได้เพลิดเพลินกับรสชาติที่สดใหม่ตามฤดูกาลของภูมิภาคนี้ จะยังคงได้รับการสืบสานและเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีแน่นอน