วัฒนธรรมอาหารของซานุกิที่บ่มเพาะด้วยเกษตรตามฤดูกาล การกักเก็บน้ำ และการประมง
ทุ่งราบซานุกิตั้งอยู่ในภูมิภาคชิโกกุและโอบล้อมด้วยภูเขา ทุ่งราบอันอุดมสมบูรณ์นี้กินพื้นที่ครึ่งหนึ่งของจังหวัดคางาวะ ด้วยภูมิอากาศอบอุ่นและมีภัยธรรมชาติไม่บ่อยนักในอาณาเขต ทำให้เหมาะสำหรับการปลูกข้าวเจ้าและข้าวสาลี อีกทั้งวัฒนธรรมการเกษตรในพื้นมีการพัฒนามาตั้งแต่สมัยยาโยอิในอดีต
ข้อมูลนี้ได้รับการช่วยเหลือจากวิทยาลัยเทคนิคการประกอบอาหารและโรงเรียนเฉพาะทางนานาชาติคิตางาวะ และซานุกิ เมงเกียว
บรรพบุรุษแห่งคางาวะผู้เอาชีวิตรอดด้วยภูมิปัญญาและความเฉลียวฉลาด
เนื่องจากมีปริมาณน้ำฝนน้อยและระยะห่างระหว่างแม่น้ำกับทะเลไม่มาก ทำให้ภาวะขาดแคลนน้ำจืดเคยเป็นปัญหาสำคัญในพื้นที่ แล้วบรรพบุรุษของคางาวะพัฒนาวัฒนธรรมด้านเกษตรกรรมและอาหารด้วยทรัพยากรน้ำอันจำกัดนี้ได้อย่างไรกัน? เราได้พูดคุยกับคุณคาซุโยะ ทสึกิตะ อาจารย์วิชาอาหารและโภชนาการแห่งภาควิชาชีวิตและวัฒนธรรมที่วิทยาลัยชั้นต้นคางาวะ คุณยูกิโกะ อิเคอุจิ หัวหน้าอาจารย์โภชนาการประจำจังหวัดคางาวะและหัวหน้ากลุ่มทีมวิจัยโภชนาการโรงเรียน และคุณโทชิโกะ ทสึคุดะ รองประธานสภาประสานงานกลุ่มศึกษาด้านชีวิตแห่งจังหวัดคางาวะ
ทางตอนบนของทุ่งราบมารุกาเมะมีอ่างเก็บน้ำขนาดมหึมาชื่อ “มันโน อิเคะ” มีอาณาเขตประมาณ 20 กม. อ่างเก็บน้ำนี้ถูกสร้างขึ้นในศตวรรษที่ 8 โดยมีเป้าหมายเพื่อการชลประทาน ซึ่งอ่างเก็บน้ำหลายแห่งในจังหวัดก็ถูกสร้างขึ้นด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ ว่ากันว่าเกษตรกรรมสามารถประสบความสำเร็จได้ด้วยการจัดการแหล่งน้ำอย่างระมัดระวัง ในสมัยเอโดะ ในขณะที่แต่ละแคว้นเริ่มปลูกนาข้าวใหม่ ทุ่งซานุกิยังคงสร้างอ่างเก็บน้ำอ่างแล้วอ่างเล่า นี่เป็นเพราะว่าอ่างเก็บน้ำไม่เพียงแต่เลี้ยงดูนาข้าวเท่านั้น แต่ยังเลี้ยงดูชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรด้วย ปลาคาร์ปไม้กางเขน ปลาหมู ปลาไน ปลาไหล กุ้ง และปลาบู่ทราย “โมโรโกะ” จากอ่างเก็บน้ำถือเป็นแหล่งอาหารที่มีค่าอย่างยิ่ง และกลายเป็นผลผลิตประจำควบคู่ไปกับข้าวด้วย
จังหวัดนี้มีขนาดพื้นที่เล็กที่สุดในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งแน่นอนว่าพื้นที่เกษตรกรรมย่อมมีจำกัด แต่ภายใต้ภาวะที่ไม่เป็นใจเหล่านี้ ภูมิปัญญาและความเฉลียวฉลาดในการเอาชีวิตรอดของผู้คนได้ถูกยกระดับและนำพาให้พวกเขาพัฒนาการเกษตรในคางาวะ ตัวอย่างเช่น ในสมัยก่อนมักนิยมปลูกถั่วปากอ้าบนคันนาเพื่อใช้พื้นที่เพาะปลูกอย่างมีประสิทธิภาพ “โชยุ มาเมะ” คืออาหารอันโอชะที่ผสมถั่วปากอ้าที่หวานและนุ่มนวลนี้กับเหล้าสาเกท้องถิ่นหลายชนิด อาหารจานนี้ทำโดยการนำถั่วปากอ้าไปย่างและแช่ไว้ในซอสเครื่องปรุงที่ทำจากซีอิ๊วหรือน้ำตาลเคี่ยวข้ามคืน พอถึงโอกาสพิเศษเช่นกิจกรรมของเหล่าเกษตรกรหรือเทศกาลหมู่บ้าน จะเสิร์ฟอาหารชนิดนี้คู่กันกับเหล้าสาเก และด้วยเหตุที่เป็นอาหารที่สามารถเก็บได้นาน มันจึงเป็นจานเคียงที่เข้ากันได้ดีในวันธรรมดาเช่นกัน
นอกจากนั้นแล้ว แต่ละครอบครัวจะแบ่งพื้นที่เพาะปลูกเพื่อยกแปลงผักบริเวณใกล้บ้าน ซึ่งให้ผลผลิตตลอดปี หนึ่งในผลผลิตปกติคือ “มัมบะ” ซึ่งเป็นผักกาดเขียวปลี “ทาคานะ” ประเภทหนึ่ง เพราะว่าใบของมันงอกขึ้นมาทีละใบ จึงเรียกว่า “มัมบะ” (พันใบ) ในเขตโทซัง และ “เฮียกกะ” (ร้อยกลีบ) ในเขตเซซัง อาหารจานนี้จัดเตรียมโดยการนำผักชนิดนี้ไปต้มและหั่นฝอย แล้วนำไปผัดในน้ำมันพร้อมกับวัตถุดิบอื่นเช่นเต้าหู้และ “อาบุระอาเกะ” (เต้าหู้ทอด) แล้วเติมเครื่องปรุงในขั้นตอนสุดท้าย เช่น “อิริโกะ ดาชิ” (น้ำสต็อกซุป) และซีอิ๊ว เมนูนี้ชื่อว่า “มัมบะ โนะ เคนจัง” ในภาษาเขตโทซัง และ “เฮียกกะ โนะ เซกกะ” (ร้อยกลีบบุปผาหิมะ) ในภาษาเขตเซซัง ที่ซึ่งเต้าหู้ถูกเปรียบว่าคล้ายก้อนหิมะ
เมนูเส้น “อุด้ง” ท้องถิ่นในจังหวัดถือกำเนิดจากการรวมตัวของวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น
ทะเลเซโตะในคือขุมทรัพย์แห่งผลผลิตจากทะเล และมักจะถูกเรียกว่าเป็น “ฟาร์มปลาธรรมชาติ” แม้จะมีขนาดเล็ก แต่ปลาที่จับได้นั้นมีเนื้อแน่นเนื่องจากถูกเคี่ยวกรำจากกระแสน้ำเชี่ยวที่ไหลอยู่ในน่านน้ำแห่งนี้ มีสัตว์ทะเลกินได้หลายชนิดในพื้นที่ อาทิ ปลาตระกูลแอนโชวีที่เกาะอิบุกิจิมะ ปลาท้องถิ่นในวงศ์ปลากะพงแสมที่เรียกว่า “เซโตะได” ปลาทราย ปลาหมึก และกุ้ง
มีการเพาะปลูกอยู่บนทุ่งราบและมีการทำประมงบริเวณชายฝั่ง และอุด้งคือเมนูที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรท้องที่เหล่านี้มากที่สุด ฤดูหนาวอากาศไม่รุนแรงและเหมาะแก่การปลูกข้าวบาร์เลย์ มีการผลิตเกลือบนชายฝั่งน้ำตื้น ปลาแอนโชวีที่จับได้จากทะเลเซโตะในนำมาใช้แทนปลาซาร์ดีนตากแห้งเพื่อทำดาชิ มีการปลูกต้นหอมทั่วพื้นที่จังหวัด และเกาะโชโดชิมะขึ้นชื่อในเรื่องการผลิตซีอิ๊ว วัตถุดิบที่จำเป็นสำหรับอุด้งทั้งหมดสามารถหาได้ใกล้ ๆ มันคืออาหารประจำถิ่นของจังหวัดที่ถือกำเนิดจากสภาพภูมิอากาศและลักษณะทางธรรมชาติของคางาวะ
เอาล่ะ เรามาแนะนำวัฒนธรรมอาหารประจำจังหวัดกัน โดยแบ่งออกเป็น 4 เขต คือ โทซัง ชูซัง เซซัง และเขตหมู่เกาะ
< เขตโทซัง >
ขนมหวานและซูชิแบบดั้งเดิมที่ถูกส่งต่อมาแต่ครั้งโบราณกาล
เขตโทซังเคยเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นทากามัตสึในฐานะอดีตจังหวัดซานุกิ มีการผลิตอ้อยซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่สมัยเอโดะภายใต้คำสั่งของโยริทากะ มัตสึไดระ เจ้าครองแคว้นทากามัตสึคนที่ห้า สภาพอากาศที่อบอุ่นและปริมาณฝนปานกลางทำให้เหมาะต่อการเพาะปลูก ส่งผลให้เกิดการผลิตน้ำตาล “ซังบง” คุณภาพดีในท้องถิ่น ทุกวันนี้มีการเพาะปลูกในพื้นที่จำกัดเพียงแค่บริเวณฮิเคตะในเมืองฮิงาชิคางาวะเท่านั้น อย่างไรก็ตามน้ำตาลซังบงของท้องถิ่นที่ละลายในปากยังคงเป็นที่นิยมในฐานะของฝากอยู่
ขนมหวานดั้งเดิมชื่อว่าอุซุมากิ โมจิ มีที่มาจากฮิเคตะที่ตั้งอยู่ติดกับเขตเมืองนารุโตะในจังหวัดโทกูชิมะ และยังคงได้รับการสืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณ ขนมหวานชนิดนี้กล่าวกันว่าเป็นตัวแทนของกระแสน้ำวนนารุโตะ ทำโดยการใช้แป้งข้าวเจ้าสีชมพูนุ่ม ๆ ห่อไส้ถั่วบด เพื่อสื่อถึงความรู้สึกของชาวประมงจากฮิเคตะที่เสียพื้นที่ทำประมงจากการต่อสู้กับกระแสน้ำวนนารุโตะในสมัยเอโดะ ปัจจุบันขนมชนิดนี้ใช้เพื่อเพิ่มความสดใสให้งานฉลองในเทศกาลตุ๊กตา
นอกจากนั้น พื้นที่ของโทซังล้อมรอบด้วยทะเลทั้งสามด้าน ทั้งทิศตะวันออก ทิศเหนือ และทิศตะวันตก บริเวณชายฝั่งนี้มีทรัพยากรมากล้นสำหรับการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หนึ่งในนั้นคือซอลต์เลก (อาโดอิเคะ) ในฮิเคตะ ที่เป็นสถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์ทะเลที่ประสบความสำเร็จเป็นแห่งแรกของประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ. 1928 และมีชื่อเสียงเรื่องการเพาะเลี้ยงปลาสำลีหรือปลาบุริสายพันธุ์ “ฮามาจิ” “ฮิเคตะบุริ” เป็นชื่อผลิตภัณฑ์ปลาที่เพาะเลี้ยงที่นี่ มีไขมันเยอะและให้เนื้อสัมผัสที่ยอดเยี่ยม
เกษตรกรรมมีความเจริญรุ่งเรืองบนพื้นที่ราบที่เปิดโล่งจากตีนเขาซานุกิ และเมนูท้องถิ่นหลายเมนูของเขตนี้ก็มาจากผลผลิตในท้องถิ่น ในช่วงต้นและช่วงท้ายของฤดูเก็บเกี่ยว จะมีการทำอาหารที่ชื่อ “คัง-คัง ซูชิ” โดยการนำข้าวขาวอัดเข้าไปในกรอบไม้สี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ วางข้างบนด้วยปลาแม็กเคอเรลสเปนสายพันธุ์ญี่ปุ่นที่แช่ในน้ำส้มสายชู แล้วปิดฝา ชื่อนี้มีที่มาจากการใช้ค้อนไม้ทุบแท่นเสียบรูปลิ่ม ทำให้เกิดเสียง “คัง-คัง” ขึ้น ว่ากันว่ากล่องไม้นี้เคยใช้เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ต้องมอบให้เป็นสินสอดด้วย
< เขตชูซัง >
อาหารประจำฤดูที่มีที่มาจากวัฒนธรรมการกักเก็บน้ำในชนบท
เขตชูซังเป็นที่ตั้งของทุ่งราบซานุกิที่แผ่ขยายและมีปริมาณน้ำจืดน้อย ดังนั้น ในอดีตจึงมีการใช้อ่างเก็บน้ำหลายแห่งสำหรับกักเก็บน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงถึงฤดูหนาวที่การเก็บเกี่ยวข้าวสิ้นสุดลงแล้ว จะมีการ “สูบอ่างเก็บน้ำ” ซึ่งทำให้สามารถจับปลาน้ำจืดจำนวนมากเช่นปลาไนและปลาคาร์ปไม้กางเขนได้ตอนที่ปล่อยน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำ ช่วงระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคมเป็นช่วงที่สามารถจับปลาหมูได้ก่อนจะมีการปลูกข้าว ซึ่งจะเป็นฤดูของการทำ “โดโจจิรุ” (ซุปปลาหมู) แสนอร่อย ปลาหมู ผัก และเส้นอุด้งอวบ ๆ จะถูกนำมาต้มรวมกันในหม้อใบใหญ่ และเป็นธรรมเนียมที่ต้องรับประทานพร้อมหน้ากันในหมู่บ้านและการรวมกลุ่มต่าง ๆ นี่คืออาหารชูกำลังเพื่อป้องกันความเหนื่อยล้าจากอุณหภูมิในฤดูร้อน
ข้าวสาลีจะปลูกหมุนเวียนกับข้าวเจ้า และที่บริเวณนาจะมีการทำเส้นอุด้งและแป้งปั้นโดยการนวดแป้งข้าวสาลีกับน้ำ เป็นอาหารจานพิเศษที่เสิร์ฟในช่วงเปลี่ยนฤดูและในช่วงงานเฉลิมฉลอง ประมาณวันที่ 2 กรกฎาคม เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวสาลีและปลูกข้าวเจ้าเสร็จแล้ว จะมีการเตรียม “ฮาเงะ ดังโงะ” ที่ทำจากแป้งสด ว่ากันว่าเป็นอาหารที่ใช้เลี้ยงคนที่มาช่วยทำนาจากตีนเขาซานุกิ และจากนั้นก็จะให้พักผ่อนร่างกายเป็นเวลาครึ่งวัน เมื่อแต้มด้วยถั่วแดงบดด้านบนแล้วก็รื่นรมย์ไปกับกลิ่นของข้าวสาลีได้เลย
< เขตเซซัง >
พรอันอุดมสมบูรณ์จากที่ราบมิโตโยะและทะเลเซโตะใน
เขตเซซังตั้งอยู่ทางตะวันตกสุดของจังหวัด ล้อมรอบด้วยภูเขาทั้งสามด้าน ด้านในมีที่ราบมิโตโยะที่แผ่ขยายจากตีนเขาไปจรดทะเล ที่ราบมิโตโยะมีอากาศอบอุ่นและดินอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งภัยธรรมชาติก็มีน้อย ทำให้เกษตรกรรมมีความเจริญถึงขีดสุดในพื้นที่นี้ มีการปลูกพืชผักเช่นข้าวสาลี บรอกโคลี และผักกาดหอม หมุนเวียนไปกับข้าวเจ้า
สำหรับพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือหันหน้าออกสู่ทะเลเซโตะใน จะมีเกาะอิบุกิจิมะที่ตั้งอยู่ในทะเลฮิอุจินาดะทางตะวันตกของเมืองคันอนจิ ซึ่งเป็นแหล่งประมงชั้นดีสำหรับการตกปลาแอนโชวี มีการตกปลาชนิดนี้มาตั้งแต่สมัยเอโดะเพื่อใช้ในการทำปลาแห้ง “อิริโกะ”
เมื่อจับปลาแอนโชวีได้ มันจะถูกนำขึ้นฝั่งและเทลงจากเรือผ่านท่อไปยังโรงงานผลิตโดยตรง ปลาแอนโชวีแห้งจะถูกนำไปอบภายใน 30 นาทีหลังจากจับได้ ดังนั้นแม้จะไม่ได้นำเครื่องในออกก็จะไม่มีรสที่รุนแรง สามารถนำไปทำน้ำสต็อกซุปที่รสชาติดีได้ ปลาแห้ง “อิบุกิ อิริโกะ” เหล่านี้เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการทำ “ซานุกิ อุด้ง” แต่สามารถนำไปทานเป็นส่วนหนึ่งของ “อิริโกะ เมชิ” (ข้าวหน้าอิริโกะ) ได้ เมื่อเติมปลาอิริโกะ (หลังจากนำหัวและเครื่องในออก) และผักที่ปรุงรสแล้วลงไปในข้าว เมนูที่ออกมาจะทำให้เราอิ่มเอมไปกับกลิ่นและความอุมามิของน้ำสต็อกดาชิอย่างเต็มที่
ที่ศาลจ้าอุงะในโทโยนากะโจ เมืองมิโตโยะ มีการเสิร์ฟซุปเอบิมิโซะที่ทำจากกุ้งชิบะในช่วงเทศกาลฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง กุ้งจะถูกสับละเอียดด้วยมีดตั้งแต่หัวถึงหางโดยไม่มีส่วนใดเหลือทิ้ง ใช้แม้กระทั่งน้ำซาวข้าวเพื่อให้ได้ความเข้มข้น นี่คือเมนูท้องถิ่นที่ทำให้รู้สึกถึงความสำนึกของผู้คนในอดีตต่อความโอบอ้อมอารีของธรรมชาติ
< เขตหมู่เกาะ >
วัฒนธรรมชนบทอันเป็นเอกลักษณ์ที่มีต้นกำเนิดจากโชโดชิมะและเกาะอื่น ๆ ในเขต
รอบ ๆ หมู่เกาะของทะเลเซโตะในสามารถจับสัตว์ทะเลได้หลากหลายชนิด เช่น ปลาแม็กเคอเรลสเปนสายพันธุ์ญี่ปุ่นและปลาทรายแดงในฤดูใบไม้ผลิ ปลามังกรและกุ้งในฤดูร้อน ปลาหมึกยักษ์ “มาดาโกะ” และปลาไหลทะเลในฤดูใบไม้ร่วง และปลาลิ้นหมาญี่ปุ่นในฤดูหนาว หอยสามารถพบได้จากการขุดหาหอยลายในฤดูใบไม้ผลิ และสาหร่ายเช่นอิงิสุและเทนกุสะมีมากในฤดูร้อน
ในโชโดชิมะ มีการทำซีอิ๊วและเส้น “โซเมง” มาตั้งแต่ครั้งโบราณ และเกษตรกรรมก็ช่วยเพิ่มชีวิตให้กับวัฒนธรรมอาหารที่แตกต่างนี้ ในสมัยเอโดะ การแสดง “คาบูกิ” (ละครญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมรูปแบบหนึ่ง) ในท้องถิ่นเป็นกิจกรรมยามว่างของเกษตรกร คนดูจะนำข้าวกล่อง “วาริโงะ เบนโต” มาแบ่งปันกับครอบครัวและญาติมิตร
กล่องข้าวนี้ทำจากไม้ทำเป็นลิ้นชักหลาย ๆ ขนาด ใส่ข้าวและเครื่องปรุงต่าง ๆ สำหรับคนจำนวนยี่สิบถึงสามสิบคน แม้กระทั่งในปัจจุบันก็ยังมีการแสดง “คาบูกิท้องถิ่นนาคายามะ” ในช่วงต้นเดือนตุลาคมอยู่ และว่ากันว่าผู้คนยังนำวาริโงะ เบนโตไปทานกันอยู่ด้วย
บนเกาะมีผลผลิตข้าวบาร์เลย์และมันเทศเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนั้น “ชางายุ” จึงกลายเป็นเมนูท้องถิ่นที่มีชื่อเสียง ทำโดยการใส่ข้าวลงไปในน้ำชา ปล่อยให้เม็ดบาน แล้วเติมมันเทศและถั่วลงไป กลายเป็นอาหารมื้อที่เต็มอิ่มจากข้าวที่มีเพียงปริมาณน้อยนิด ว่ากันว่าหมู่เกาะชิวากุประกอบด้วยเกาะใหญ่เล็กจำนวน 28 เกาะ ดังเช่นเกาะฮนจิมะในเมืองมารุงาเมะ ที่ผู้คนเคยทำชางายุด้วยชา “โกอิชิฉะ” ที่ผลิตจากจังหวัดโคจิในฐานะสิ่งแลกเปลี่ยนกับเกลือ ผ้า และข้าวของคางาวะ เนื่องจากใบชามีการหมักสองขั้นตอน ทำให้มีรสฝาดลึกและมีความเปรี้ยว ซึ่งสามารถทานได้โดยไม่ต้องปรุงเพิ่ม