ผลิตผลอุดมสมบูรณ์ในดินแดนตอนใต้ที่ซึ่งพระอาทิตย์ขึ้น
จังหวัดมิยาซากิ (Miyazaki) ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของภูมิภาคคิวชู (Kyushu) ในพงศาวดารโคจิกิ (Kojiki) และนิฮงโชกิ (Nihon Shoki) ซึ่งเป็นบันทึกโบราณที่รวบรวมขึ้นในช่วงยุคนาระ (Nara Period) ของประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น บรรยายจังหวัดนี้ไว้ว่าเป็น "อาณาจักรที่ตะวันขึ้นและตกโดยตรง" และเป็น "อาณาจักรที่หันเข้าหาทิศตะวันขึ้นโดยตรง" จังหวัดนี้มีชื่อเดิมว่าฮิวกะ (Hyuga) หรือ "อาณาจักรที่หันเข้าหาดวงตะวัน" ซึ่งก็มีที่มาจากคำอธิบายเหล่านี้ นอกจากนี้ แสงตะวันที่ส่องลงมาจากฟากฟ้าก็ทำให้อาหารการกินในจังหวัดมิยาซากิอุดมสมบูรณ์มาแต่ครั้งโบราณ
แหล่งที่มาบางส่วนของข้อมูลในวิดีโอ: เว็บไซต์ SHUN GATE ซึ่งให้ข้อมูลวัฒนธรรมอาหารของญี่ปุ่น
สถานที่ที่ให้ความอนุเคราะห์ในการรายงานข่าวสาร: บริษัท Comfort Diner Co., Ltd.
"ดินแดนญี่ปุ่นในดวงตะวัน" ที่ประทานให้ทั้งภูเขาและทะเล
ทันทีที่ย่างเท้าลงบนท่าอากาศยานมิยาซากิ โบเกนวิลเลีย (Miyazaki Bougainvillea Airport) ซึ่งเป็นประตูสู่จังหวัดนี้ รอบตัวนักท่องเที่ยวก็จะเต็มไปด้วยบรรยากาศทางตอนใต้ จังหวัดมิยาซากิมีสภาพอากาศอุ่นแบบกึ่งเขตร้อน โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยต่อปีประมาณ 17°C เนื่องจากชั่วโมงที่มีแดดและวันอากาศดีมีจำนวนมากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ จังหวัดนี้จึงได้รับการกล่าวขานว่าเป็น "ดินแดนญี่ปุ่นในดวงตะวัน" และมีแสงแดดอบอุ่นไว้เลี้ยงดูพืชผลต้นไม้นานาชนิดตลอดทั้งปี ไม่เพียงเท่านี้ ยังว่ากันว่านิสัยใจคอของคนที่อาศัยอยู่ที่นี่ก็อบอุ่นและสดใสไม่แพ้กัน
ณโยชิโนบุ มัทสึดะ (Yoshinobu Matsuda) ซึ่งรับหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายในสำนักงานใหญ่งานโปรโมตแบรนด์มิยาซากิประจำแผนกการประสานงานและโปรโมตของหน่วยงานการเกษตรและประมงจังหวัดมิยาซากิ กล่าวว่า "มิยาซากิเป็นพื้นที่ทางตอนใต้ของคิวชูที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร เพราะการเดินทางยากลำบากและมีตระกูลเล็กๆ ที่ตั้งตนเป็นอิสระ วัฒนธรรมที่ก่อร่างขึ้นในแต่ละพื้นที่จึงมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ว่ากันว่าถ้าเทียบกับคนในจังหวัดคาโกชิมะ (Kagoshima) และจังหวัดคุมาโมโตะ (Kumamoto) ที่อยู่ติดกัน ถือว่าชาวมิยาซากิเป็นคนสบายๆ กว่า โดยมีฉายา "ดาบฝึกจากมันฝรั่ง" ไว้ใช้เรียกชายชาวมิยาซากิที่ภายนอกดูแข็งกระด้างแต่ภายในอ่อนโยน เหมือนเวลาเรานึกถึงดาบฝึกที่ทำจากก้านมันฝรั่งยังไงอย่างนั้น" คุณโยชิโนบุเองก็เป็นชาวมิยาซากิแต่กำเนิด โดยมีบ้านเกิดอยู่ที่เขตคิโยตาเกะ เมืองมิยาซากิซิตี้ (Kiyotake, Miyazaki City)
สภาพภูมิอากาศและวัฒนธรรมอาหารในแถบภูเขาและทะเลของจังหวัดนี้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยแบ่งได้เป็นพื้นที่ตอนเหนือ ตอนกลาง ตอนใต้ และฝั่งตะวันตก ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขา มีที่ราบเพียงเล็กน้อย และมีเนินเขาที่ค่อยๆ ไล่ระดับขึ้นจากพื้นที่ชายฝั่งทางทิศตะวันออกไปยังเขตภูเขาทางทิศตะวันตก ทำให้ภูมิประเทศของจังหวะมีความหลากหลายเป็นพิเศษ
ชายฝั่งที่หันเข้าทิศตะวันออกของทะเลฮิวกะ (Hyuga Sea) มีความยาวรวมกว่า 398 กม. มีชายหาดมากมาย เช่น หาดโอคุระกาฮามะ (Okuragahama) และหาดโซซานจิ (Sosanji) ซึ่งเป็นที่รู้จักในนามจุดเล่นเซิร์ฟหลักของที่นี่ ส่วนบริเวณที่ราบมีการปลูกข้าวและพืชผักมากมาย กระแสน้ำคุโรชิโอะและกระแสน้ำช่องแคบบุงโงะ (Kuroshio and Bungo Channel Currents) ที่ไหลมารวมกันนอกชายฝั่ง ทำให้ที่นี่เป็นแหล่งประมงที่เหมาะแก่การจับปลาทูน่า ปลาโอแถบ กุ้งมังกร ปลาทูแขก ฯลฯ ในขณะเดียวกัน เทือกเขาคิวชูที่พาดผ่านฝั่งตะวันตกก็ทำให้เกิดภูมิประเทศแบบลาดชัน ซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยวัตถุดิบที่พบได้ในแถบภูเขา เช่น พืชป่าและหมูป่า และยังคงรักษาวัฒนธรรมอาหารที่ผูกพันกับความเชื่อโบราณของชาวญี่ปุ่น อาทิเช่น เรื่องเล่าของหลานเทพีสุริยะที่ลงมาจุติบนโลกมนุษย์ นอกจากนี้ เพราะเป็นหนึ่งในพื้นที่ฝนตกชุกมากที่สุดในญี่ปุ่น ความร้อน ความชื้น และความอุดมสมบูรณ์ของแสงแดดในพื้นนี้จึงช่วยส่งเสริมการปลูกต้นสนโอบิซีดาร์ที่เป็นไม้เด็ดประจำท้องถิ่น
แม้จะดูเป็นดินแดนอุดมสมบูรณ์ แต่จังหวัดมิยาซากิก็ประสบภัยพิบัติรุนแรงจากไต้ฝุ่น จนได้รับฉายาว่า "ตรอกไต้ฝุ่น" และก่อให้เกิดแผ่นดินถล่มเป็นประจำทุกปี ทำให้พืชผลเสียหายหนักโดยเฉพาะในช่วงราวๆ ปี 1960 ด้วยเหตุนี้ ชาวไร่ชาวนาจึงพยายามสร้างสรรค์วิธีการเพาะปลูกโดยเน้นในการใช้เตรียมรับมือภัยพิบัติ เช่น คิดค้นพันธุ์ข้าวที่เก็บเกี่ยวได้ก่อนถึงฤดูไต้ฝุ่น การเพาะปลูกในเรือนกระจก และเทคนิคการทำปศุสัตว์ในร่ม ไม่เพียงเท่านั้น ปัจจุบันที่นี่ยังเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีการเลี้ยงโค ไก่ และหมูมากที่สุดในประเทศญี่ปุ่น
< พื้นที่ตอนเหนือ >
อาหารเทศกาลที่ก่อกำเนิดจากภูเขาศักดิ์สิทธิ์
พื้นที่ทาคาชิโฮะโกะ (Takachihogo) ตั้งอยู่ตรงรอยต่อระหว่างจังหวัดคุมาโมโตะ (Kumamoto) กับจังหวัดโออิตะ (Oita) และเป็นต้นกำเนิดของตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับหลานชายของเทพีสุริยะอามาเทราสึ โอมิกะมิ (Amaterasu Omikami) นามว่านินิงิ-โนะ-มิโกโตะ (Ninigi-no-Mikoto) ที่จุติจากสวรรค์ลงมาปกครองโลกมนุษย์ ที่นี่มีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มากมายที่โอบล้อมไปด้วยธรรมชาติอันสวยงาม รวมถึงช่องเขาทาคาชิโฮะ (Takachiho Gorge) ซึ่งเป็นอนุสรณ์สถานธรรมชาติที่เกิดจากลาวาของภูเขาไฟอาโสะ (Mt. Aso) และยังมีศาลเจ้าอามาโนะอิวาโตะ (Amanoiwato Shrine) ที่สร้างขึ้นเพื่อบูชาถ้ำ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสถานที่ที่เทพอามาเทราสึใช้หลบซ่อนตัว วิถีชีวิตของผู้คนที่นี่จึงสัมพันธ์ลึกซึ้งกับวัฒนธรรมความเชื่อความศรัทธาที่มีต่อปวงเทพ
ประเพณีหนึ่งซึ่งมีที่มาจากวัฒนธรรมนี้คือพิธีโยคากุระ (Yokagura) ซึ่งเป็นพิธีบวงสรวงที่จัดขึ้นตั้งแต่พฤศจิกายน-กลางกุมภาพันธ์ตามปฏิทินสุริยจันทรคติดั้งเดิมของญี่ปุ่น โดยจะมีการคัดเลือกบ้าน 1 หลังจากแต่ละชุมชนมาใช้เป็นสถานที่จัดแสดงดนตรีและระบำพื้นบ้านแบบชินโตหรือที่เรียกว่าคากุระ (Kagura) และจะจัดแสดงตลอดทั้งคืนเพื่อบวงสรวงขอพรให้พืชผลอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านที่นี่ให้ความสำคัญกับพิธีกรรมนี้มาก บางครั้งบ้านที่ได้รับเลือกถึงขนาดปรับปรุงบ้านเพื่อให้เหมาะแก่การใช้จัดงานในวันนั้นเลยทีเดียว ในช่วงเทศกาลโยคากุระนี้ จะมีเมนูอาหารตุ๋นที่เรียกว่านิชิเมะ (Nishime) แจกจ่ายให้แก่ผู้ที่มาเยือนบ้านซึ่งใช้จัดพิธีคากุระด้วย เมนูนี้ประกอบไปด้วยผักตามฤดูกาล เห็ดชิตาเกะแห้งที่ปลูกในท้องถิ่น และหัวไชเท้าญี่ปุ่นตากแห้ง โดยนิยมเสิร์ฟเป็นมื้อเย็นในวันขึ้นปีใหม่ รวมถึงในมื้ออาหารปกติทั่วไป
หมู่บ้านชิอิบะ (Shiiba) ในช่วงเทศกาลคากุระหรือวันฉลองสำคัญๆ ของครอบครัว จะมีธรรมเนียมการกินนาโดฟุ (Nadofu) หรือเต้าหู้หลากหลายแบบที่ทำโดยผสมกับผักตามฤดูกาลและเห็ดชิตาเกะ นอกจากนี้ ในวันขึ้นปีใหม่จะมีการทำนาโดฟุเสียบไม้ติดไว้ที่กำแพงเพื่อเป็นเครื่องรางขอพรให้มีสุขภาพดี คุณเคซูเกะ คาวาโนะ (Keisuke Kawano) ซึ่งเป็นชาวชิอิบะแต่กำเนิดและเปิดร้านอาหารอยู่ในเมืองนี้ กล่าวว่า "นาโดฟุเป็นอาหารที่นำพาวันอันสดใส ผมได้ยินมาว่า ชาวบ้านเริ่มใส่ผักทดแทนเต้าหู้บางส่วนในช่วงยุคที่ถั่วเหลืองราคาแพง" เราจึงได้นาโดฟุที่หน้าตาน่าทาน รสชาติถูกปาก และยังสามารถปรุงรสเพิ่มด้วยซอสถั่วเหลืองอ่อนๆ หรือเต้าเจี้ยวบดผสมส้มยูซุ
นอกจากนี้ พื้นที่ทาคาชิโฮโกะและชิอิบะยามะ (Takachihogo and Shiibayama) ยังได้รับยกย่องให้เป็นแหล่งมรดกโลกทางการเกษตร (GIAHS) จากวิธีการเผาลานแบบดั้งเดิมที่หมู่บ้านชิอิบะปฏิบัติสืบต่อกันมานับพันๆ ปี โดยการจุดไฟริมเขาพร้อมกับทำพิธีบวงสรวงเทพเจ้าแห่งขุนเขา ในแต่ละปี ชาวบ้านจะเลือกเผาในจุดที่ต่างกันไป และใช้พื้นที่นี้ปลูกพืชพรรณธัญญาหารเป็นเวลา 4 ปี ก่อนจะไถคราดทิ้งไว้ 20-30 ปีเพื่อให้ป่าไม้แห่งใหม่ได้เจริญงอกงาม ว่ากันว่าในปัจจุบัน ที่นี่เป็นที่เดียวในญี่ปุ่นที่ยังคงรักษาธรรมเนียมปฏิบัติอันทรงคุณค่านี้ไว้ รูปแบบการเพาะปลูกอย่างเป็นวัฏจักรที่สืบทอดมาแต่โบราณทำให้มนุษย์กับธรรมชาติอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล
เมืองโนเบโอกะ (Nobeoka City) มีทะเลอยู่ทางฝั่งตะวันออก และเคยเป็นชุมชนรอบปราสาทที่เจริญรุ่งเรืองของเหล่าตระกูลนาอิโตะ (Naito) ทั้งยังตั้งอยู่ในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำ 4 สาย เช่น แม่น้ำโกคาเสะ (Gokase River) ที่ไหลผ่านทิศตะวันออก ด้วยเหตุนี้ ที่นี่จึงมีแหล่งทำการประมงทั้งในแม่น้ำและทะเล โดยมีปลาอายุ (Sweetfish) เป็นปลาที่ขึ้นชื่อเป็นพิเศษ ตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม-ธันวาคมของทุกปี จะมีการวางทำนบจับปลาอายุที่แม่น้ำโกคาเสะ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้อิ่มอร่อยกับเมนูที่ทำจากปลาอายุจับสดๆ นอกจากนี้ เมืองโนเบโอกะยังเป็นต้นกำเนิดของเมนูไก่ทอดนัมบัง (Chicken Nanban) ที่ได้รับฉายาว่าโซลฟู้ดประจำจังหวัดมิยาซากิ และยังเป็นที่ชื่นชอบของคนทั้งจังหวัด เมนูนี้คิดค้นขึ้นโดยเชฟ 2 คนที่ทำงานอยู่ในร้านอาหารตะวันตกชื่อดังของเมือง โดยเดิมทีมีไว้เป็นเมนูสำหรับพนักงานในร้าน แต่ปัจจุบันยังเป็นเมนูที่นิยมทำกันในครัวเรือนอีกด้วย ร้านอาหารบางแห่งใช้เนื้อส่วนสะโพกทำเมนูนี้ แต่สูตรดั้งเดิมจะใช้เนื้ออกไก่ เพราะเป็นสูตรที่คิดค้นขึ้นเพื่อเพิ่มรสชาติให้กับเนื้อส่วนอกที่มีไขมันน้อย ซึ่งปกติแล้วจะแห้งไร้รสชาติ คุณมัทสึดะกล่าวว่านอกจากไก่ทอดนัมบังแล้ว ยังมีเมนูไก่อื่นๆ อีกมากมายที่ถูกอกถูกใจชาวมิยาซากิ "สมัยก่อน ชาวไร่หลายคนจะเลี้ยงไก่ไว้ที่บ้านและเชือดมาทำอาหารในวันรวมกลุ่มสังสรรค์ เมนูคู่ขวัญของเราคือโชจู (Shochu) กับเนื้อไก่ที่ย่างบนถ่านฟืนจนเนื้อเกือบดำ โดยการนำกลองมาผ่าครึ่งแล้วปิดด้วยตาข่าย"
< พื้นที่ตอนกลาง >
ซุปเติมความสดชื่นในแถบที่ราบร้อนระอุ
ตอนกลางของจังหวัดครอบคลุมพื้นที่เมืองเอกของมิยาซากิ และเป็นจุดที่มีประชากรหนาแน่นที่สุด โดยกินพื้นที่ทั้งเขตที่ราบมิยาซากิ เทือกเขาเมระ (ตั้งอยู่ในเขตคิวชู) และเมืองอายะที่ทำการเกษตรตามระบบนิเวศธรรมชาติ พื้นที่แถบนี้มีระบบการขนส่งสะดวกสบายที่สุดในจังหวัด มีสนามกอล์ฟ จุดเล่นเซิร์ฟ รวมไปถึงเกาะอาโอชิมะชื่อดัง (Aoshima) ที่รายล้อมไปด้วยโขดหินซึ่งได้รับฉายาว่า "กระดานซักผ้าปีศาจ" (The Devil’s Washboard) เพราะถูกกัดเซาะจนมีรูปร่างหน้าตาพิศวง
เนื่องจากเขตที่ราบมิยาซากิมีแดดและความชื้นสูงเป็นพิเศษในช่วงหน้าร้อน จึงเกิดเมนูซุปเย็นยอดฮิตที่ช่วยเติมความสดชื่นได้แม้ในยามไร้ชีวิตชีวาถึงขีดสุด ว่ากันว่าเดิมทีแล้ว เมนูนี้เป็นซุปที่ใช้เทราดข้าว โดยมีพระนักบวชในยุคคามากูระ (Kamakura Period) เป็นผู้นำมาเผยแพร่ไปทั่วเมือง สมัยก่อน ชาวไร่จะนำข้าวบาร์เลย์ที่เหลือจากเมื่อวานมาแช่น้ำและราดเต้าเจี้ยวบดกินกันในช่วงพักจากงานไร่ ตัวน้ำซุปทำจากปลาซาร์ดีนตากแห้งบดผสมกับเต้าเจี้ยวบด แล้วเทน้ำสต็อคดาชิลงไป โดยอาจใส่ส่วนผสมเพิ่ม เช่น ใบงา แตงกวา หรือเต้าหู้ จากนั้นจึงเสิร์ฟคู่กับข้าวบาร์เลย์เย็นๆ ซุปเย็นๆ รสชาติเข้มข้นช่วยลดอุณหภูมิร้อนฉ่าในร่างกาย จึงกลายเป็นเมนูที่นิยมทำกินในครัวเรือนในพื้นที่ตอนกลางของจังหวัดนี้
เมื่อฤดูหนาวมาเยือน ในวันอากาศดีที่มีลมหนาวพัดผ่านมาจากแถบภูเขา ชาวเมืองมิยาซากิซิตี้และคุนิโตมิ (Miyazaki City and Kunitomi) จะทำหัวไชเท้าหั่นเส้นตากแห้ง ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่นิยมทำกันที่นี่มากกว่าที่ไหนๆ ในญี่ปุ่น เส้นหัวไชเท้าที่เรียงตากแห้งบนโครงไม้ระแนงจึงเป็นภาพที่พบเห็นได้ทั่วไปในหน้าหนาว ย่านทาโนะ (Tano) ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในเมืองมิยาซากิซิตี้ มีของขึ้นชื่อเป็นยากุระ (Yagura) หรือโครงไม้ไผ่รูปทรงคล้ายหลังคาที่ใช้ตากหัวไชเท้า ซึ่งสามารถตากหัวไชเท้าทั้งหัวได้ทีละปริมาณมากๆ ยากุระสำหรับตากหัวไชเท้าได้รับรางวัลการออกแบบดีเด่นและได้รับเลือกให้เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ควรรักษาไว้ให้ชนรุ่นหลัง คุณมัทสึดะกล่าวว่า "ยากุระสำหรับตากหัวไชเท้ามีความสูงประมาณ 6 เมตร และจะดูสวยงามมากเมื่อเราตากหัวไชเท้าจนเต็มตลอดแนว ส่วนหัวไชเท้าหั่นเส้น เราสามารถนำไปดองรวมกับหมึกบินญี่ปุ่นเพื่อทำเมนูมาดากะซุเกะ (Madakazuke) หรือจะใส่ผสมในนิชิเมะ (Nishime) ก็ได้ ทั้ง 2 อย่างนี้เป็นเมนูคู่มื้อเย็นของเราเลยก็ว่าได้ครับ" เพราะถูกรีดน้ำออกในปริมาณพอเหมาะพอดีด้วยวิธีแบบธรรมชาติ เส้นหัวไชเท้าตากแห้งจึงเป็นของเด็ดที่ให้รสหวานเข้มข้นและกลมกล่อมกำลังดี
< พื้นที่ฝั่งตะวันตก >
วัฒนธรรมการกินมันหวานที่หยั่งรากในดินแดนหลังเทือกเขาคิริชิมะ
นที่ฝั่งตะวันตกของจังหวัดอุดมสมบูรณ์ไปด้วยธรรมชาติ และมีการเลี้ยงปศุสัตว์และปลูกข้าวอย่างเฟื่องฟู ที่นี่เป็นที่ตั้งของ "เทือกเขาคิริชิมะ" (Kirishima) หรือกลุ่มภูเขาไฟที่ตั้งอยู่รวมกันมากกว่า 20 เขา มีเขตน้ำตกเซกิโนโอะ (Sekinoo Falls) ซึ่งกินพื้นที่ทั้งแม่น้ำโอโยโดะและแม่น้ำโชไน (Oyodo and Shonai Rivers) น้ำตกแห่งนี้มีความงดงามที่หาได้ยากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก เพราะมีกลุ่มโพรงเล็กๆ ตามร่องหินของสายน้ำที่ยาวกว่า 600 เมตร และกว้างสูงสุด 80 เมตร จึงเป็นสถานที่เที่ยวอันสวยงามที่ได้รับยกย่องให้เป็นอนุสรณ์สถานทางธรรมชาติของประเทศ และยังเป็น 1 ใน 100 สุดยอดน้ำตกของญี่ปุ่นอีกด้วย
เพราะฝั่งตะวันตกของจังหวัดเคยเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นซัตสึมะ (Satsuma) ภาษาถิ่นและวัฒนธรรมอาหารของที่นี่จึงมีความคล้ายกับจังหวัดคาโกชิมะ (Kagoshima) ในหลายๆ แง่ อาทิเช่นวัฒนธรรมการกินมันหวานที่มีมายาวนาน ชาวบ้านที่นี่เรียกมันหวานว่าคาราอิโมะ (Karaimo) ไม่ใช่ซัสสึมะอิโมะ (Satsumaimo) อย่างที่เรามักได้ยินทั่วไป ดินภูเขาไฟที่พบเฉพาะในพื้นที่นี้ หรือที่ในทางธรณีวิทยาเรียกว่าชิราสุ-ไดจิ (Shirasu-Daichi) เป็นดินที่ช่วยหล่อเลี้ยงให้มันหวานมีรสชาติอร่อยเป็นพิเศษ ชาวบ้านจะนำมันหวานไปหั่นชุบแป้งทอดทำเป็นกาเนะ (Gane) ซึ่งเป็นอาหารท้องถิ่นที่พบได้ทั่วไปในจังหวัดคุมาโมโตะและคาโกชิมะ ในภาษาถิ่นของจังหวัดคาโกชิมะ ชื่อเมนูนี้หมายถึงหน้าตาของมันหวานที่มีรูปร่างคล้ายปูขณะที่นำไปทอด แต่ที่จังหวัดมิยาซากิ จะเติมน้ำตาลลงในแป้งเพื่อให้รสชาติหวานยิ่งขึ้น
กเมนูที่ทำจากมันหวานก็คือเนริคุริ (Nerikuri) ซึ่งมีชื่อเรียกต่างกันไปตามท้องถิ่น โดยบางที่เรียกว่าเนตตาโบะ (Nettabo) บางที่ก็เรียกว่าโมจิมันหวาน ขนมชนิดนี้ทำมาจากการนำมันหวานไปบี้ผสมกับโมจิ แล้วโรยด้วยผงถั่วเหลืองคั่วบด คุณมัทสึดะกล่าวว่า "ที่บ้านของผมจะเอาโมจิเก่าๆ ไปนึ่งในหม้อหุงข้าว ก่อนจะใส่มันหวานลงไปบี้ผสม แล้วตักขึ้นด้วยทัพพี เราไม่ได้ปั้นเป็นลูกกลมๆ แต่ตักกินง่ายๆ แบบนั้นเลยละครับ" ขนมนี้ยังมีขายในห้างสรรพสินค้าและเป็นของโปรดของคนในพื้นที่อีกด้วย
< พื้นที่ตอนใต้ >
"โอบิเต็นสูตรหวาน" วิธีง่ายๆ ในการเพิ่มรสชาติให้กับปลาราคาไม่แพง
พื้นที่ตอนใต้ของจังหวัดประกอบด้วยเมืองนิชินันและเมืองคุชิมะ (Nichinan and Kushima) ซึ่งเป็น 2 เมืองที่ตั้งอยู่ใต้สุดเขตแดน ที่นี่มีสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้น โดยได้รับอิทธิพลจากกระแสน้ำคุโรชิโอะ (Kuroshio) ที่ไหลวนอยู่ในทะเลฮิวกะ (Hyuga Sea) พื้นที่แถบชายฝั่งเป็นจุดที่ร้อนมากเป็นพิเศษและมีฉายาว่าเขตเข็มขัดไร้น้ำค้างแข็ง แต่สภาพภูมิอากาศร้อนของที่นี่ก็ทำให้ไม้ผลเติบโตได้ดี อาทิ ส้มและมะม่วง รวมไปถึงสวีทพีและต้นสนโอบิซีดาร์ที่มีเนื้อไม้ดัดง่ายเหมาะแก่การนำไปแปรรูป นอกจากนี้ ที่นี่ยังมีการปลูกสวีทพีมากเป็นอันดับ 1 ของญี่ปุ่นอีกด้วย (เอกสาร "สถิติรายได้ภาคการผลิตทางการเกษตร", "แบบสำรวจการปลูกไม้ดอก" โดยกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง ปี 2018) และเพราะติดกับทะเล จึงอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแหล่งตกปลาโอแถบ และยังมีปลาทูน่าจากแหล่งประมงน้ำลึกขึ้นชื่อ ในเขตมิยาอุระของเมืองนิชินัน (Miyaura of Nichinan City) มีจุดชมวิวเด่นๆ อยู่หลายแห่ง เช่น สวนซันเมสเสนิจินัน (Sun Messe Nichinan) ซึ่งมีรูปปั้นโมอายที่สร้างขึ้นใหม่โดยได้รับอนุญาตจากเกาะอีสเตอร์อย่างถูกต้อง และตั้งตระหง่านโดยมีฉากหลังสวยๆ เป็นทะเลฮิวกะ
ใจกลางเมืองนิชินันคือย่านโอบิ (Obi) ซึ่งเคยเป็นชุมชนรอบปราสาทที่เฟื่องฟูภายใต้การปกครองของตระกูลอิโตะ โอบิ (Ito Obi) ในยุคเอโดะ กำแพงหินและสิ่งก่อสร้างโบราณต่างๆ ยังคงมีหลงเหลือในย่านนี้ ที่นี่จึงได้รับยกย่องให้เป็นเขตอนุรักษ์สิ่งปลูกสร้างดั้งเดิมที่สำคัญของชาติ สินค้าทางทะเลซึ่งนำขึ้นที่ท่าเรืออาบุรัทสึ (Aburatsu Port) จะถูกจัดจำหน่ายภายในเมืองโอบิ แต่คนทั่วไปมักมีกำลังซื้อได้เฉพาะปลาราคาไม่แพง เช่น ปลาพิลชาร์ด ปลาทูแขก ปลาอีโต้มอญ และปลานกกระจอก เมนูโอบิเต็น (Obiten) จึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อเป็นการเพิ่มรสชาติให้กับปลาชนิดต่างๆ เหล่านี้ โดยการผสมเนื้อปลาบดกับเต้าหู้ น้ำตาลทรายแดง และเต้าเจี้ยวบด แล้วนำไปทอด แม้จะมีหน้าต่างคล้ายกับทอดมันปลาซัทสึมะอาเกะ (Satsuma-age) ที่ขึ้นชื่อในเมืองคาโกชิมะ แต่โอบิเต็นของที่นี่จะมีรสหวานกว่า และยังว่ากันว่า ซอสถั่วเหลืองที่หมักในพื้นที่ตอนใต้ก็มีรสหวานกว่าที่ไหนๆ ในมิยาซากิด้วยเช่นกัน
ในเขตภูเขาของคิตะโกะ (Kitago) มีการจับปูขนญี่ปุ่นหรือที่มีชื่อเล่นว่า "ยามาโตโระ" (Yamataro) จากแม่น้ำในพื้นที่มาใช้กินเป็นแหล่งโปรตีนและแคลเซียมคุณค่าสูงแทนอาหารทะเล ปูกระดองใหญ่เนื้อหอมหวานเหล่านี้ เป็นปูที่จับได้จากเขตธารน้ำใสในแม่น้ำฮิโรเสะ (Hirose River) ในช่วงกลางเดือนกันยายน-ปลายตุลาคม ซุปคานิมากิ (Kanimaki) สูตรดั้งเดิมของเมืองคิตะโกะเป็นซุปมิโสะรสเข้มข้นที่ทำจากเนื้อปูยามาโตโระผสมกับเต้าเจี้ยวบด แล้วนำไปกรองในกระชอนเพื่อให้ได้เนื้อละเอียด จนกลายเป็นเมนูพิเศษช่วงฤดูใบไม้ร่วงประจำพื้นที่นี้
คุณมัทสึดะกล่าวด้วยความรักในชุมชนท้องถิ่นว่า "จุดแข็งของจังหวัดมิยาซากิ คือเราสามารถใช้ประโยชน์จากสภาพภูมิอากาศร้อน ทำให้ปลูกพืชผลนานาชนิดได้ตลอดทั้งปีแม้กระทั่งในฤดูหนาว เราอาจไม่มีลักษณะเด่นที่บ่งบอกได้ว่า 'ต้องใช่มิยาซากิแน่ๆ' แต่ผมคิดว่าความเป็นมิตรและนิสัยสบายๆ ของคนที่นี่เป็นสิ่งที่น่าหลงใหลอย่างมาก" อาหารของจังหวัดมิยาซากิอุดมไปด้วยพลังจากดวงอาทิตย์ และจะช่วยเติมพลังงานเปี่ยมล้นให้แก่ทุกคนที่ได้ทาน