จังหวัดซากะ

วัฒนธรรมที่หลากหลายและมีชีวิตชีวาควบคู่อุตสาหกรรมการเกษตร ป่าไม้ และประมงที่ได้รับอิทธิพลจากท้องทะเลและที่ราบ

จังหวัดซากะตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะคิวชู มีชายแดนติดกับจังหวัดฟุกุโอกะทางทิศตะวันออกและจังหวัดนางาซากิทางทิศตะวันตก ทิศเหนือของจังหวัดติดกับทะเลเกงไกที่โดดเด่นไปด้วยทิวทัศน์ของแนวชายฝั่งที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอุทยานแห่งชาติเกงไก ทิศใต้ติดกับทะเลอาริอาเกะที่โดดเด่นด้วยความกว้างใหญ่ของที่ราบน้ำทะเลขึ้นถึงที่มีความต่างของระดับน้ำขึ้นลงถึง 6 เมตร และด้วยความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติจากท้องทะเลทั้งสองแห่ง อุตสาหกรรมการประมงในท้องถิ่นจึงเจริญรุ่งเรืองมาอย่างช้านาน ทะเลอาริอาเกะมีของขึ้นชื่อคือสาหร่ายทะเล ทั้งยังมีปริมาณการผลิตสาหร่ายทะเลอบแห้งมากที่สุดในญี่ปุ่น (อ้างอิงจาก "สถิติการประมงและการเพาะเลี้ยงพืชและสัตว์ในน้ำ" ที่เผยแพร่โดย MAFF ในปี 2019) นอกจากนั้นแล้ว การเกษตรในจังหวัดก็เจริญก้าวหน้าเช่นกัน ที่ราบซากะที่อยู่ติดกับทะเลอาริอาเกะเป็นที่ตั้งของทิวทัศน์ชนบทมากมาย จังหวัดนี้จึงเป็นผู้ผลิตหน่อไม้ฝรั่ง หัวหอม และรากบัวที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของญี่ปุ่น (อ้างอิงจาก "สถิติพืชผล" ที่เผยแพร่โดย MAFF ในปี 2019)

ผู้ร่วมรายงาน: โรงเรียนสอนประกอบอาหารและการทำขนม มหาวิทยาลัยนิชิคิวชู จังหวัดซากะ

อนุเคราะห์รูปภาพโดย: สมาพันธ์การท่องเที่ยวจังหวัดซากะ

เนื่องจากตั้งอยู่ห่างจากคาบสมุทรเกาหลีประมาณ 200 กิโลเมตร จังหวัดซากะจึงมีบทบาทที่สำคัญในฐานะหน้าต่างสู่วัฒนธรรมภาคพื้นทวีป ผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของจังหวัดอย่างหนึ่งคือเครื่องปั้นดินเผาที่ผลิตในอาริตะ อิมาริ และคารัทสึที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของซากะ เตาเผาโบราณยังคงมีให้เห็นอยู่ในพื้นที่ อีกทั้งยังมีการสืบทอดเทคนิคการทำเครื่องปั้นดินเผาจากรุ่นสู่รุ่น ในตอนเหนือของเกาะคิวชูมีการจัดเทศกาลฤดูใบไม้ร่วงที่เรียกว่า "คุนชิ" เทศกาลคารัทสึคุนชิเป็นหนึ่งในสามเทศกาลคุนชิที่สำคัญที่สุดในญี่ปุ่น ขบวนแห่ที่น่าตื่นตาตื่นใจในเทศกาลเหล่านี้ดึงดูดนักท่องเที่ยวมากมายจากทั้งภายในและภายนอกจังหวัด ทิศตะวันตกของจังหวัดซากะมีเมืองออนเซ็นที่เป็นเอกลักษณ์อยู่สองแห่ง คือ ทาเคโอะออนเซ็นและอุเรชิโนะออนเซ็น ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมอบประสบการณ์ผ่อนคลายให้กับนักท่องเที่ยวผ่านน้ำพุร้อนและบรรยากาศที่น่าพักผ่อน

ทะเลเกงไกและทะเลอาริอาเกะ: สองขั้วประวัติศาสตร์การทำอาหารที่ได้รับอิทธิพลจากท้องทะเล

อนุเคราะห์รูปภาพโดย: สมาคมการท่องเที่ยวคารัทสึ

การประมงของจังหวัดซากะเจริญเติบโตบนของขวัญทางธรรมชาติจากทะเลทั้งสองแห่งนี้มาตั้งแต่อดีตแล้ว อย่างไรก็ตาม ทะเลทั้งสองแห่งต่างมีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวซึ่งส่งอิทธิพลต่างกันต่อการประมงและวัฒนธรรมอาหารในพื้นที่ กระแสน้ำทสึชิมะที่ไหลผ่านทะเลเกงไกซึ่งถือเป็นหนึ่งในพื้นที่การประมงที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในโลกได้ทำให้อุตสาหกรรมการล่าวาฬเจริญรุ่งเรืองมากตั้งแต่สมัยเอโดะมาจนถึงสมัยหลังสงคราม ในอดีตมีคำกล่าวที่ว่าวาฬหนึ่งตัวสามารถชุบชีวิตหมู่บ้านชาวประมงได้ทั่วทั้งเจ็ดหาด ในสมัยก่อนวาฬเป็นแหล่งอาหารที่มีคุณค่า ทุกส่วนของวาฬตั้งแต่เนื้อไปจนถึงอวัยวะและไขมันถูกนำมาบริโภคจนหมดโดยไม่เสียเปล่า นอกเหนือจากการเป็นแหล่งอาหารแล้ว ซี่กรองของวาฬบาลีนยังถูกนำมาทำเป็นคันเบ็ดและบาลานซ์สปริง ส่วนไขมันวาฬถูกนำมาใช้เติมน้ำมันตะเกียงและทำสบู่เพื่อการหาเลี้ยงชีพของผู้คน หลังจากมีการห้ามการล่าวาฬ ทะเลเกงไกก็กลับมามีชื่อเสียงในเรื่องหมึกและปลาจานแดงของเมืองโยบุโกะ

อนุเคราะห์รูปภาพโดย: สมาพันธ์การท่องเที่ยวจังหวัดซากะ

ในทางกลับกัน ทะเลอาริอาเกะกลับอุดมไปด้วยสารอาหารจากแม่น้ำไหลมาบรรจบกันจนทำให้ที่นี่เป็นแหล่งเพาะปลูกสาหร่ายทะเลชั้นยอด นอกจากนี้ ทะเลอาริอาเกะยังเป็นที่อยู่อาศัยของปลาแปลก ๆ และสัตว์น้ำจำพวกมีเปลือกหลากหลายสายพันธุ์ที่เรียกรวม ๆ กันว่า "มาเออุมิมอน" ในขณะที่สายพันธุ์ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคือปลาตีน สายพันธุ์อื่น ๆ ยังมาอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้อย่างเช่น "วาราซุโบ" (สายพันธุ์หนึ่งของวงศ์ปลาบู่เขือ), กั้ง และปลาบู่ วิธีการประมงที่ปฏิบัติกันในท้องถิ่น เช่น เทคนิคการใช้เบ็ดตกปลาแบบดั้งเดิมที่เรียกว่า "มัทสึคาเกะ" และเทคนิค "การยกยอ" เป็นวิธีที่ใช้ประโยชน์จากน้ำขึ้นน้ำลงในพื้นที่

สำหรับเนื้อหาที่เหลือของบทความนี้ เราจะพาคุณไปสำรวจวัฒนธรรมการทำอาหารที่มีชีวิตชีวาของจังหวัดซากะตามสถานที่ต่าง ๆ ได้แก่ ที่ราบซากะ ชายฝั่งอาริอาเกะ ภูเขาเซฟูริ ชายฝั่งเกงไก อาริตะ และเชิงเขาทาระ

< ที่ราบซากะ >
พื้นที่ผลิตข้าวอันดับหนึ่งของจังหวัดและบ้านเกิดของเมนูปลาน้ำจืดมากมาย

อนุเคราะห์รูปภาพโดย: สมาคมการท่องเที่ยวคาชิมะ

จังหวัดซากะมีสภาพอากาศอบอุ่น การเพาะปลูกข้าวในจังหวัดจึงมีมาอย่างยาวนานแล้ว หลักฐานยืนยันข้อเท็จจริงนี้คือโบราณสถานนาบาตาเกะที่เป็นมรดกตกทอดของนาข้าวที่เก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่น ที่ราบซากะซึ่งเกิดจากการปรับปรุงที่ราบน้ำทะเลขึ้นถึงของทะเลอาริอาเกะให้เป็นพื้นที่ทำประโยชน์นั้นอัดแน่นไปด้วยดินดีที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุ ทำให้ที่นี่เป็นหนึ่งในพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่ดีที่สุดในญี่ปุ่น ซากะมีแบรนด์ข้าวที่ผลิตเองมากมาย เช่น ข้าว "ซากะบิโยริ" ที่อร่อยจนได้รับรางวัลอันดับหนึ่งในระดับ "Special A" (อ้างอิงจาก "อันดับข้าวที่อร่อยที่สุด" ที่เผยแพร่โดยสมาคมตรวจสอบข้าวญี่ปุ่น) ติดต่อกันถึง 10 ปีตั้งแต่ปี 2010 ถึง 2019 ที่ราบซากะเคยประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรงในอดีต จึงนำไปสู่การก่อสร้างลำห้วยเพื่อการชลประทาน ลำห้วยเหล่านี้ไม่เพียงช่วยส่งเสริมการเพาะปลูกข้าวเท่านั้น แต่ยังเป็นที่อยู่อาศัยของปลาน้ำจืดมากมายอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ วัฒนธรรมการทำอาหารที่เน้นปลาน้ำจืดเป็นหลักอย่างเช่นปลาทอง (Crucian Carp) และปลาคาร์ปจึงเกิดการพัฒนาขึ้นในท้องถิ่น โดยมีเมนูที่โดดเด่นคือ "ฟุนันโคกุอิ" ที่เสิร์ฟในฮามามาชิของนครคาชิมะ เมนูนี้จะนำปลาทอง (Crucian Carp) ไปพันสาหร่ายและตุ๋นกับหัวไชเท้าไดกอนและรากโกโบ เชื่อกันว่าเมนูนี้ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อใช้ปลาทองแทนปลาจานซึ่งมีราคาแพงและหาจับยากในทะเลอาริอาเกะ

นอกจากนี้ ที่ราบซากะยังนิยมเพาะปลูกธัญพืชอีกด้วย จังหวัดซากะได้อันดับสามในญี่ปุ่นด้านปริมาณการผลิตข้าวสาลีและได้อันดับหนึ่งด้านปริมาณการผลิตข้าวบาร์เลย์ชนิดเมล็ดสองแถว (อ้างอิงจาก "สถิติพืชผล" ที่เผยแพร่โดย MAFF ในปี 2019) และซากะยังเป็นผู้ผลิตถั่วเหลืองมากที่สุดเป็นอันดับสี่ในญี่ปุ่น (อ้างอิงจาก "สถิติพืชผล" ที่เผยแพร่โดย MAFF ในปี 2019)

< ชายฝั่งอาริอาเกะ >
วัฒนธรรมอาหารที่โดดเด่นของทะเลอาริอาเกะ ที่ตั้งของที่ราบน้ำทะเลขึ้นถึงที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น

อนุเคราะห์รูปภาพโดย: สมาพันธ์การท่องเที่ยวจังหวัดซากะ

ทะเลอาริอาเกะแวดล้อมด้วยจังหวัดซากะ ฟุกุโอกะ นางาซากิ และคุมาโมโตะ มีน้ำขึ้นน้ำลงวันละสองครั้งและมีระดับความต่างของน้ำขึ้นน้ำลง 6 ถึง 7 เมตร ถือเป็นระดับที่กว้างที่สุดในญี่ปุ่น ทั้งยังมีพื้นที่โดยรวมของที่ราบน้ำทะเลขึ้นถึงขณะน้ำทะเลลงต่ำสุดมากที่สุดในญี่ปุ่น ทะเลอาริอาเกะเป็นแหล่งรวมตัวของแม่น้ำเล็กใหญ่มากถึง 112 สาย มีน้ำทะเลความเข้มปานกลางที่อัดแน่นไปด้วยสารอาหาร การขึ้นลงของระดับน้ำทะเลที่นี่เอื้อให้สาหร่ายทะเลดูดซับแสงอาทิตย์สลับกับน้ำทะเลได้อย่างเพียงพอ ทำให้พื้นที่นี้เหมาะสำหรับการเพาะปลูกสาหร่ายทะเล สาหร่ายทะเลที่ผลิตที่นี่จะถูกจัดส่งในรูปแบบสาหร่ายทะเลอบแห้งและใช้ในการประกอบอาหารอย่างเมนูทสึกุดานิสาหร่ายทะเล

ที่ราบน้ำทะเลขึ้นถึงที่อุดมสมบูรณ์เหล่านี้เป็นที่อยู่อาศัยของปลาและสัตว์น้ำจำพวกมีเปลือกหลายชนิดที่เรียกรวมกันว่า "มาเออุมิมอน" ที่พบได้ในทะเลอาริอาเกะเท่านั้น ในขณะที่สายพันธุ์ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคือปลาตีน ยังมีสายพันธุ์อื่นอย่างเช่น "วาราซุโบ" (สายพันธุ์หนึ่งของวงศ์ปลาบู่เขือ) ที่แม้แต่คนในชุมชนยังมองว่ามีหน้าตาเหมือนเอเลี่ยน และ "คุชิโซโกะ" ที่เป็นปลาลิ้นหมาชนิดหนึ่ง สายพันธุ์เหล่านี้เป็นที่คุ้นเคยของคนท้องถิ่นในฐานะวัตถุดิบที่มักจะพบได้ตามบ้านและร้านอาหารในเมนูอาหารท้องถิ่น เช่น "มัทสึโกโระ โนะ คาบายากิ" (ปลาตีนย่าง), "ยาราซุโบ โนะ มิโสะจิรุ" (ซุปมิโสะวาราซุโบ) และ "คุชิโซโกะ โนะ นิทสึเกะ" (คุชิโซโกะต้ม)

< ภูเขาเซฟูริ >
เขตภูเขาสูงชันที่โด่งดังเรื่องลูกพลับอบแห้งรสชาติเยี่ยม

อนุเคราะห์รูปภาพโดย: สมาพันธ์การท่องเที่ยวจังหวัดซากะ

ภูเขาเซฟูริมีความสูง 1,055 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล มองเห็นทิวทัศน์ที่ทอดยาวของแนวชายฝั่งทะเลเกงไก นอกจากยอดเขาเซฟูริที่สูงที่สุดแล้ว เทือกเขาเซฟูริยังมียอดเขาอื่น ๆ เช่น เขาคิซัน คุเซมบุยามะ อิชิดานิยามะ และไรซันจากตะวันออกจนถึงตะวันตก เทือกเขาเซฟูริขึ้นชื่อเรื่องยอดเขาที่ไม่สูงชันและลักษณะภูมิศาสตร์ที่เป็นพื้นที่ราบ จึงกลายเป็นสถานที่ยอดนิยมสำหรับการปีนเขาและเดินป่า นอกจากนี้ยังมีของขึ้นชื่อคือ "คาคิโนะเร็น" (ม่านลูกพลับ) ที่เป็นจุดเด่นในช่วงฤดูใบไม้ร่วงที่พบเห็นได้ในพื้นที่นี้มานานกว่า 300 ปี ชื่อนี้มีที่มาจากการตากแห้งลูกพลับโดยการใช้มือปอกเปลือกลูกพลับทีละลูกแล้วนำไปแขวนเป็นแถว ๆ ดูคล้ายม่าน ขั้นตอนการตากลูกพลับนี้ใช้เวลาประมาณ 30 ถึง 40 วัน โดยเริ่มตั้งแต่ปลายฤดูใบไม้ร่วง เมื่อเสร็จแล้วจะได้ลูกพลับแห้งที่มีเนื้อเหนียวนุ่มซึ่งเป็นผลมาจากความต่างของอุณหภูมิในเทือกเขาเซฟูริ เมื่อก่อนชาวสวนบางคนนิยมทำ "ม่านลูกพลับ" เป็นธุรกิจภายในครอบครัวในฤดูหนาว แต่เดี๋ยวนี้มีน้อยครัวเรือนแล้วที่ทำม่านลูกพลับ อย่างไรก็ตาม "ม่าน" เหล่านี้บางครั้งก็นำมาแขวนตามสถานีรถไฟและร้านค้าริมถนนเมื่อมีงาน ลูกพลับตากแห้งยังเป็นวัตถุดิบที่นิยมเสิร์ฟในระหว่างรับประทานอาหาร เช่นเมนู "โฮชิงากินามาสุ" อาหารข้างเคียงที่เสิร์ฟลูกพลับตากแห้งกับหัวไชเท้าไดกอนราดด้วยน้ำส้มสายชู

< ชายฝั่งเกงไก >
เตรียมอาหารประจำเทศกาลคุนชิด้วยวัตถุดิบที่หาได้จากทะเลเกงไก

ติดกับชายฝั่งเกาะคิวชูตะวันตกเฉียงเหนือคือทะเลเกงไก ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเส้นทางที่สำคัญในการเดินเรือข้ามทวีปและคาบสมุทรเกาหลี วัฒนธรรมหลายอย่างที่นำเข้ามายังพื้นที่แห่งนี้ยังมีมาจนถึงปัจจุบัน ทะเลเกงไกเป็นชายแดนให้กับจังหวัดซากะ โดยมีนานัทสึงามะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม พื้นที่นี้ยังได้รับประโยชน์จากกระแสน้ำทสึชิมะที่ไหลจากตะวันตกเฉียงใต้ไปยังตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ที่นี่เป็นอีกหนึ่งพื้นที่การประมงที่อุดมสมบูรณ์มาก ทะเลเกงไกเป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมการล่าวาฬที่เจริญรุ่งเรืองในอดีต สายพันธุ์ปลามากมายที่อาศัยอยู่ที่นี่มีทั้งปลาจาน หมึก ปลาทูแขก แมคเคอเรล ปลาหางเหลือง ปลาปักเป้า และปลากะพง นอกจากนี้ บริเวณที่ติดกับทะเลเกงไกยังเป็นสถานที่จัดเทศกาลคุนชิ เทศกาลพื้นเมืองฤดูใบไม้ร่วงประจำเกาะคิวชูเหนือ วัตถุดิบที่หาได้จากทะเลเกงไกถูกนำมาใช้เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเมนูอาหารที่เสิร์ฟในเทศกาลคุนชิ หนึ่งในอาหารจานหลักที่นิยมรับประทานกันคือ "อาระ โนะ ซูงาทานิ" ปลาเก๋าเสือ (ชื่อท้องถิ่น "อาระ") ตุ๋นกับหัวไชเท้าไดกอนและไข่ต้ม ในอดีต พ่อค้าจะทำอาหารจานนี้เพื่อทำให้ปลาดูตัวใหญ่ขึ้นและน่าดูเหมาะสมกับฐานะของตนเอง ปลาจานเป็นอีกหนึ่งวัตถุดิบที่ขาดไม่ได้ในโอกาสเฉลิมฉลองและนิยมนำไปย่างหรือเผาเกลือและนึ่ง

< อาริตะ >
"ยูกิ โนะ ทสึยุ" เมนูซุปที่ขาดไม่ได้ของเมืองเครื่องปั้นดินเผาชื่อดัง

อนุเคราะห์รูปภาพโดย: สมาพันธ์การท่องเที่ยวจังหวัดซากะ

จังหวัดซากะมีชื่อเสียงในฐานะพื้นที่การผลิตเครื่องปั้นดินเผาอย่างมากจนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นเมืองเครื่องปั้นดินเผาเลยก็ว่าได้ สไตล์เครื่องปั้นดินเผาที่มีชื่อเสียงมีทั้งเครื่องเคลือบอาริตะ เครื่องเคลือบอิมาริ เครื่องเคลือบคารัทสึ และเครื่องเคลือบวาจิมะ เครื่องเคลือบอาริตะที่โด่งดังที่สุดนั้นผลิตในเมืองอาริตะ เริ่มผลิตเป็นครั้งแรกในช่วงต้นศตวรรษที่ 17 และเตาเผาโบราณตั้งแต่สมัยนั้นยังคงใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เครื่องเคลือบจะถูกนำเข้าเตาเผาที่อุณหภูมิสูงกว่า 1,000 องศาเซลเซียสและปรับปริมาณออกซิเจนภายในเตา การทำเครื่องปั้นดินเผาจะใช้เวลาเผาประมาณ 30 ถึง 50 ชั่วโมง ซึ่งในระหว่างนั้นจะมีการเสิร์ฟซุปพื้นเมืองที่ส่งต่อสูตรกันจากรุ่นสู่รุ่นที่มีชื่อว่า "ยูกิ โนะ ทสึยุ" เป็นของว่างตอนกลางคืนให้กับช่างที่ผลัดกันมาคุมขั้นตอนการเผา เมนูนี้ทำจากหัวไชเท้าไดกอนขูดหยาบผสมกับแป้งโมจิในซุปมิโสะ กล่าวกันว่าเมนูนี้นิยมรับประทานในหมู่ช่างที่คอยคุมไฟในคืนที่หนาวเย็น เมนูพื้นเมืองอีกหนึ่งอย่างที่เป็นมรดกตกทอดในอาริตะคือ "โกโดฟุ โนะ โกมาโชยุคาเกะ" ที่เป็นการผสมแป้งเท้ายายม่อมลงในนมถั่วเหลืองเพื่อให้กลายเป็นก้อน

แต่อาหารพื้นเมืองของอาริตะนั้นมีอะไรมากกว่าอาหารง่าย ๆ อย่าง "ยูกิ โนะ ทสึยุ" และ "โกโดฟุ โนะ โกมาโชยุคาเกะ" ที่จริงแล้ว อาริตะมักจะถูกกล่าวว่าเป็นเมืองหรูที่นิยมทานอาหารอร่อย ที่นี่มีกระทั่งคำกล่าวโบราณที่ว่าคนที่นี่ยอมเอาทรัพย์สินของตนเองไปจำนำเพื่อให้ได้กินของอร่อย ชาวเมืองอาริตะมีธรรมเนียมการกินอาหารหรู โดยเฉพาะในโอกาสพิเศษอย่างวันขึ้นปีใหม่และเทศกาลคุนชิ

< เชิงเขาทาระ >
วัฒนธรรมอาหารที่ใช้ข้าวบาร์เลย์เป็นอาหารหลักแทนข้าวของคนในท้องถิ่น

เชิงเขาทาระตั้งอยู่ตามแนวชายแดนระหว่างจังหวัดซากะและจังหวัดนางาซากิ ในสมัยเอโดะตอนต้น อาณาจักรซากะได้สร้างถนนทาระไคโดที่มีความยาว 48 กิโลเมตรจากเอโชจูกุ (เมืองอิซาฮายะ จังหวัดนางาซากิ) จนถึงชิโอดะจูกุ (เมืองอุเรชิโนะ จังหวัดซากะ) การเพาะปลูกข้าวเป็นอาชีพทั่วไปในจังหวัดซากะตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว และในบริเวณเชิงเขาทาระก็มีการปลูกข้าวเช่นกัน เพียงแต่ที่นี่มีจำนวนทุ่งนาน้อยกว่าที่ราบซากะเท่านั้น จึงนำไปสู่ความนิยมรับประทานข้าวในรูปแบบของข้าวต้มหรือทานคู่กับวัตถุดิบอื่นโดยเฉพาะข้าวบาร์เลย์และมันหวาน

การเพาะปลูกข้าวบาร์เลย์ได้รับความนิยมมากเป็นพิเศษในตอนนั้น และในช่วงที่อาหารหลักอย่างข้าวหรือโจ๊กขาดแคลน ผู้คนจะเปลี่ยนมากิน "ทสึนกิดาโงะจิรุ" แทน เมนูนี้คือซุปที่ทำจากเกี๊ยวแป้งสาลีและใส่ผักตามฤดูกาลเยอะ ๆ เมนูนี้มีชื่อเรียกแตกต่างกันตามรูปทรงของเกี๊ยวและพื้นที่ที่ทำอาหาร ในส่วนอื่นของเกาะคิวชู เมนูนี้นิยมรับประทานเพื่อให้ร่างกายอบอุ่นในวันที่มีอากาศหนาวและกินเป็นของว่างเวลาชาวนาพักผ่อนจากงานเกษตร

จังหวัดซากะ อาหารพื้นเมืองหลัก