จังหวัดคุมาโมโตะ

อาหารที่อุดมสมบูรณ์และสีสันแห่งภูมิภาคของดินแดนแห่งไฟที่ได้รับพรจากธรรมชาติ

เนื่องจากมีภูเขาไฟอะโซะที่ยังคุกรุ่นอยู่ ผู้คนจึงเรียกจังหวัดคุมาโมโตะกว่าดินแดนแห่งไฟ คุมาโมโตะตั้งอยู่ในใจกลางของภูมิภาคคิวชู โดยมีภูเขาอะโซะอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลอาริอาเกะและทะเลยัตสึชิโระ (ชิรานุอิ) ทางทิศตะวันตก หมู่เกาะอามาคุสะเชื่อมต่อกันด้วยสะพานทั้งห้าแห่งอามาคุสะไปยังปลายคาบสมุทรอุโตะที่ยื่นออกไปในทะเล เดิมทีผู้คนเรียกที่นี่ว่าดินแดนแห่งฮิโกะ เป็นดินแดนที่ครั้งหนึ่งเคยปกครองโดยผู้บัญชาการทหารคิโยมาสะ คาโตะ ในยุคเอโดะ ปราสาทคุมาโมโตะซึ่งสร้างโดยคิโยมาสะเมื่อ 400 ปีก่อนได้รับความเสียหายอย่างหนักจากแผ่นดินไหวคุมาโมโตะในเดือนเมษายนปี 2016

ที่มาของคลิปวิดีโอ: SHUN GATE เว็บไซต์ข้อมูลวัฒนธรรมอาหารญี่ปุ่น
สนับสนุนการรายงาน: โรงแรม เอเอ็นเอ คราวน์ พลาซ่า คุมาโมโตะ นิวสกาย, ฮายาคาวะ ร้านอาหารในท้องถิ่น

คิโยมาสะ คาโตะ วีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ และวิถีของเขาในคุมาโมโตะ

จังหวัดคุมาโมโตะทั้งหมดอยู่ภายใต้สภาพอากาศของชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก และพื้นที่นอกอะโซะมีอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 15 ถึง 17 องศาเซลเซียส อุณหภูมิในฤดูร้อนและฤดูหนาวแตกต่างกันอย่างมากเนื่องจากฤดูหนาวมีเวลากลางวันสั้น นอกจากนี้ สภาพอากาศในภูมิภาคยังมีความแตกต่างกันเล็กน้อยเนื่องจากมีภูเขา ทะเล ที่ราบ และหมู่เกาะต่างๆ มากมาย

คิโยมาสะ คาโตะ ซึ่งพลเมืองของจังหวัดคุมาโมโตะเรียกด้วยความรักใคร่ว่าเซอิโชโกะซัง เป็นวีรบุรุษที่บูรณะจังหวัดคุมาโมโตะหลังจากที่ถูกทำลายล้างระหว่างความขัดแย้งในยุคอาซูจิ-โมโมยามะจนถึงยุคเอโดะตอนต้น คิโยมาสะมีชื่อเสียงในฐานะผู้ที่มีความคิดที่ยอดเยี่ยม เขาทุ่มเทความพยายามและเทคโนโลยีชั้นนำของยุคนั้นอย่างมากเพื่อสร้างปราสาทคุมาโมโตะที่มีชื่อเสียงในปี 1607

ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่อย่างหนึ่งของคิโยมาสะคือโครงการป้องกันน้ำท่วมของเขา เทคนิคดั้งเดิมของเขาได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นด้วยความพยายามที่จะปรับปรุงแม่น้ำทุกสายในจังหวัดและพัฒนานาข้าวใหม่ๆ มาริโกะ โมริตะ ชาวคุมาโมโตะที่ศึกษาด้านอาหารท้องถิ่นและศาสตราจารย์ด้านการศึกษาสภาพแวดล้อมในการดำรงชีวิตที่มหาวิทยาลัยโชเคอิ กล่าวว่าคิโยมาสะทำให้เมืองอะโซะ เมืองคิคุโยะ และเมืองโอสึ มีชื่อเสียงในฐานะผู้ผลิตข้าว “แม่น้ำชิระไหลจากอะโซะไปยังเมืองคุมาโมโตะ และลุ่มน้ำแห่งนั้นเป็นพื้นที่เพาะปลูกธัญพืชในขณะนี้เนื่องจากโครงการป้องกันน้ำท่วมของคิโยมาสะยังคงหลงเหลือร่องรอยอยู่ ทางน้ำชลประทาน เช่น บาบะงูสึ-อิเตะ (ฮานะงูริ-อิเตะ) ในเมืองคิคูโยะ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น ‘มรดกโลกทางโครงสร้างชลประทาน” ในปี 2018”

คิโยมาสะทิ้งอิทธิพลหลากหลายรูปแบบไว้กับวัฒนธรรมอาหารด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ในคิวชูมีการบริโภคนัตโตะสูงที่สุดในจังหวัดคุมาโมโตะ เนื่องจากในช่วงสงครามอิมจิน คิโยมาสะได้นำถั่วเหลืองเคี่ยวมาหมักเป็นนัตโตะ ศาสตราจารย์โมริตะกล่าวว่า “ถั่วถูกห่อด้วยฟางและหมักด้วยความร้อนจากร่างกายของม้า เขากินถั่วนั้นและชอบมัน และทุกวันนี้ยังมีคนที่เรียกถั่วชนิดนี้ว่าโครุมาเมะ (“ถั่วเหล่านี้”) ตามวิธีที่เขาพูดในสำเนียงของเขาว่า ‘ถั่วเหล่านี้คืออะไร”” เรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรมการคั่วชาด้วยกาต้มน้ำของช่างฝีมือชาวเกาหลีถูกนำมาใช้ในปราสาทคุมาโมโตะ ซาซิมิเนื้อม้าที่เป็นแบบฉบับของจังหวัด และแม้แต่ขนมเกาหลี ต่างก็มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่เชื่อมโยงกับคิโยมาสะ มีรูปปั้นทองสัมฤทธิ์สูงตระหง่านสวมเอโบชิที่สวยงามอยู่ที่ทางเข้าปราสาทคุมาโมโตะเพื่อยกย่องผลงานอันยิ่งใหญ่เหล่านี้

บ้านและซุปเกี๊ยวที่แม่ทำเอง

ก่อนที่เราจะแนะนำพื้นที่แต่ละแห่ง มาพูดถึง “ดาโกะจิรุ” (ซุปเกี๊ยว) ซึ่งเป็นอาหารที่กระจายอยู่ทั่วจังหวัดคุมาโมโตะกันก่อนดีกว่า คุณสามารถพบอาหารท้องถิ่นที่ใช้ธัญพืชหลายชนิดแทนข้าวได้ทั่วประเทศญี่ปุ่น แต่สำหรับจังหวัดคุมาโมโตะ นั่นก็คือซุปเกี๊ยว “ดาโกะ” หมายถึง “ดังโงะ” (เกี๊ยว) และซุปทำจากแป้งเกี๊ยว ผักจากไร่ เช่น รากเบอร์ด็อก หัวไชเท้า และแครอต ปรุงรสด้วยมิโซะและซีอิ๊ว

เนื่องจากส่วนผสมและรสชาติของเกี๊ยวนั้นแตกต่างกันไปตามภูมิภาคและครัวเรือน ซุปเกี๊ยวจึงเป็นอาหารที่ชวนให้ผู้คนในท้องถิ่นนึกถึงบ้าน

โดยทั่วไปแล้วเกี๊ยวจะทำด้วยแป้งสาลีนวด รูปร่างมาตรฐานคือ “สึกิริดาโงะ” ที่ทำโดยการยืดแป้งและเด็ดออก แต่ในอะโซะจะใช้ “โนเบะดาโกะ” ที่มีรูปทรงเป็นเส้นแบนยาวเหมือนบะหมี่เป็นหลัก ทั่วเมืองคุมาโมโตะ ผู้คนทำ “อิคินาริดาโกะจิรุ” ซึ่งเป็นเกี๊ยวไส้มันเทศในน้ำซุป ในคิคุจิและคาโมโตะ เกี๊ยวจะทำจากการนวดมันเทศต้มเข้าไปในตัวแป้ง เรียกว่า “เจ้าหญิงดาโกะจิรุ” ดูเหมือนชื่อนี้จะมาจากการที่เนื้อเกี๊ยวนั้นนวลเนียนเหมือนผิวเจ้าหญิง และเนื่องจากข้าวสาลีหาได้ไม่ง่ายในอะโซะ จึงมีการใช้แป้งข้าวเจ้าแทนในการทำเกี๊ยว ในฮิโตโยชิ-คุมะ ทางตอนใต้ของจังหวัด บางครั้งมีการใส่ไขมันวาฬลงไปด้วย

อามาคุสะซึ่งขึ้นชื่อในด้านอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ในจังหวัด มีเกี๊ยว "เซ็นดาโกะจิรุ" ที่ทำจากมันฝรั่งขูดผสมเส้นใยและแป้งมันฝรั่ง และเนื่องจากอามาคุสะรายล้อมไปด้วยทะเล ส่วนผสมเฉพาะของซุปจึงเป็นสาหร่าย ว่ากันว่ามีการรับประทานเซ็นดาโกะจิรุครั้งแรกในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าที่สร้างขึ้นในเมืองคาวาอุระโดยบาทหลวงเฟอร์ไรร่าซึ่งเป็นมิชชันนารีที่เดิมทีเคยอาศัยอยู่ที่อามาคุสะ นอกจากนี้ ในอามาคุสะคุณยังสามารถพบ “โอชิโฮโจ” ซึ่งเป็นซุปใส่เกี๊ยวรูปทรงเหมือนเส้นบะหมี่อีกด้วย

ตามความเห็นของ คิโยมิ โทซาวะ ที่เกิดและเติบโตในมิซูมิ เมืองอูกิ ซึ่งหันหน้าเข้าหาทะเล และเป็นหัวหน้าเชฟอาหารญี่ปุ่นที่โรงแรม เอเอ็นเอ คราวน์ พลาซ่า คุมาโมโตะ นิวสกาย ซุปเกี๊ยวคืออาหารที่ปรุงที่บ้าน “มันเป็นอาหารที่พบได้ทั่วคิวชู แต่ทุกคนในจังหวัดคุมาโมโตะกินอาหารชนิดนี้ สามารถพบได้บนโต๊ะอาหารค่ำตลอดทั้งปีไม่ว่าจะเป็นฤดูไหน น้ำซุปทำจากทากทะเลที่ผ่านการแช่น้ำ สาหร่าย และเห็ดชิตาเกะ ซุปเกี๊ยวของแม่ฉันปรุงรสด้วยซีอิ๊ว เธอใส่รากบัว น้ำเต้า และนันคังอาเกะ (เต้าหู้ทอดแผ่นบาง) ฉีกเป็นชิ้นๆ ลงไปด้วย มันเป็นอาหารที่มีความทรงจำเกี่ยวกับรสชาติต่างๆ ของครอบครัวที่ทำมันขึ้น และในร้านอาหารก็ยังมีอาหารชนิดนี้เสิร์ฟด้วย ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสนุกที่ได้เปรียบเทียบเกี๊ยวทั้งหมด”

ตอนนี้ เราจะแนะนำอาหารของจังหวัดใน 4 พื้นที่ ได้แก่ ตอนเหนือ ตอนกลาง อามาคุสะ และตอนใต้

< พื้นที่ตอนเหนือของจังหวัด >
ผักกาดเขียวดองอะโซะ ทำจากผักกาดเขียวปลีที่ปลูกในสภาพอากาศของอะโซะ

ที่มาของภาพ: SHUN GATE เว็บไซต์ข้อมูลวัฒนธรรมอาหารญี่ปุ่น

ภาคเหนือเป็นพื้นที่ที่ระบุโดยเส้นทางจากเมืองทามานะไปยังเมืองโคชิ เทศบาลเมืองคิคุโยะ หมู่บ้านนิชิฮาระ หมู่บ้านอะโซะใต้ และเทศบาลเมืองทาคาโมริ ด้านตะวันตกซึ่งหันหน้าเข้าหาทะเลอาริอาเกะนั้นอุดมไปด้วยอาหารทะเล และด้านตะวันออกมีภูเขาที่ลาดเอียงเล็กน้อยตั้งอยู่เรียงราย มีการปลูกข้าวและพืชผลอื่นๆ ที่ทุ่งคิคุจิ โดยมีแม่น้ำคิคุจิที่ไหลจากตะวันออกไปตะวันตกเป็นแหล่งน้ำ ว่ากันว่าราเม็งทามานะของเมืองทามานะ เป็นรากเหง้าของราเม็งในคุมาโมโตะ ทางตอนเหนือนั้นมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย โดยมีน้ำพุร้อนยามากะอายุ 1300 ปี ที่ชายแดนจังหวัดฟุกุโอกะ และป่าขนาดยักษ์ที่ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 4.6 ตารางไมล์ทั่วหุบเขาคิคุจิ

อะโซะเป็นพื้นที่ที่มีความแข็งแกร่งแม้ในภาคเหนือ ที่นี่เป็นที่ราบสูงซึ่งเป็นตัวแทนของภูมิภาคคิวชู มีอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีที่ 15 องศาเซลเซียส โดยมีฝนตกหนัก ภูเขาไฟอาโซะที่ยังคุกรุ่นรายล้อมไปด้วยธรรมชาติอันตระการตาและมีแอ่งภูเขาไฟที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีความกว้างจากเหนือจรดใต้ 15.5 ไมล์ และความยาวโดยรอบ 79.5 ไมล์ ผักกาดเขียวปลีที่พบในภูมิภาคอะโซะมีลักษณะยาวและแคบกว่าที่พบในที่อื่น เรียกว่า “อะโซะทาคานะ” (ผักกาดเขียวอะโซะ) รสชาติของผักเข้มข้นด้วยดินเถ้าภูเขาไฟและอุณหภูมิที่เย็นจัด ทำให้เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการดอง ผักกาดเขียวดองอะโซะ ทำจากก้านผักกาดเขียวปลีอะโซะที่เก็บเกี่ยวระหว่างเดือนมีนาคมถึงเมษายน เป็นอาหารดองที่สามารถรับประทานได้ตลอดทั้งปี นอกจากนี้ ในภูมิภาคอะโซะยังมีของดองที่เรียกว่าของดองอะคะโดะ ซึ่งทำจากการดองก้านใบของเผือกอะคะโดซึ่งส่วนใหญ่ปลูกในเมืองอะโซะ อาหารที่มีสีแดงและเสิร์ฟพร้อมซีอิ๊วขาวและขิงขูดนี้เรียกว่า “ซาซิมิเนื้อม้าแห่งทุ่ง”

เมืองนันคังซึ่งมีพรมแดนติดกับจังหวัดฟุกุโอกะมีชื่อว่านันคัง (ประตูทิศใต้) เพราะเคยเป็นด่านตรวจมาก่อน เนื่องจากมีการเข้าออกเป็นจำนวนมากจึงมีวัฒนธรรมมากมาย “นันคังอาเกะ” อันโด่งดังจากเมืองนันคังนั้นถือกำเนิดจากสูตรเต้าหู้ทอดที่มีผู้นำมาเมื่อผู้อพยพจากพื้นที่ของชิโกกุมาถึงที่นี่หลังจากเกิดกบฏชิมาบาระในปี 1637 นันคังอาเกะ 1 แผ่น มีขนาด 7.87 นิ้ว และมีรูปทรงเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส และเนื่องจากทำมาจากการทอดเต้าหู้ที่แห้งและหั่นบางๆ สองครั้ง จึงสามารถเก็บไว้ได้นาน มีการใช้นันคังอาเกะในซุปและสตูว์ หรือใช้แทนสาหร่ายในฟุโตมากิ (ซูชิม้วนหนา) ที่เรียกว่า “นันคังอาเกะมากิซูชิ”

< เขตตอนกลางของจังหวัด >
เนื้อม้า และรากบัวกับมัสตาร์ด ของโปรดของขุนนางศักดินา

พื้นที่ตอนกลางประกอบด้วยสถานที่ต่างๆ เช่น คาบสมุทรอุโตะที่ยื่นออกไปในทะเลอาริอาเกะ เมืองคุมาโมโตะ ซึ่งคุณสามารถมองเห็นปราสาทคุมาโมโตะที่ตั้งตระหง่าน และเมืองยามาโตะที่อยู่ลึกเข้าไปในภูเขา บริเวณอุกิมีความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยโบราณในฐานะจุดแลกเปลี่ยนทางยุทธศาสตร์ และบริเวณคามิมาชิกิมีสนามบินอะโซะคุมาโมโตะ ที่ปลายสุดของคาบสมุทรอุโตะ เป็นสถานที่ที่มีชื่อเสียง เช่น ท่าเรือตะวันตกมิซูมิที่เป็นมรดกโลกและหาดโอโกชิกิที่ซึ่งพื้นทรายโค้งอันงดงามจะปรากฏขึ้นเมื่อน้ำลง นอกจากนี้ คุมาโมโตะยังเป็นพื้นที่ซึ่งอุดมไปด้วยแหล่งน้ำเนื่องจากน้ำในจังหวัดมาจากแหล่งใต้ดิน 100% ซึ่งพื้นที่แบบนี้หาได้ยากมาก

มีหลายภูมิภาคในญี่ปุ่นที่กินเนื้อม้า และจังหวัดคุมาโมโตะซึ่งเป็นอันดับหนึ่งในญี่ปุ่นในด้านการผลิตเนื้อม้าก็ไม่มีข้อยกเว้น ต้นกำเนิดของการบริโภคเนื้อม้าในคุมาโมโตะเกิดจากการที่ คิโยมาสะ คาโตะ เผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหารในช่วงสงครามอิมจิน เมื่อเขาต้องกินม้าของตนเองเพื่อเอาชีวิตรอด ในปัจจุบันคนในท้องถิ่นนิยมรับประทานซาซิมิเนื้อม้าลายหินอ่อนที่สวยงามซึ่งมีรสชาติของซีอิ๊วหวาน กระเทียม และขิงผสมกันเป็นรสชาติอูมามิที่เข้มข้นในปาก เป็นอาหารในโอกาสพิเศษ

ที่มาของรูปภาพ: จังหวัดคุมาโมโตะ (※ห้ามคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต)

รากบัวมัสตาร์ดเป็นอาหารที่มีต้นกำเนิดจากขุนนางศักดินาของเขตฮิโกะ ทาดาโทชิ โฮโซคาวะ ขุนนางศักดินาในขณะนั้นมีมสุขภาพอ่อนแอ และนักบวชนิกายเซนแนะนำให้เขารับประทานรากบัว เพื่อให้เขาได้รับประทานรากบัวที่ปลูกในคูเมืองของปราสาทคุมาโมโตะ พ่อครัวจึงยัดมิโซะและมัสตาร์ดลงไป ชุบแป้ง แล้วนำไปทอด รูในรากบัวหั่นที่บางๆ ดูคล้ายกับลวดลายตราประจำตระกูลของเขา ทาดาโทชิจึงชอบมันมาก และมอบดาบและตั้งชื่อให้กับพ่อครัวผู้คิดค้นอาหารชนิดนี้ขึ้น ตั้งแต่นั้นมาจนถึงการฟื้นฟูเมจิ รากบัวมัสตาร์ดเป็นสูตรลับของครอบครัวโฮโซคาวะที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมา

< บริเวณอามาคุสะ >
การปรุงมันเทศในย่านคริสเตียนที่แปลกใหม่

ที่มาของภาพ: SHUN GATE เว็บไซต์ข้อมูลวัฒนธรรมอาหารญี่ปุ่น

บริเวณอามาคุสะประกอบด้วยเกาะต่างๆ กว่า 120 เกาะที่มีขนาดต่างๆ เชื่อมต่อกับแผ่นดินใหญ่ของคิวชูด้วยสะพาน 5 แห่งที่เรียกว่า สะพานทั้งห้าแห่งอามาคุสะ เกาะเหล่านี้ลอยอยู่ในมหาสมุทรดุจภาพวาดที่สวยงามราวกับอยู่ในโลกที่ต่างไปจากพื้นที่อื่นๆ ของจังหวัดอย่างสิ้นเชิง หมู่บ้านซาคิตสึในคาวาอุระของเมืองอามาคุสะเป็นมรดกโลกในฐานะหนึ่งในที่ตั้งถิ่นฐานที่ชาวคริสเตียนลับได้ปฏิบัติตามความเชื่อของพวกเขาอย่างลับๆ เมื่อศาสนาคริสต์เป็นสิ่งต้องห้าม มีการสร้างโบสถ์ขึ้นในหมู่บ้านชาวประมง ที่ซึ่งชีวิตของผู้คนและความเชื่อของชาวคริสเตียนผสมผสานเข้าด้วยกันจนกลายเป็นทัศนียภาพที่โดดเด่นของอามาคุสะ

บริเวณอามาคุสะซึ่งล้อมรอบด้วยมหาสมุทรนั้นอุดมไปด้วยผลิตภัณฑ์จากทะเลโดยธรรมชาติ ในพื้นที่ภูเขาสามารถรับประทานได้เฉพาะปลาดองเค็มเท่านั้น แต่ซาซิมิเป็นเรื่องธรรมดาในอามาคุสะ เนื่องจากในฤดูร้อนน้ำมีความอุ่น จึงไม่มีการรับประทานปลาดิบแต่เป็นปลาตากแห้งแทน อาหารท้องถิ่นที่น่าสนใจของพื้นที่นี้คือ “สลัดหมู” แม้ว่าจะใช้คำว่า "หมู" แต่ส่วนผสมที่แท้จริงคือปลาหมึกยักษ์ที่จับได้ง่ายในท้องถิ่น เดิมทีอาหารชนิดนี้คือหมูผัดมะระซึ่งเป็นอาหารของชาวรีวกีว แต่ในอามาคุสะ เนื้อหมูนั้นหาไม่ได้ทั่วไป เลยหันมาใช้ปลาหมึกแทน

อามาคุสะอุดมไปด้วยผลิตภัณฑ์จากทะเล แต่ไม่เหมาะกับการเพาะปลูกข้าวเนื่องจากขาดแหล่งน้ำที่มีความลาดชันมาก ดังนั้น พวกเขาจึงกินมันเทศแทนที่จะกินข้าว คอปปะโมจิ (โมจิ “เศษไม้”) ซึ่งทำโดยผสมมันเทศต้มที่มีเนื้อแน่นเล็กน้อยกับโมจิ ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมของนางาซากิ ส่วนกาเนะอาเกะ (“ปูผัด”) เป็นมันเทศที่สับละเอียด ชุบแป้ง และทอด ลักษณะเฉพาะของมันคือขิงที่อยู่ในแป้ง รวมถึงน้ำมันเมล็ดชา (จาก c. japonica และ c. sasanqua) ที่ใช้ในการทอด เนื่องจากมีรูปร่างคล้ายกับปู (“กาเนะ” ในภาษาถิ่น) ผู้คนจึงเรียกมันว่า “กาเนะอาเกะ” ซึ่งหมายถึงปูผัด

< พื้นที่ตอนใต้ของจังหวัด >
เขตอบอุ่นอันอุดมสมบูรณ์เนื่องจากมีแม่น้ำคุมะ

ทางตอนใต้ของจังหวัดซึ่งแผ่ขยายออกไปด้านล่างของเมืองยัตสึชิโระมีสภาพอากาศที่อบอุ่น เนื่องจากอยู่ใกล้กับจังหวัดคาโงชิมะและมิยาซากิ จึงสามารถพบอาหารที่สองแห่งนี้มีร่วมกัน เช่น “อากุมากิ” มีการปลูกผลไม้ตระกูลส้มจำนวนมากตามแนวชายฝั่งทะเลยัตสึชิโระ ส่วนในพื้นที่ราบมีการปลูกข้าว ต้นกก (ใช้ทำเสื่อทาทามิ) และผักตามฤดูกาล ปริมาณมะเขือเทศที่ปลูกในพื้นที่เหล่านั้นสูงที่สุดในญี่ปุ่น (จาก สถิติการผลิตและการขนส่งผัก กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง, พื้นที่ปลูกตามจังหวัด ปี 2019, ผลผลิตต่อ 10a, ปริมาณการเก็บเกี่ยวและการขนส่ง”) คลื่นที่สงบทำให้ทะเลยัตสึชิโระเป็นแหล่งตกปลาในอุดมคติ ที่นี่มีมีอาหารทะเลสดมากมาย เช่น ปลากะพงชนิดพิเศษในท้องถิ่น ปลาซาร์ดีน ปลาตะเพียนน้ำเค็ม และกุ้ง ในภูมิภาคอากิชิตะ มักนำอาหารทะเลเหล่านี้มาทำเป็นซูงาตะซูชิ (ปลาปรุงรสยัดไส้ด้วยข้าวปั้นซูชิ) และรับประทานในวันพิเศษ เช่น ปีใหม่หรือเทศกาลต่างๆ

ในลุ่มน้ำคุมะ ซึ่งมีชื่อเสียงเนื่องจากเป็นหนึ่งในสามแก่งขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น มีการจ่ายข้าวส่วนเกินที่เก็บเกี่ยวได้เป็นภาษีประจำปี และโชจูข้าวเป็นที่นิยมเพราะน้ำกระด้างของแม่น้ำคุมะนั้นเหมาะสำหรับทำโชจู โชจูข้าวคุมะที่ผลิตจากข้าวคุณภาพสูงนั้นยืนเคียงข้างสกอตช์วิสกี้และคอนญักในฐานะแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักในโลกด้วยชื่อสถานที่ผลิต

แม่น้ำคุมะที่มีใสไหลผ่านแอ่งฮิโตโยชิ เป็นแม่น้ำที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดคุมาโมโตะ โดยมีความยาว 71 ไมล์ ปลาหวานป่าอาศัยอยู่ในแม่น้ำคุมะและแม่น้ำสาขา มีโรงแรมโบราณขนาดเล็กและร้านอาหารที่ยังคงเสิร์ฟอาหารที่ทำจากปลาหวาน มีหลายวิธีในการกินปลาชนิดนี้ ตั้งแต่ปลาหวานย่างเกลือธรรมดาไปจนถึงคันโรนิ (ปลาหวานต้ม) ที่ใช้ปลาหวานย่าง ซูชิปลาหวาน และเซโกะชิ (ซาซิมิชนิดหนึ่ง) ปลาหวานที่เสิร์ฟคู่กับโชจูข้าวคุมะเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในงานดื่มสังสรรค์

อาหารท้องถิ่นที่ไม่เคยขาดหายไปในงานฉลองคือ “สึบงจิรุ” ที่เรียกว่าสึบงจิรุ (ซุปชามลึก) เพราะเสิร์ฟในชามก้นลึก (โบะ) เดิมทีทำขึ้นเพื่อเป็นอาหารในช่วงเทศกาลฤดูใบไม้ร่วง แต่ในปัจจุบันนี้จะปรากฏในภูมิภาคนี้ในช่วงปีใหม่และในโอกาสพิเศษอื่นๆ เนื่องจากเป็นอาหารที่เฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยวในฤดูใบไม้ร่วง จึงใช้ผักจากไร่มากมายหลายอย่าง เช่น รากเบอร์ด็อก แครอต หัวไชเท้า และเผือก ส่วนน้ำซุปและเครื่องปรุงรสนั้นเหมือนกับซุปเกี๊ยวซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละครอบครัว ที่ศาลเจ้าอาโออิอาโสะในเมืองฮิโตโยชิ มีการจัดเทศกาลโอคุนจิที่มีอายุมากกว่า 400 ขึ้นทุกเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นมาตรฐานที่จะเสิร์ฟเกาลัดเซกิฮัง (ข้าวแดง) นิชิเมะ และสึบงจิรุที่มีส่วนผสม 9 อย่าง

โทซาวะซังผู้ชื่นชอบอาหารท้องถิ่นกล่าวว่า “คุมาโมโตะมีทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสัตว์จากทะเล พืชผลจากภูเขา และพืชผลจากทุ่งนา” ขณะนี้เรากำลังจัดชั้นเรียนทำอาหารเพื่อเผยแพร่ผักฮิโงะแบบดั้งเดิม จังหวัดคุมาโมโตะได้พัฒนาวัฒนธรรมอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ขึ้นซึ่งรวมเอาอิทธิพลจากสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ จากเหนือจรดใต้มาไว้ด้วยกัน เราอยากให้คุณได้ลิ้มลองรสชาติของท้องถิ่นแห่งนี้

จังหวัดคุมาโมโตะ อาหารพื้นเมืองหลัก